นายกฯ 8 ปี ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลใช้มาตราใดวินิจฉัยบ้าง

นายกรัฐมนตรี 8 ปี 2 รัฐธรรมนูญ และข้อถกเถียงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นักวิเคราะห์นอกศาลรัฐธรรมนูญ ควรอ่านรัฐธรรมนูญมาตราใดประกอบบ้าง

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเฉพาะหน้าทางการเมืองและทางกฎหมาย คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ทั้งแบบที่มาจากการรัฐประหาร และมาจากการเลือกตั้ง ผ่านการขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยนัยแห่งรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

นายกรัฐมนตรี รัฐประหาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ภายหลังก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

มีการลงมติของ สนช. ในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 191 เสียง งดออกเสียง 3 ราย

นายกรัฐมนตรี ในบัญชีเลือกตั้งพลังประชารัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562

สมาชิกรัฐสภาลงมติเมื่อ 5 มิถุนายน 2562 โหวตเห็นชอบ ในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกบรรจุไว้ในบัญชีนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้รับการลงมติจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสมาชิก ด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 ราย

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ นายกฯ 8 ปี

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้ง 2 ครั้ง 2 กรรม คือจากรัฐประหาร และจากการเลือกตั้ง ผ่านการลงมติของรัฐสภา ผ่านมาแล้ว 8 ปี จึงต้องถูกส่งตีความ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ที่ห้ามไม่ให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีหรือไม่

ข้อพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มีมาตราที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

มาตรา 82 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 158 วรรคสอง ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

มาตรา 159 บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิก ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 170 วรรคสอง ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย

มาตรา 264 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

โดยมีคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของมาตรา 158 ระบุไว้ว่า “การกำหนดระยะเวลา 8 ปีก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

มติเอกฉันท์ รับคำร้อง/เสียงข้างมากให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ในที่สุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

และมีมติเสียงข้างมาก 5:4 ให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

กฎหมาย ป.ป.ช. ปัจจัยพิจารณาประกอบ

นอกจากรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ สนับสนุนการขึ้นดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีการนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาร่วมตีความด้วย

โดยใช้มาตรา 105 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “ถ้าพ้นจากตําแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเดิมหรือตําแหน่งใหม่ ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน”

ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยื่นบัญชีทรัพย์สินในฐานะนายกรัฐมนตรี ครั้งแรก-ครั้งเดียว กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 128,664,535 บาท แบ่งออกเป็นทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ 102,317,152 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 6 บัญชี 58,967,002 บาท เงินลงทุน 9 แห่ง 23,072,380 บาท ยานพาหนะ 4 คัน 11.8 ล้านบาท

ที่ดิน 3 แปลง (ถือร่วมกับคู่สมรส 1 แปลง) 2,284,750 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 4,193,000 บาท และมีหนี้สิน 327,372 บาท

ขณะที่ทรัพย์สินของคู่สมรส นราพร จันทร์โอชา มีทรัพย์สิน 26,347,382 บาท แบ่งออกเป็นเงินฝาก 6 บัญชี 7,977,382 บาท ที่ดิน 3 แปลง 5,350,000 บาท ยานพาหนะ 1 คัน 3.5 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 7,520,000 บาท และมีหนี้สิน 327,372 บาท

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่า ได้รับมอบเงินจำนวน 540 ล้านบาท (ยอดที่ขายได้ทั้งหมด 600 ล้านบาท) จากการขายที่ดินของ “พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา” บิดา โดยมี “บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งอาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