ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดวาระ 8 ปี เดินหน้าเอเปค อยู่ยาวเลือกตั้งปีหน้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ พ้นมลทิน ไม่สิ้นสุดวาระนายกฯ 8 ปี นักวิชาการเชื่อ แม้รอดคดีแต่อาจแพ้เลือกตั้ง กลับมาสมัยต่อไปยาก ช้ำ-ไม่เหลือจุดขาย ชนชั้นนำเลิกอุ้ม ถูกบีบพ้นเก้าอี้ คาดได้ไปต่อ win-win ทางการเมือง เดินหน้าประชุม APEC ดันกฎหมายกัญชา-เงินกู้ กยศ. นับถอยหลังเลือกตั้ง พ.ค. 2566 หากไร้อุบัติเหตุการเมือง อยู่ยาวถึง ก.ย. 2566

วันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติกรณีที่มีมติเอกฉันท์รับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีผลบัญญัติไว้เป็นการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลจะมีการบัญญัติให้เรื่องใดยังไม่มีผลใช้บังคับ

ดังนั้น ไม่ว่ากรณีใด เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับทุกอย่าง จึงต้องเริ่มนับทันที กรณีรัฐธรรมนูญ 158 วรรคสี่ เรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันทีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ

“จึงวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญนี้ด้วย”

การกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 158 วรรคสี่ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 การดำรงตำแหน่งของผู้ถูกร้อง จึงนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ผู้ถูกร้องจึงยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ เสียงข้างมาก 6 : 3 เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลง

ได้ไปต่อการเมืองตึงเครียด

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อ เครือข่ายชนชั้นนำยังจะลงทุนทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์แบบ 50 : 50 เพราะเครือข่ายชนชั้นนำเองก็น่าจะรู้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นสินค้าทางการเมืองชิ้นหนึ่ง ก็เป็นสินค้าทางการเมืองที่เสื่อมความนิยม ไม่มีจุดขายแล้ว ปี 2562 ยังขายความสงบ เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ แต่ตอนนี้ปัญหาประเทศเยอะกว่าปี 2562

ทั้งเศรษฐกิจโลก ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ จึงขายความสงบอย่างเดียวจึงไม่ตอบโจทย์ เพราะประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้ไม่ได้ต้องการแค่ความสงบ และเผลอ ๆ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งอาจเป็นชนวนของความไม่สงบด้วยซ้ำ เพราะคนต่อต้านเยอะ จึงขายเรื่องความสงบไม่ได้ ไม่เหลือจุดขาย ซึ่งชนชั้นนำต้องมองออก เพราะไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองขนาดนั้น

รวมถึงคนแวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ก็มองออก โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ เพราะพวกนักเลือกตั้งอาชีพเขารู้กระแสดีกว่าใครอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเห็นการที่เลือดไหลออกจากพรรคพลังประชารัฐ

“ดังนั้น ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์รอดไปจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าลงเลือกตั้ง โอกาสจะกลับมาสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งจึงยากมาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เสื่อมความนิยมลงอย่างมาก ตัวพรรคพลังประชารัฐที่เป็นเหมือนพาหนะที่พาเขาไปสู่อำนาจ ก็เสื่อมความนิยมลงอย่างมากเช่นกัน จึงเป็นเหมือนเตี้ยอุ้มค่อมระหว่างพรรคและแคนดิเดตนายกฯ”

ดร.ประจักษ์เชื่อว่ามีโอกาสที่ชนชั้นนำจะเปลี่ยนตัวเล่น จาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนอื่น ดูจากสถานการณ์ในอดีต นายกฯที่เสื่อมความนิยมมากก็ต้องถูกบีบออกไปด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ส่วนกรณีถ้าให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อได้ถึงปี 2570 นั้น ยิ่งไม่มีอนาคตสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ คนจะยิ่งไม่พอใจ อาจจะทำให้อายุขัยทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งสั้นลง เพราะคนจะโมโห และอาจจะกลายเป็นแรงกดดันให้เกิดการประท้วงมากกว่าการตัดสินให้อยู่แค่ 2 ปี

สมัยหน้าขายแพ็กคู่ “ตู่-ทายาท”

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์อีกมุมหนึ่งว่า ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ การเมืองไม่นิ่งแน่ จะเกิดการแย่งชิงในขั้วอำนาจปัจจุบันว่าใครจะขึ้นมาแทน พล.อ.ประยุทธ์

ถึงแม้ว่าในแง่การเลือกตั้งพล.อ.ประยุทธ์อาจเป็นสินค้าทางการเมืองที่หมดอายุ แต่ ดร.สติธรเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐยังสามารถเปิดตลาดขายคู่กับแคนดิเดตอีกคนได้

ส่วนถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาวถึงปี 2570 ครบเทอม แบบนั้นชัวร์ว่าถ้าได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นต่ออีกสมัย ใครอยากเป็นนายกฯก็ต้องไปรอจนครบเทอม ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อได้อีก 2 ปี ดีสุดในภาพรวมเชิงอำนาจ win-win ทุกฝ่าย

ฉากทัศน์การเมืองประยุทธ์ไปต่อ

ฉากทัศน์ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ มีภารกิจที่สำคัญคือ การเป็นประธานจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในธีม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “open. connect. balance.”

ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2.การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และ 3.การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทาง และท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด โดย พล.อ.ประยุทธ์จะมีโอกาสต้อนรับผู้นำโลก ซึ่งจะจัดในเดือนพฤศจิกายน 2565

ในเดือนถัดมาจะมีล็อกการเมืองสำคัญอีก 1 ชั้น คือ 24 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงนับถอยหลัง 90 วัน ก่อนอายุของสภาผู้แทนราษฎรครบเทอม 4 ปี มีการประเมินจากนักการเมืองหลายฝ่ายว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจตัดสินใจยุบสภาในห้วงเวลาหลังจากนั้นหรือไม่

เพราะด้วยเหตุผลเรื่องภารกิจการจัดประชุมเอเปคเสร็จสิ้น และเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมในการวางตัว ส.ส.อีกทั้งการที่รัฐบาลอยู่ครบเทอม ในวันที่ 24 มีนาคม 2566 จะถึงเส้นตายที่ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้ง ดังนั้น 24 ธันวาคม 2565 จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

ถ้าพรรคขั้วอำนาจรัฐบาล ไม่สามารถจัดตัว ส.ส. หรือดูด ส.ส.มาเข้าพรรคได้ทันเวลา ก็อาจจะใช้เกมยุบสภามาแก้ปัญหา เนื่องจากถ้ายุบสภา ส.ส.จะสังกัดพรรค 30 วัน ก่อนการเลือกตั้ง และ ส.ส.ยังมีตำแหน่งเป็น ส.ส. ณ วันยุบสภา แม้หลังจากนั้นจะมีการย้ายพรรคก็ยังมีสถานะเป็น ส.ส.อยู่

ส่ออยู่ในตำแหน่งถึง ก.ย. 66

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลอยู่ครบเทอม หรือยุบสภา ก็จะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2566 ตามปฏิทินการเลือกตั้งที่ กกต.คาดการณ์ จะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามรัฐธรรมนูญ กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งจะตรงกับช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2566 หรือเร็วกว่านั้น หาก กกต.ใช้เวลาไม่ถึง 60 วัน จากนั้นภายใน 15 วัน ต้องเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก

ขณะเดียวกัน หลังการเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯรักษาการ ไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ หากเทียบเคียงกับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 กว่าที่ ครม.ชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อปฏิบัติหน้าที่ใช้เวลาเกือบ 4 เดือน

ดังนั้น หลังเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์อาจจะอยู่ในตำแหน่งถึงกันยายน 2566 ขึ้นอยู่กับการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่จะเร็วหรือช้า

คิวกฎหมายร้อนในสภา

ขณะที่วาระกฎหมายในสภา ยังต้องน่าจับตา เพราะในสมัยประชุมครั้งต่อไปที่จะเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีกฎหมายสำคัญ ๆ จ่อเข้าพิจารณาในสภา และรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ

คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีถ้อยคำขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566

ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. …. ของพรรคภูมิใจไทย ที่สภาลงมติให้ดึงกลับไปทบทวน ก็จะเป็นกฎหมายสำคัญอีกฉบับที่เกี่ยวพันกับสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาลช่วงปลายสมัย ถึงที่สุดแล้วหากไม่ผ่านสภาอาจเป็นจุดแตกหักได้

ยังมีร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่มีไฮไลต์สำคัญ กู้ปลอดดอกเบี้ย-ไม่คิดค่าปรับ ที่ผ่านสภาไปแล้ว แต่ยังต้องผ่านการกลั่นกรองในชั้นวุฒิสภาว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนกฎหมายอื่นที่น่าจับตาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ และมีผลกระทบต่อสังคม อาทิ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของ ครม.และพรรคประชาธิปัตย์


นอกจากนี้ ยังเหลือเวทีให้ฝ่ายค้านเปิดการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ หรือ “ซักฟอก” แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 อีกหนึ่งครั้งด้วย