“ประยุทธ์” ขี่หลังเสือ ฝ่าเกมอันตราย นายกฯ 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์
รายงานพิเศษ

ดูเหมือน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และเครือข่าย กำลัง “ติดกับดักรัฐธรรมนูญ” ปมวาระร้อน ห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปี

แต่จริง ๆ แล้ว ฝ่ายบริหารที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแกนนำ กลับยังคงความได้เปรียบอยู่มาก ตามที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กูรูกฎหมายประจำทำเนียบรัฐบาล ชี้ช่องว่า

“ที่จริงพูดกันตรง ๆ พล.อ.ประยุทธ์ยังรักษาการได้”

“หรือแม้แต่ถูกศาลสั่งครบ 8 ปี แล้วต้องออก นายกฯก็รักษาการได้ แต่นายกฯอาจจะขอไม่รักษาการ ถ้าอย่างนั้นก็มาที่ สร.2”

แม้แต่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านก็ยังยอมรับตรงกับ “วิษณุ”

ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์พ้นตำแหน่งนายกฯ ก็ต้องพ้น ณ วันที่ศาลวินิจฉัย และหากศาลสั่งให้พ้นตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่รักษาการต่อไปได้ ไม่มีกำหนด

“เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้มีการเลือกนายกฯคนใหม่ ไม่สามารถระบุได้ว่า ถ้าเลือกไม่ได้จะทำอย่างไร ไปเขียนกำหนดไม่ได้ เลยทำนายยากว่าต้องทำ (เลือกนายกฯใหม่) ภายในกี่วัน ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร”

ถามว่า จะมีกระบวนการเตะถ่วงในการเลือกนายกฯ เพื่อให้รัฐบาลรักษาการอยู่ยาวหรือไม่ “นพ.ชลน่าน” ตอบว่า

“แน่นอน ถ้าเป็นผม ผมก็ใช้วิธีการนี้ ง่ายที่สุดเลย ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับใครเลย กะพริบตาให้ 150 ส.ว.เสียง ไม่เลือกนายกฯก็จบแล้ว หรือไม่ต้องถึง 150 เสียง แค่ ส.ว.ไม่มาร่วมโหวตนายกฯสัก 20-30 คนก็ได้ จะเป็นสุญญากาศทำให้เขาอยู่ยาวไปถึงหมดวาระ เมื่อหมดวาระก็ต้องรักษาการต่อ”

“ส่วนอำนาจในการดำเนินการต่าง ๆ ยังทำได้เต็ม เพราะในกรณีที่รัฐบาลยุบสภา หรือสภาครบวาระ เท่านั้นที่มีข้อห้ามเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การใช้ทรัพยากรของรัฐต่าง ๆ แต่ถ้าพ้นวาระตามเรื่องอื่น รัฐธรรมนูญไม่ห้าม เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายก็ยังทำได้” นพ.ชลน่านวิเคราะห์

ทั้งนี้ เมื่อพลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามลายแทง “นพ.ชลน่าน” และ “วิษณุ” ระบุ อันเป็นเงื่อนไขที่จะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการยาวต่อไปได้

ซึ่งในเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 168 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไข

ในกรณีที่ 1.ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 อาทิ ตาย, ลาออก, สภาลงมติไม่ไว้วางใจ, ใช้สถานะแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ, ถือหุ้นในเอกชนเกิน 5%

2.สภาครบวาระ หรือยุบสภา 3.ครม.ลาออกทั้งคณะ และ ข้อ 4 ให้ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย (ดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี)

ทั้ง 4 ข้อ รัฐธรรมนูญอนุญาตให้อยู่ “รักษาการ” จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

เว้นก็แต่นายกฯพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 ประกอบมาตรา 170 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามรับสมัครเลือกตั้ง หรือขัดกับมาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

“นายกฯถึงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้”

ถัดมา “รัฐบาลรักษาการมีอำนาจแค่ไหน-อย่างไร” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนด “ข้อปฏิบัติ” ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี พ้นตำแหน่งจากการ “ยุบสภา หรือสภาครบวาระ 4 ปี” ไว้ดังนี้

1.ไม่อนุมัติโครงการ หรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่กำหนดไว้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2.ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เว้นแต่ กกต.อนุมัติ

3.ไม่อนุมัติงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉิน-จำเป็น เว้นแต่ กกต.อนุญาต

4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ กระทำอันใดที่มีผลต่อการเลือกตั้ง หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ระเบียบของ กกต.

แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี โดยไม่เกี่ยวกับการยุบสภา หรือสภาครบวาระ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่ง “รักษาการ” แต่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็ยังมี “อำนาจเต็ม” เหมือนนายกฯตามปกติ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ

ซึ่งจะโยงมาถึงกระบวนการเลือกนายกฯใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในบทเฉพาะกาลรัฐมนตรีมาตรา 272 ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯได้ด้วย

ทั้งยังมีอีกหลายขั้นตอน ประกอบด้วย สภาเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองที่เสนอไว้ตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมด ณ ตอนนี้คือ 48 คน ในการเสนอชื่อ

การลงคะแนนเลือกนายกฯ ต้องทำโดย “ขานชื่อ” เปิดเผย และต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว. ตอนนี้คือ 363 คน จาก 726 คน (ส.ส. 477 คน ส.ว. 249 คน)

แต่ถ้าไม่สามารถเลือกนายกฯในบัญชีของแต่ละพรรคการเมืองได้ สมาชิกทั้ง 2 สภา ส.ส.-ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ 363 คน สามารถเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติ “ยกเว้น” ไม่ต้องเสนอชื่อ “นายกฯในบัญชี” ของแต่ละพรรคได้

จากนั้นเมื่อรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 (484 เสียง) ให้สภาเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ แล้วค่อยดำเนินการเลือกนายกฯในขั้นตอนตามปกติก่อนหน้านี้

ถ้าเสียงไม่พอ ก็เลือกนายกฯ ต่อไปไม่ได้ รัฐบาลรักษาการ ทำหน้าที่ต่อ ทั้งนี้ ยังไม่นับประเด็นการ “ยุบสภา” ในช่วงที่ไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง รัฐบาลอาจออกพระราชกำหนดมาบังคับใช้แทนในการเลือกตั้ง

ดังนั้น ผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ ยังกุมความได้เปรียบ แม้จะมี-ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯก็ตาม