เอกสารที่อ้างว่าเป็นความเห็น มีชัย โยนหินถามกระแสสังคมหรือไม่ หลังยืนยัน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อได้

ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อกำหนดแนวทางพิจารณาคดีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 8 ก.ย. นี้ แต่ปรากฏว่ามีเอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถูกนำออกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยยืนยันว่า การนับวาระนายกฯ ต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560

บ่ายวันนี้ (7 ก.ย.) เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงข่าวเกี่ยวข้องกับกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุม ในวันที่ 8 ก.ย.

ตลอดสองวันมานี้ สังคมให้ความสนใจกับเอกสารที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “ความเห็นเห็นเกี่ยวกับ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ลงนามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ส่งถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ ความยาว 3 หน้ากระดาษ โดยเอกสารดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในหมู่นักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่วานนี้ (ุ6 ก.ย.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดออกมายืนยันว่าเป็นเอกสารจากอดีตประธาน กรธ. จริงหรือไม่ และบีบีซีไทยก็ไม่สามารถรับรองเรื่องนี้ได้

อย่างไรก็ตามความเห็นที่อ้างว่าเป็นของนายมีชัยในเอกสารฉบับดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมายหลายคน รวมถึงนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่า การตีความว่านายกฯ คนปัจจุบัน เพิ่งมีสถานะเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 และครบ 8 ปี วันที่ 5 เมษายน 2568 เนื่องจาก “มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติชัดเจน”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นอีกคนที่ได้อ่านเอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของนายมีชัยแล้ว โดยเขาขอให้รอฟังคำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะรู้เอง เพราะจะหยิบทุกอย่างมาพิจารณาหมด ส่วนเอกสารดังกล่าว ไม่ทราบว่าหลุดมาหรือไม่ได้หลุด และคิดว่าไม่ส่งผลต่อคำวินิจฉัย เนื่องจากไม่ใช่ความลับอะไร เพราะเมื่อยื่นต่อศาล เอกสารก็จะอยู่ในมือมากกว่าคณะตุลาการ 9 คน ซึ่งไม่มีปัญหา เพียงแต่ไม่ควรเปิดเผยออกมา

แม้เป็นลูกศิษย์คนสนิทของนายมีชัย แต่รองนายกฯ วิษณุบอกว่า ไม่ได้คุย ไม่ได้พบกับนายมีชัยมา 10 กว่าวันแล้ว เช่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ก็ไม่ได้พบ เห็นเฉพาะในวีดีโอคอล

ส่วนคำชี้แจงของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนับการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีไหนนั้น นายวิษณุตอบว่า ไม่ใช่ 24 ส.ค. 2557 แน่นอน ส่วนจะเป็นวันใดก็แล้วแต่ศาล โดยคำชี้แจงจะต้องบอกเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ใช่วันนั้น

ขณะที่รองโฆษกรัฐบาล น.ส. ทิพานัน ศิริชนะ ร้องขอให้สังคมหยุดวิพากษ์วิจารณ์ก่อน เพราะเอกสารยังไม่มีการรับรองว่าเป็นเอกสารจริงและข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งเนื้อหาดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นข้อสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังเป็นอย่างมากในการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้ฝ่ายค้านที่เป็นคนเริ่มต้นยื่นคำร้องขอตีความ ที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายค้านเองก็เชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณาของศาล รอฟังคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ออกมาตีรวนกดดันศาลและให้สัมภาษณ์เพื่อทำสังคมสับสนรายวัน” น.ส. ทิพานันกล่าว

ส่วนท่าทีฝ่ายค้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล มองว่า การเผยแพร่เอกสารนี้เป็นการ “โยนหินถามทาง” ว่าถ้าผลการวินิจฉับออกมาว่า พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่ครบ 8 ปี สังคมจะเห็นว่าอย่างไร

ถ้าเป็นเอกสารจริง เขามองว่าอาจจะมีผลต่อการชี้นำได้ เพราะสัดส่วนเสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5:4 ที่เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ยังมีโอกาสพลิกได้

“ดีที่สุดเลยนะ คือ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก เพื่อเปิดทางให้สภาได้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งไม่นาน แต่จะนานเพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้ง คืนอำนาจให้กับประชาชน” นายรังสิมันต์​กล่าว

