พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯทหาร 8 ปี อยู่ยาวทาบรัศมี จอมพล ป.- ถนอม

รอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหัวโขน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สถาปนาอำนาจนายกรัฐมนตรี 24 สิงหาคม 2557 จากการรัฐประหาร อยู่ยาวจนถึง 9 มิถุนายน 2562 รวม 4 ปี 10 เดือน คือวันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯสมัยที่ 2 กระทั่งจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 รวม 8 ปี

ก่อนเส้นทางอำนาจสะดุดชั่วคราวจากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากปมดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

หากนับระยะเวลานายกฯที่เป็นทหาร และมาจากการ “รัฐประหาร” บนเส้นทางสายประชาธิปไตย 90 ปี มีเพียงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และรัฐบาลจอมพลถนอม ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า พล.อ.ประยุทธ์

จอมพล ป.ที่ขึ้นเป็นนายกฯ หลังจากการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 แทน “ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกเชิญมาเป็นนายกฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ชนะในการเลือกตั้ง 29 มกราคม 2491 แต่ “ควง” อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 150 วัน

ก็เกิดเหตุการณ์ที่คณะรัฐประหารขอให้ลงจากตำแหน่ง แล้วตั้งจอมพล ป.เป็นนายกฯ 8 เมษายน 2491 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งได้เป็นนายกฯยาวนานที่สุด 9 ปี 5 เดือน (นับเฉพาะสมัยที่ 2 ซึ่งคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งให้เป็นนายกฯ)

ในสมัยที่ 2 ของจอมพล ป. มีการเลือกตั้งทั่วไป คั่นด้วยการรัฐประหารตัวเองอีก 1 ครั้ง กล่าวคือ มีการเลือกตั้ง 25 มิถุนายน 2492 จอมพล ป.ก็ได้รับการเลือกโดยมติสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้น จอมพล ป.ก็พ้นเก้าอี้นายกฯ (ชั่วคราว) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยจอมพล ป.ร่วมกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2490 คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างเหตุว่ามีอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่เป็นจำนวนมาก และต้องการแก้ปัญหาทุจริต จึงต้องรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง นำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาแก้ไขเพิ่มเติมแล้วบังคับใช้ใหม่

แต่เป็นที่รับรู้ว่าจอมพล ป.ยึดอำนาจตัวเองเพราะพยายามขจัดอำนาจคณะผู้สำเร็จราชการที่ใช้กลไกรัฐธรรมนูญ 2490 มาควบคุมรัฐบาล และจอมพล ป.ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯในวันเดียวกันโดยมติคณะรัฐประหาร

จากนั้น หลังมีการเลือกตั้งอีกครั้ง อีก 2 หน จอมพล ป.ก็ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ จนกระทั่งต้องพ้นจากตำแหน่งวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยรัฐประหาร ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งที่เคยเป็นลูกน้องของจอมพล ป. หลังการรัฐประหาร 2500 ที่ปิดฉากอำนาจของคณะราษฎรโดยสิ้นเชิง เข้าสู่ช่วงสฤษดิ์-ถนอม กินเวลา 16 ปี

แต่ถ้าแบ่งยุคออกเป็นยุคจอมพลสฤษดิ์ เขาครองอำนาจได้แค่ 4 ปี 10 เดือน โดย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” หลังจากกลับมาจากการรักษาตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ขึ้นนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการรัฐประหารรัฐบาลจอมพลถนอมโดยละม่อม ซึ่งเป็นลูกน้องของตนเอง เสมือนเป็นการ “ขอเก้าอี้คืน”

ทว่า ครม.ของจอมพลสฤษดิ์ อยู่ได้ 4 ปี 10 เดือน ก็ต้องสิ้นสุด เพราะ “จอมพลสฤษดิ์” ถึงแก่อสัญกรรม ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ทิ้งภาพจำของจอมพลผ้าขาวม้าแดงไว้เป็นตำนาน

“จอมพลถนอม กิตติขจร” ที่สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อ 9 ธันวาคม 2506 กระทั่งตัดสินใจคืนอำนาจประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้ง ในปี 2512 จอมพลถนอมก็รัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 และใช้อำนาจของหัวหน้าคณะปฏิวัติยาวนานถึง 13 เดือน ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว และตั้งตัวเองเป็นนายกฯอีกครั้ง ในวันที่ 18 ธันวาคม 2515 จวบจนลาออกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

จอมพลถนอม ลากยาวในตำแหน่งนายกฯ 9 ปี 10 เดือน ตั้งแต่รับไม้ต่อจากจอมพลสฤษดิ์ เมื่อปี 2506

แต่ถ้านับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯครั้งแรก หลังการเลือกตั้งทั่วไป 15 ธันวาคม 2500 ซึ่งจอมพลถนอมได้รับการผลักดันจากจอมพลสฤษดิ์ ในนามหัวหน้าพรรคชาติสังคม ให้เป็นนายกฯ โดย ตั้งแต่ 1 มกราคม-20 ตุลาคม 2501 เท่ากับเป็นนายกฯ นานถึง 10 ปี

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกฯ หลังจากทำการรัฐประหาร-ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 หลังจากนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เป็นเอกฉันท์เลือก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย ด้วย 191 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน

และหลังจากเลือกตั้ง 2562 พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 เป็นนายกฯถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหาร ยังเป็นรองจอมพล ป. และจอมพลถนอม ที่ครองอำนาจยาวนานเป็นทศวรรษ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ต้องจอดป้ายเพียงแค่ 24 สิงหาคม 2565

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ โดยครบ 8 ปี เมื่อ 6 เมษายน 2568 หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเสียงโหวตในรัฐสภา ให้กลับมาเป็นนายกฯอีกสมัย ก็จะเป็นนายกฯประมาณ 10 ปี 7 เดือน

หรือถ้าตีความให้นับวาระ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ถึงปี 2570 ตามการนับตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ นายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิถุนายน 2562 จะเท่ากับเป็นนายกฯ 12 ปี 9 เดือน

แซงหน้านายกฯรัฐประหารทุกคน