8 ปีที่สุกงอม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ลุงหงุดหงิดง่ายได้พักงานไปแล้ว ส่วนลุงข้าง ๆ ที่ชอบพูด ม่ายรุ ๆ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน เป็นไฮไลต์เหตุการณ์บ้านเมืองประจำสัปดาห์นี้

เหตุการณ์นี้คงเกิดไม่ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนไว้ และรัฐธรรมนูญปี 2560 คงเขียนไว้ไม่ได้ ถ้าไม่มีการรัฐประหาร 2557

ส่วนรัฐประหาร 2557 จะมีต้นเหตุแห่งทุกข์อย่างไร มุมมองสองฝ่ายใหญ่ ๆ คงมาบรรจบกันไม่ได้แม้เวลาจะผ่านมา 8 ปีแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับการวัดว่า 8 ปีมานี้เป็นช่วงเวลาที่สุกงอมหรือยัง

สุกงอมในที่นี้คือ ถึงเวลาที่ควรต้องเปลี่ยนแปลงผู้นำแล้วหรือไม่ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขยากที่ใช้กันอยู่นี้กำหนดว่า คนเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่ง 8 ปีก็พอแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกสำหรับประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

ถ้าเป็นประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี ส่วนใหญ่ลิมิตไว้ที่ 8 ปี เช่น ต้นแบบของสหรัฐอเมริกา

อย่าง บารัก โอบามา เป็นครบสองสมัย 8 ปี ตอนอายุยังไม่ถึง 60 ปีด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องไปตามกติกา จนอเมริกาหาผู้นำนิวเจนไม่ทัน หันไปพึ่งรุ่นปู่ต่อเนื่องถึงสองคน ทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน

ส่วนระบบรัฐสภานั้น ส่วนใหญ่ก็คือท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่พรรคของท่านชนะการเลือกตั้ง หรือหาพรรคแนวร่วมอื่น ๆ ที่รวมเสียงเพียงพอจะโหวตผ่านในสภา

อย่างกรณี แองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี เป็นนายกฯ นาน 16 ปี หรือ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ของอังกฤษ อยู่ยาว 11 ปี ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็สานต่อวาระไปตามเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

ย้อนกลับมาที่ไทยแลนด์โอนลี่ ? ความต่อเนื่องในตำแหน่งของลุงตู่และลุงป้อมไปคาบเกี่ยวกับช่วงเวลายึดอำนาจ บวกกับการคิดค้นพิสดารของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้การนับวาระของผู้คนออกมาไม่ตรงกัน

ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ช่วงเวลาจากนี้ไป อะไร ๆ ก็เลยจะไม่ชัดเจน ประชาชนก็ยังจะมองภาพ 8 ปีไม่เหมือนกัน

บางคนมองว่า 8 ปีมานี้กลุ่มลุงได้เข้ามาทำความดีแสนดี ทั้งป้องปรามระบอบทักษิณ และพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต

แต่บางคนมองว่า 8 ปีนี้สุดจะขมขื่นกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และต้องทนกับอะไรที่ไม่ควรทนมากมาย เช่น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง วิธีการคำนวณ ส.ส. รวมถึงการคำนวณวาระนายกฯ ล่าสุดนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีบางคนไม่มองหรือมองข้ามไปเลย อย่างนักธุรกิจที่ต้องเดินแผนการลงทุน

การอยู่ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างนี้ จริง ๆ จะไม่เป็นอะไรมากหากไม่ได้มาจากการผูกขาดอำนาจ เพราะกลไกประชาธิปไตยจะทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ โดยไม่เกิดผลกระทบร้ายแรง

ดูได้จากกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ก่อนและหลังที่จะมีผลออกมาแลนด์สไลด์ ชาวกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เห็นเหมือนกันทั้งหมดว่า ควรจะต้องเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

แต่เมื่อกติกาบอกว่าให้ถือเสียงส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ทุกคนจึงเปิดโอกาสให้ผู้ว่าฯชัชชาติทำงานไป ทำออกมาดีหรือไม่ดี แล้วค่อยตัดสินกันใหม่ใน 4 ปีข้างหน้า

ถ้ารู้สึกว่าสุกงอมแล้วก็พอ ถ้าเห็นว่ายังไปได้ต่อก็เลือกอีก ขึ้นอยู่กับว่าเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร

กรณีปมวาระ 8 ปีของนายกฯลุงตู่เป็นที่กังขา คงไม่มาถึงภาวะที่งง ๆ มึน ๆ ว่าประหนึ่งสุญญากาศหรือไม่

รวมถึงไม่ต้องรู้สึกว่าถูกกดดันให้รอฟังคำวินิจฉัยแบบตอนนี้ หากให้ประชาชนตัดสินผ่านการเลือกตั้งว่า การปกครองของลุง ๆ นี้สุกงอม หรือ “งอมพระราม” แล้วหรือไม่

หากยังยื้อ ๆ แบบนี้ต่อไป น่ากังวลว่า ภาวะที่สุกงอมก็มีโอกาสพัฒนาไปสู่ภาวะเน่าเสีย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะใช้การใด ๆ มิได้แล้ว ทั้งยังอาจเป็นมลพิษอีกด้วย