เทียบกำลัง-ทุน “ประยุทธ์-ประวิตร” ค้ำเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เลือกตั้งสมัยหน้า

ประยุทธ์-ประวิตร
รายงานพิเศษ

6 เดือนสุดท้ายก่อนรัฐบาลครบวาระ 23 มีนาคม 2566 เข้าสู่โค้งหักศอกก่อนถึงวันเลือกตั้ง พลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องมานั่งขบคิดจะเสนอชื่อใครเข้าชิงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “รอบสุดท้าย”

2 ชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” ว่าใครจะผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

อีก 1 คนนอกพรรค-ว่าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะเข้ามาเป็นบริการเสริมในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น

ตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กาปฏิทิน 7 พฤษภาคม 2566 เป็น “วันหย่อนบัตร” การอุบ 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของแต่ละพรรคการเมืองยังพอมีเวลา เพื่อกลยุทธ์ทางการตลาดให้คนพูดถึง-คาดเดา

ทว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 6 ต่อ 3 นับอายุขัยวาระนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้เหลือเวลานั่งเก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหาร อีกเพียง 2 ปี กลาย “ตัวเร่ง” ให้พรรคพลังประชารัฐต้องคิดเร็ว-ทำเร็ว

“วีระกร คำประกอบ” ส.ส.นครสวรรค์ รุ่นเก๋า-กรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ออกมาขอเสียงรับรอง สนับสนุน “พล.อ.ประวิตร” นั่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพลังประชารัฐแบบ “ไร้รอยต่อ”

“เพียงแต่เปลี่ยนหน้าไพ่เล่น พลังประชารัฐควรจะมียุทธศาสตร์ให้เล่นได้บ้าง ต้องมีไพ่หลายหน้าให้พรรคได้เล่น ทุกคนมองไพ่ใบนี้เหมือนกันหมด”

ฟาก “สุชาติ ชมกลิ่น” ส.ส.ชลบุรี-ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ-รัฐมนตรีก๊วนตึกไทยคู่ฟ้า มือขวา พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำเสียงพรรค-เสียงพวกไว้ในมือ กว่า 20 เสียง กระโดดออกมาปกป้อง “ลุงตู่” ทันควัน

“เป็นความเห็นส่วนตัว ต้องเป็นมติพรรค เป็นเรื่องละเอียดอ่อน วันนี้เรามาอยู่พรรคพลังประชารัฐ จำได้ว่า เราเสนอชื่อลุงตู่เป็นนายกฯ คนแรก มีคนเดียว”

“วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เราควรจะดีใจและให้กำลังใจท่านนายกฯ เลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร กรรมการบริหารพรรคก็มาว่ากัน มาถกกัน แต่วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะเจาะจะมาพูดถึง ไม่เหมาะสม”

“เรื่องนี้คิดได้เหมือนกันหมด แต่ไม่ได้ออกมาพูดต่อสาธารณะในวันนี้ ต้องถกเถียงเหตุและผลกัน ถ้าเกิดออกมาแบบนี้ แผน A แผน B แผน C เป็นอย่างไร ให้ตกผลึกแล้วถึงจะพูด”

“ไม่ใช่กาลเทศะ เรื่องอย่างนี้พูดไม่ได้ ในทางการเมือง เดี๋ยวจะแสดงความเห็นส่วนตัวกันหมด ส.ส. 90 กว่าคน 100 คน ก็พูดกัน 100 เรื่อง จะยุ่ง”

“วันนี้ยังไม่หมดเทอม ยังไม่ใช่เวลา ถึงเวลาตอนนั้นค่อยมาหารือกันอีก แฟนคลับหรือคนที่เชียร์พลังประชารัฐอยู่จะมองอย่างไร ถ้าตีความว่าอยู่ได้ถึงปี’68 ก็ต้องเสนอ 3 ชื่อ แต่วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดกัน เพิ่งผ่านมาแค่วัน สองวัน”

ยิ่งความได้เปรียบเดียวพรรคพลังประชารัฐ ส.ว. 250 คนจะสามารถ “ยกมือ” โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 ป. “ทิ้งทวน” เป็นครั้งสุดท้าย ทำให้ต้องเตรียมแผนสอง-แผนสาม เพื่อรองรับหากต้องเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อ
3 แผน เลือกนายกฯ

Plan A เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในสภา ให้เป็น “นายกรัฐมนตรีวาระสุดท้าย” อีก 2 ปี เพื่อสยบแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐ และให้ พล.อ.ประวิตร มา “รับไม้ต่อ” ในช่วง 2 ปีที่เหลือ

แต่อาจจะ “ลุ้นไม่ขึ้น” และ “เกมเปลี่ยน” เพราะในปี 2568 ส.ว. 250 คน จะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากจะครบวาระ 5 ปี ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังมี “ไพ่ไฟ” ให้เล่นอีก 1 ใบ คือ อยู่เพียง “ปีเดียว” และชิงยุบสภา ก่อนที่ ส.ว. 250 คนครบวาระ เพื่อให้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี-พล.อ.ประวิตร “ครั้งท้ายสุด”

