ศบค.ชุดใหญ่ ถกยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค. โควิดโรคประจำถิ่น

โควิด

ไตรศุลี รองโฆษกรัฐบาล เชิญชวนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วงไฮซีซั่น เผย ศบค.ชุดใหญ่ประเมินสถานการณ์ 23 ก.ย.นี้ ตามแผนยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ 1 ต.ค. 65

วันที่ 20 กันยายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตที่ลดลงและทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะในรอบประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือระหว่างวันที่ 12-20 ก.ย. 65 ส่วนใหญ่ยอดผู้ป่วยใหม่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,000 รายต่อวัน สำหรับผู้ป่วยใหม่ ณ วันที่ 20 ก.ย. 65 อยู่ที่ 774 ราย

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะผ่อนคลายมาตรการทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเปิดประเทศเต็มรูปแบบมาตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนที่เป็นเกราะป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในระยะต่อไปจะยังมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65-31 มี.ค. 66 ศบค.ได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการพำนักชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยให้ผู้ที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศไทย (ฟรี วีซ่า) เดิมที่เคยพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 30 วัน จะขยายเป็นไม่เกิน 45 วัน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ส่วนผู้ที่ได้รับ Visa on Arrival จากเดิมที่พำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 15 วัน จะขยายเป็นไม่เกิน 30 วัน และในวันที่ 23 ก.ย. 65 นี้ ศบค.ชุดใหญ่จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในรวม และพิจารณามาตรการที่เหมาะสมต่อไป

“ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รัฐบาลจึงขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนทั้งให้ครบตามเกณฑ์และวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความเสี่ยงเช่นกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการรับเชื้อ ป่วยหนัก หรือเสียชีวิต” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยการประชุม ศบค.ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ได้มีมติรับทราบกรอบนโยบาย และแนวปฏิบัติในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-pandemic ดังนี้

เดือนตุลาคม

  • ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น)
  • ให้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข หรือ EOC สธ. และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับชาติ/จังหวัด/กทม. เป็นกลไกการบริหารจัดการ
  • ยังไม่มีการกำหนดเรื่องพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน และการขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

  • ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น)
  • คกก.โรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นกลไกการจัดการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง