นักกฎหมายในฝ่ายรัฐบาล คาดหมาย-วิเคราะห์ การลงมติวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ ไว้ล่วงหน้า 15 วัน ว่า มีความเป็นไปได้ใน 3 มติ และขั้นตอนหลังการลงมติ 30 กันยายน 2565
อีก 15 วัน คือวันพิพากษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 ครั้ง 2 รัฐธรรมนูญ 2 รูปแบบการได้มาซึ่งอำนาจ ทั้งจากรัฐประหาร และการเลือกตั้ง
21 วันมาแล้ว ที่ประเทศไทย ว่างเว้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตัวจริง
หากไม่มีอุบัติเหตุแทรกซ้อนทางการเมือง คดีนายกฯ 8 ปี ในศาลรัฐธรรมนูญ จะจบสิ้นม้วนเดียวภายใน 36 วัน
ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏผ่านวาระวินิจฉัยในศาลรัฐธรรมนูญ เฉพาะคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว อย่างน้อย 4 ครั้ง นับตั้งแต่คำร้องส่งถึงศาลวันที่ 22 สิงหาคม และศาลรับไว้พิจารณา-สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ วันที่ 24 สิงหาคม ถัดมา 8 กันยายน ศาลประชุมและเรียกเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม และล่าสุด 14 กันยายน ศาลยุติการไต่สวน และนัดลงมติ พร้อมคำวินิจฉัยส่วนตัว และคำวินิจฉัยกลาง เพื่อเป็นบรรทัดฐานและผูกพันทุกองค์กร
อาจกล่าวได้ว่า อนาคตประเทศไทย และอนาคตชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ผู้นำหมายเลข 1 ของรัฐบาล ขึ้นอยู่กับ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย
-
- นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
- นายจิรนิติ หะวานนท์
- นายวิรุฬห์ แสงเทียน
- นายนภดล เทพพิทักษ์
- นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
- นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
- นายปัญญา อุดชาชน
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 9 คน ให้รับคำร้องของฝ่ายค้านทั้ง 171 คนไว้พิจารณา
และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 เสียง ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย
- นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
- นายจิรนิติ หะวานนท์
- นายวิรุฬห์ แสงเทียน
- นายนภดล เทพพิทักษ์
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าไม่ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ 4 เสียง ประกอบด้วย
- นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
- นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
- นายปัญญา อุดชาชน
ล่าสุดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้ “ยุติการไต่สวน” จึงออกเอกสารเผยแพร่ ระบุว่า “ศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ซึ่งมีการพิจารณาเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร ส่งเอกสารการประชุมดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่ฝ่ายค้านยื่นให้ตีความ”
“ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.”
กรอบของคำถามจากฝ่ายค้าน คือ ข้อพิจารณาหลักในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำถามทางกฎหมายของคดีนี้ ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง ตามมาตรา 7 (9) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560
คำร้องของฝ่ายค้านอ้างข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พร้อมสรุปท้ายคำร้องว่า พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันรวมกันแล้วเกิน 8 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 คำร้องทั้ง 15 หน้า ไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องการเริ่มต้นนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ในส่วนของการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่อีก 15 วัน จะมีการนัดลงมติ และแถลง “คำตอบ” ที่ฝ่ายค้านตั้งคำถาม
มีรายงานข่าวออกมานอกศาล อ้างถึงคำตอบที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 30 กันยายน 2565 คาดว่าแนวทางวินิจฉัย จะมีแนวทางเดียวเท่านั้น โดยตอบเฉพาะขอบเขตของคำถามฝ่ายค้านที่ระบุว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบวาระ 8 ปี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ เท่านั้น
และเพราะธงคำถามของฝ่ายค้าน ไม่ได้ถามว่านับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่เมื่อไร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจวินิจฉัยเกินคำร้อง และอาจไม่ได้ระบุไว้ในคำวินิจฉัยกลาง
ดังนั้น นักกฎหมายตั้งแต่ระดับนกกระจอก จนถึงพญาอินทรี และระดับพญาครุฑ จึงต้องตั้งความคาดหมายกันและตั้งหน้าตั้งตาว่า จะต้องรออ่านในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 ท่าน ในคำตอบที่ฝ่ายค้านไม่ได้ถาม คือ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่เมื่อใด
นักกฎหมายในฝ่ายรัฐบาล คาดหมาย-วิเคราะห์ การลงมติไว้ล่วงหน้า 15 วัน ว่า มีความเป็นไปได้ใน 3 มติ
มติแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 6 ต่อ 3 เสียง
มติที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง 7 ต่อ 2 เสียง
มติที่สาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ด้วยเสียง 6 ต่อ 3 เสียง
หากมติที่สาม เกิดขึ้นจริง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่ง รักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็ยังมีอำนาจเต็ม เท่ากับนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ
2.มีกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในบทเฉพาะกาลรัฐมนตรีมาตรา 272 ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย
3.ดำเนินการตามขั้นตอน เริ่มจากสภาเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองที่เสนอไว้ตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมด ณ ตอนนี้คือ 48 คน ในการเสนอชื่อ
4.การลงคะแนนเลือกนายกฯ ต้องทำโดยขานชื่อ เปิดเผย และต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว. ตอนนี้คือ 363 คน จาก 726 คน (ส.ส. 477 คน ส.ว. 249 คน)
5.กรณีถ้าไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของแต่ละพรรคการเมืองได้ สมาชิกทั้ง 2 สภา ส.ส.-ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ 363 คน สามารถเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรี จากนอกบัญชีของพรรคการเมืองได้ โดยให้รัฐสภามีมติยกเว้น ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯในบัญชีเสียก่อน
6.จากนั้นรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 (484 เสียง) ให้สภาเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ แล้วค่อยดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี ในขั้นตอนตามปกติก่อนหน้านี้ คือการเสนอชื่อนายกฯ จะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 และการลงคะแนนจะต้องทำโดยเปิดเผย และต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง
7.กรณีที่ถ้าเสียงในรัฐสภาไม่พอ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลรักษาการ ทำหน้าที่ต่อไป
- ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ รับคำร้อง นายกฯ 8 ปี
- นายกฯ 8 ปี ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ศาลใช้มาตราใดวินิจฉัยบ้าง
- “ประยุทธ์” ขี่หลังเสือ ฝ่าเกมอันตราย นายกฯ 8 ปี
- ด่วน ศาลรัฐธรรมนูญ นัดตัดสินคดีนายกฯ 8 ปี 30 กันยายนนี้
- เอกสารที่อ้างว่าเป็นความเห็น มีชัย โยนหินถามกระแสสังคมหรือไม่ หลังยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อได้
- เปิดชื่อ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สั่งประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ 8 ปี