Plan B เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในสภา และไป “วัดบารมี” ของ พล.อ.ประวิตร ใน ส.ว. 250 คน ให้ “บล็อกโหวต” แล้วค่อยเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เป็น “นายกรัฐมนตรีสำรอง”

Plan C เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีในสภาชื่อแรก เพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จ 4 ปี เพื่อไม่ให้เกิดจุดพลิกกระดานการเมืองในช่วง “รอยต่อ” ทำให้พรรคพลังประชารัฐตกกระไดพลอยโจนไปเป็นฝ่ายค้าน

ปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย

แต่ด้วยปัจจัยทั้งหมดไม่ควรลืมว่า การที่ “พล.อ.ประยุทธ์” รอดพ้นจากคดีนายกฯ 8 ปีนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เพียงหลักการของกฎหมาย ทว่ายังมีปาฏิหาริย์ของกฎหมาย ที่ต้องลุ้นจนวันสุดท้ายก่อนวินิจฉัยลงมติเสียงถึง 6 ต่อ 3 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

จนผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า การกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 158 วรรคสี่ จึงมีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เมษายน 2560 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 การดำรงตำแหน่งของผู้ถูกร้องจึงเป็นการดำรงตำแหน่งภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่

ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นรับตำแหน่ง

“ดังนั้นการดำรงตำแหน่งของผู้ถูกร้องจึงนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลง”

เปิดกาต้มน้ำเดือด ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พวยพุ่งออกมาบริหารอำนาจอีกครั้ง นับเป็นอีกหนึ่งเกมที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ร่วมแชร์อำนาจในกระบวนการก่อนวันพิพากษา

สามมิตร ชี้ขาด พปชร.

ดังนั้นการให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ 4 ปีเต็ม ต้องยอมแลกมากับรอยร้าว-แตกหัก ระหว่าง พี่-น้อง 3 ป. ยกเว้น พล.อ.ประยุทธ์ ยอมหลีกทาง-ถอนตัวไม่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือตัดไฟแต่ต้นลม “วางมือ” ทางการเมือง

ขณะที่ “แผนสำรอง” คือ การหา “คนนอกพรรค” สเป็กนักเศรษฐศาสตร์ การเงิน-การคลัง มาเป็น “ตัวเลือกใหม่” ห้อยท้ายบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 3 ให้เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ”

“แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ต้องเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ว่า พรรคพลังประชารัฐมีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแรง จะต้องสร้างภาพให้เกิดความมั่นใจต่อพรรคว่า วันนี้เรามีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คนในไม่มี คงต้องเป็นคนนอก ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การคลัง ต้องมีทักษะเศรษฐกิจ” “หน่วยกล้าตาย” แห่งปากน้ำโพ ออกมาส่งเสียงดัง ๆ

ทุกเสียง-ทุกกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐล้วนแล้วแต่มีความหมาย เมื่อถึงคราวต้องตัดสิน

โดยมี “กลุ่มสามมิตร” อันประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกลุ่มการเมืองที่เป็น “ตัวชี้ขาด”

“ทุกคนฟัง พล.อ.ประวิตร เพราะเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นคนที่ใกล้ชิดกับเรา ทั้งพรรคหนุน พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประวิตรให้เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ เราก็ต้องเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ คราวที่แล้วจำเป็นต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ แต่คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์เหลือเวลาอีก 2 ปี” แกนนำพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่งเฉลยข้อสอบคนที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรีโควตาพลังประชารัฐ” สมัยหน้า

ทุนใหญ่ปัจจัยชี้ขาดหนุนประยุทธ์

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ท่ามกลางรอยปริแยกที่ยังไม่ชัด ก็เด่นชัดขึ้นเมื่อ “ทุนใหญ่” ย้ายข้างหนุน เนื่องจากเคยหนุนนำบ้านป่า พลิกมาหนุนทำเนียบมากขึ้น โดยเฉพาะเกมช่วงชิงซีอีโอ บริษัทรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ ที่ถูกเขย่าปรับโครงสร้าง-เปลี่ยนคน-รวบอำนาจใหม่ ก่อนประกาศเปิดตัวผู้ท้าชิงอย่างเป็นทางการ

ทั้งปัจจัยการเมืองในทำเนียบรัฐบาล ปัจจัยการเมืองบ้านป่ารอยต่อ ปัจจัยการเมืองระดับมือที่มองไม่เห็น ทุกอย่างเป็นตัวกำหนดชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ

ใครมีกำลังทุนหนุนนำ กำลังการเมืองมากที่สุด คนนั้นโอกาสชนะในเกมนี้สูง