ประวัติ พล.ต.วิระ โรจนวาศ ทนายหน้าหอประยุทธ์ หัวหน้าทีมคดีนายกฯ 8 ปี

พล.ต.วิระ โรจนวาศ
พล.ต.วิระ โรจนวาศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เก็บเนื้อ เก็บตัว โผล่แต่หน้าผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่ได้ยินเสียง ไม่มีบทพูด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สวมหัวโขน รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่”

พร้อมให้ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาฝ่ายค้าน ภายใน 15 วัน นับจนถึงวันนี้ เหลืออีกแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่ตามกติกา พล.อ.ประยุทธ์ สามารถขอ “ต่อเวลา” ได้อีก 15 วัน

หัวหน้าทีมกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ ในการสู้ปมคำร้องฝ่ายค้าน คือ “พล.ต.วิระ โรจนวาศ” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี คือ ชื่อ-ยศตำแหน่งในปัจจุบัน

“พล.ต.วิระ” อาจไม่คุ้นหูคอการเมือง แต่เขาได้รับตำแหน่งสำคัญ ๆ และเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดสำคัญ ๆ หลายคณะ ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557

ในเส้นทางการทหาร พล.ต.วิระ เป็นนายทหารสายกฎหมาย เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบก ดำรงตำแหน่ง วันที่ 31 พฤษภาคม-27 ธันวาคม 2553 ขณะนั้น ติดยศ “พันเอก”

หลังรัฐประหารโดย คสช. 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ใช้สำนักพระธรรมนูญทหารบก เป็นหน่วยงานที่เขียนคำสั่งเรียกบุคคลไปรายงานตัว รวมถึงประกาศสำคัญต่าง ๆ ของ คสช. จึงปรากฏข่าวว่า “พล.ต.วิระ” เป็นหนึ่งในทีมที่เขียนคำสั่ง คสช.

เป็นผู้ที่เข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หลังการยึดอำนาจร่วมทีมกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดย “มีชัย” เล่าไว้ในวันที่ 7 กันยายน 2561 ในงานเลี้ยง กรธ. ขอบคุณสื่อมวลชน ที่โรงแรมรอยัลปริ้นเซส หลานหลวง ว่า ถึงฉากที่ พล.ต.วิระเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไว้ว่า

“การปฏิวัติรอบล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ผมก็ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์หน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเขาส่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำ โดยตั้งเป็นคณะพิเศษขึ้น 1 ชุด และหัวหน้าคณะปฏิวัติก็ส่ง พล.ต.วิระ เข้าไปนั่งฟังด้วย ซึ่งเมื่อฟังไปฟังมาแทนที่ผมจะกลัว พล.ต.วิระ กลับกลายว่า พล.ต.วิระ กลัวผม ก็เลยไม่มีปัญหาอะไร”

สำหรับตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ พล.ต.วิระ ได้รับให้ปฏิบัติหน้าที่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 121/2557 ร่วมกับบุคคลสำคัญดังต่อไปนี้

นายพรเพชร วิชิตชลชัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา, อดีตประธานศาลอุทธรณ์ นายวิเชียร ชุบไธสง อุปนายกสภาทนายความ นายสมชัย วัฒนการุณ อดีตอัยการ ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจเอก สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ยศ-ตำแหน่งบุคคล เป็นตำแหน่งในขณะนั้น)

ครั้นถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พล.ต.วิระ ก็เข้าไปเป็น 1 ใน 21 อรหันต์ กรธ. ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ 2560

รวมถึงเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีหัวใจสำคัญอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ เป็นผลให้หลายคดีของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ก่อนหน้านี้ถูกจำหน่ายคดี สามารถเดินหน้าต่อไปได้

21 ตุลาคม 2559 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในปีงบประมาณ 2560

25 ตุลาคม 2560 ได้รับแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ประจำ คสช. ตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2560

หลังการเลือกตั้ง 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 “พล.ต.วิระ” ก็สไลด์ตัวเองจากภาระหน้าที่ในรัฐสภา เข้าสู่วังวนทำเนียบรัฐบาล 15 กันยายน 2563 ก็มีคำสั่งให้ พล.ต.วิระ ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมสู้คดีให้ พล.อ.ประยุทธ์มาแล้วหลายยก

เช่น เป็นตัวแทนเข้าฟังการอ่านคำวินิจฉัยแทน พล.อ.ประยุทธ์ ในคดีบ้านพักหลวง

ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าทีมดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ให้ พล.อ.ประยุทธ์

“เราชี้แจงตามข้อกฎหมาย อะไรควรจะเป็นตรงไหน เวลาอะไร เท่านั้น คงไม่มีอะไรน่ากังวล เนื้อหาที่ส่งไปมีครบทุกประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา และข้อกฎหมายเป็นอย่างไร”

“เราตอบทุกคำถามที่คำร้องถามมา และเรามีข้อกฎหมายที่สนับสนุนไม่สนับสนุนอะไร ตีความตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญกำหนด และที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร และให้ศาลใช้ดุลพินิจอีกครั้งหนึ่ง เพราะศาลคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายมารวมกัน และความเห็นควรจะเป็นอย่างไร ท่านมี 9 คน ก็คงพิจารณารอบคอบและเป็นดุลพินิจของศาล” พล.ต.วิระตอบคำถาม ถึงแนวทางสู้คดี