กกต. แจงละเอียด อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ช่วง 180 วันก่อนเลือกตั้งใหม่

เลือกตั้งใหม่ รับสภาครบวาระ การเลือกตั้ง

เลขาธิการ กกต. ประชุมร่วม กกต.จังหวัด ชี้แจงกฎระเบียบ ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้งใหม่

วันที่ 27 กันยายน 2565 มติชนรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting เพื่อให้ได้รับทราบแนวทางปฏิบัติ และชี้แจงพรรคการเมืองให้เป็นแนวทางเดียวกัน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การหาเสียงช่วง 180 วันก่อนสภาครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566

นายแสวงกล่าวว่า ทาง กกต.จังหวัดจะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างแรกคือ ต้องรู้กฎหมาย ให้คำปรึกษาแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ประสงค์จะสมัคร และพรรคการเมือง รวมทั้งการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าป้ายแบบนี้ถูกหรือไม่ ซึ่งการใช้ดุลพินิจจะต่างกันนั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงแต่ละป้ายคือข้อความในป้ายแตกต่างกัน จึงทำให้วินิจฉัยแตกต่างกันได้ ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักงาน กกต.จึงจำเป็นต้องชี้แจงลงไปในรายละเอียดเพื่อเป็นแนวทางให้ กกต.จังหวัด ได้พิจารณาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (ภาพจาก มติชน)

180 วัน ก่อนเลือกตั้งใหม่ ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ?

พรรคการเมืองและผู้สมัคร

1.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองสามารถไปร่วมงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินต่าง ๆ ยกเว้น กรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงานด้วย เช่น ผ้าบังสุกุลและปัจจัย แต่ไม่ใช่เงินของพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร หรือการระบุชื่อไว้เป็นประธานในงานกฐิน โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่ได้มอบเงิน หรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถกระทำได้ แต่ทั้งนี้ เจ้าภาพจะประกาศชื่อ หมายเลขสมัคร ของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองในลักษณะที่ช่วยหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้

2.ผู้สมัครที่มีความจำเป็นต้องจัดพิธีงานต่าง ๆ ในช่วง 180 วัน สามารถจัดงานได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน แต่ให้หลีกเลี่ยงการจัดงานที่มีลักษณะขนาดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมมาก เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้าน ว่าเป็นการจัดเลี้ยง จัดมหรสพ ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งได้

3.หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง ส.ส.ของพรรคการเมือง สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครในการหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามไม่ให้จัด หรือนำคนไปช่วยหาเสียง โดยได้รับค่าตอบแทน หรือสิ่งตอบแทน เช่น การจ้างให้เข้าร่วมรับฟัง โดยไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง

4.ผู้สมัครและพรรคสามารถเข้าไปหาเสียงในโรงเรียน หรือสถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่ก่อนดำเนินการหาเสียง

5.ผู้สมัครและพรรคการเมืองไม่สามารถมอบของช่วยเหลือแก่ประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การมอบสิ่งของช่วยเหลืออุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโรคระบาด หรือในเหตุที่เกิดขึ้นลักษณะเดียวกัน

6.ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถติดประกาศแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยมีวิธีการ ขนาด จำนวน และสถานที่ติด ตามที่กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สำหรับแผ่นป้ายที่ติดไว้ก่อนแล้วจะต้องมีการแก้ไขให้มีขนาดและติดในสถานที่ตามที่กำหนดไว้

7.ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับอย่างเคร่งครัด

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หมายเหตุ – ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายถึง รัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง

1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งนั้น เช่น การออกรายการวิทยุโทรทัศน์ เป็นประธานเปิดงานในพิธีต่าง ๆ การลงตรวจงานในพื้นที่ การพบปะประชาชนในพื้นที่ หรือการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามไม่ให้มีการกระทำการใด ๆ ที่เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการกระทำการหาเสียงในแก่ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง

2.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถไปร่วมประเพณีต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานศพ วางพวงหรีดดอกไม้ได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินใด ๆ กรณีเจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล หรือระบุชื่อไว้เป็นประธานในงานกฐิน โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เจ้าภาพจะประกาศชื่อ ในลักษณะช่วยเหลือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้นเพื่อหาเสียงไม่ได้

3.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งนอกเวลาราชการให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่พรรคการเมือง ผู้สมัครใด

ส่วน ส.ส.และกรรมาธิการ มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการการเมือง โดยไปทำหน้าที่ของตนเองได้ ไปรับฟังความเห็นในพื้นที่ พบประชาชน ก็เป็นการหาเสียงอย่างหนึ่งซึ่งไม่ขัดกฎหมายแต่อย่างใด

หน่วยงานของรัฐ

1.สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดกิจกรรมประกวด แข่งขันต่าง ๆ การจัดงานเทศกาลตามประเพณี และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดราชการส่วนกลาง และภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.

2.ให้ข้าราชการ พนักงาน ทุกระดับทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

3.นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.จนถึงวันเลือกตั้ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงานให้กระทำเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบกับการเลือกตั้ง

4.ให้ราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นให้การสนับสนุนสถานที่ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดการเลือกตั้ง รวมถึงสนับสนุนเป็นสถานที่ติดประกาศ และแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง

5.ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัคร ด้านความปลอดภัย เพื่อการคุ้มครองประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้รับความปลอดภัย ซึ่งหลักสำคัญคือข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

การทำเอกสารของหน่วยงานของรัฐ เอกสารเผยแพร่ผลงานของรัฐมนตรี ปฏิทินปีใหม่ที่มีรูปและผลงานของรัฐมนตรี

1.ให้จัดทำเผยแพร่ในนามของหน่วยงานนั้นเท่านั้น และต้องระมัดระวังไม่ให้มีลักษณะเข้าข่ายหาเสียงให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือพรรคการเมือง

2.การจัดทำป้ายต้อนรับการลงตรวจพื้นที่ของรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่มาปฏิบัติงานตามหน้าที่ ให้พึงระมัดระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นการจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง

3.การจัดทำป้ายต้อนรับหรือป้ายขอบคุณของพรรคการเมือง หรือ ส.ส.ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอาจจะเป็นป้ายหาเสียง และเป็นการขัดมติ ครม.ในเรื่องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

การปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการติดป้ายที่ทำการพรรค สาขาพรรค

การปิดประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้จัดทำประกาศโดยกำหนดให้จัดทำเป็นแนวตั้งขนาดไม่เกิน 30×42 ซม. หรือขนาด A3

การจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้จัดทำได้โดยมีขนาดไม่เกิน 130×245 ซม. โดยการจัดทำประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ระบุชื่อ-สกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวัน เดือน ปีที่ผลิตไว้บริเวณที่ชัดเจนของแผ่นป้ายและประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งด้วย

ส่วนจำนวนและสถานที่ในการปิดประกาศ หรือติดแผ่นป้ายเป็นไปตามประกาศที่ กกต.กำหนด เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 แต่กรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง การปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยวิธีการจัดทำ ขนาด จำนวน และสถานที่ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กกต. และ ผอ.กกต.จังหวัดกำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ส่วนการติดป้ายที่ทำการพรรค สาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้ง สามารถติดได้สถานที่ละ 1 แผ่น ขนาดไม่เกิน 400×750 ซม. ซึ่งการดำเนินการเกี่ยวกับประกาศและแผ่นป้ายดังกล่าว ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ประกอบการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งด้วย

ทั้งนี้ เรื่องป้ายหรือประกาศจะมีข้อยกเว้นอยู่คือ แผ่นพับ ใบปลิว เอกสารขนาดเล็ก หรือสติ๊กเกอร์ รวมทั้งจอแอลอีดีที่ติดอยู่ตามรถ สามารถทำได้โดยไม่ต้องเป็นไปตามขนาดหรือจำนวนที่ระเบียบ กกต.กำหนด แต่ให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงครั้งต่อไปด้วย

นายแสวงกล่าวอีกว่า การยกตัวอย่างในการทำงานสำหรับกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องป้ายหาเสียง น่าจะครบถ้วนและเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแนวทางให้แก่พรรคการเมือง และสำนักงาน กกต.จังหวัด ในการชี้แจงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนกรณีที่มีลักษณะซับซ้อน หรือไม่แน่ใจ ให้ ผอ.กกต.จังหวัดสอบถามมาที่ กกต.ส่วนกลาง ที่สำนักกฎหมาย สำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐได้


อ่านรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติและข้อควรระวังในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐ ได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20220927134335.pdf