เอกสารรั่ว (?) ระบุว่าอย่างไร

เอกสารฉบับที่อ้างว่าเป็นความเห็นของนายมีชัย และมีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต มีประเด็นสำคัญต่อกรณี “นายกฯ 8 ปี” สรุปได้ ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาโดยชอบก่อนที่รัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

2. ส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ ที่มา วิธีการได้มา กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และผลจากการพ้นจากตำแหน่ง ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่าง ๆ เหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับ ครม. ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560

3. การได้มาซึ่ง ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมี ครม. เพื่อบริหารประเทศได้ จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่…”

4. ผลของมาตรา 264 ครม. รวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เม.ย. 2560

5. รายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อ 7 ก.ย. 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของนายมีชัย (ว่าให้นับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ รวมกับก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้) เป็นการรายงานที่ไม่ครบถ้วน และเป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด โดย กรธ. ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุม

"ส่วนตัวมีความเห็นตรงกับคุณมีชัยคนเก่า"

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล

จากเนื้อหานี้ นายรังสิมันต์มองว่า ถ้าเป็นเอกสารจริง เท่ากับมี “คุณมีชัย ถึง 2 คน” คนเก่าที่มีความเห็นต่อกรณี 8 ปีอย่างหนึ่ง กับคนใหม่ให้ความเห็นตรงกันข้าม

“ส่วนตัวมีความเห็นตรงกับคุณมีชัยคนเก่า เพราะมีความจำเป็นที่เราจะต้องนับวาระดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ ต่อเนื่องกันก่อนรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาล จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่การดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ จะไม่ครบ 8 ปี” ส.ส. โรมกล่าว

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักสวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ที่มาของภาพ, BBC Thai

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักสวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” มองว่า “เป็นการตั้งใจปล่อยเอกสาร” เพราะถ้าเป็นเอกสารหลุด จะไม่เป็นกระแสข่าวเร็วขนาดนี้

ดร. สติธร เห็นตรงกับนายรังสิมันต์ว่า การเผยแพร่เอกสารนี้ เป็นการหยั่งกระแสสังคมว่า “ถ้าเริ่มนับวาระนายกฯ 8 ปี ในปี 2560 กระแสจะพอไปสู้กับความเห็นว่าครบวาระแล้วหรือไม่”

โดยประเมินว่าผลการตอบรับความเห็นของนายมีชัย หลังเผยแพร่เอกสารได้ 1 วัน ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับการนับวาระนายกฯ 8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560

ส่วนผลที่ตรงกว่านี้ของการเผยแพร่เอกสาร คือ ข้อความที่ส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 24 ส.ค. ลงมติด้วยเสียง 5:4 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ. ประยุทธ์

“หมายความว่า (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) 4 ท่าน มีแนวโน้มพิจารณาว่า พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่ครบ 8 ปีแน่ ๆ เพราะขนาดหยุดปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ให้หยุดเลย…ขออีกเสียงเดียวที่บอกว่าท่านอยู่ได้ต่อไป”

“การปล่อยเอกสารที่มีผลบวกไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ คงหวังไปตรงนั้นก่อน” ดร. สติธร กล่าว

ย้อนดูความเห็น “มีชัยคนเก่า”

บันทึกการประชุม กมธ. ดังกล่าวคือ บันทึกการประชุม กมธ. ครั้งที่ 500 ณ วันที่ 7 ก.ย. 2561 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการคนอื่น ๆ รวม 30 คน

เนื้อหาส่วนที่สังคมออนไลน์กล่าวถึง คือ ความเห็นของประธานและรองประธาน กรธ. ดังนี้

  • มีชัย : ผู้ที่เป็นนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
  • สุพจน์ : หากนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย
  • มีชัย : (หยิบยกบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มาอ้างถึง) ก่อนชี้ว่า การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

แม้เอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของนายมีชัยถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่า รายงานการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 “เป็นการรายงานที่ไม่ครบถ้วน และเป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุม” ทว่าวานนี้ (6 ก.ย.) ก็มีการปล่อยเอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 ที่ระบุว่า กรธ. มีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 เพื่อหักล้างคำชี้แจงของอดีตประธาน กรธ. ทันควัน

“ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว ไม่มีการแก้ไข” บันทึกการประชุมครั้งที่ 501 ระบุตอนหนึ่ง

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว