ถอดรหัสคำร้องฝ่ายค้าน ล้ม ประยุทธ์ นายกฯ 8 ปี ในศาลรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปมวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังมาถึง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สำคัญทางการเมือง เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 กำหนดไว้ว่า ห้ามเป็นนายกรัฐมนตรี “เกิน 8 ปี”

ซึ่งนั่นกำลังกลายเป็น “วาระเดือด” การเมือง เพราะในความจำของคนไทย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาตั้งปี 2557 จนถึงศักราชนี้ 2565 ก็ครบ 8 ปี

แต่จะนับตั้งแต่ตอนไหนกันแน่ ยังเป็นคำถาม

1.นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ครั้งแรก 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งครบวาระ 24 สิงหาคม 2565

2.นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ คือ 6 เมษายน 2560 ซึ่งครบวาระ 6 เมษายน 2568

หรือ 3.นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่สอง 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งครบวาระ 9 มิถุนายน 2570

ทางหนึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมประชุม เพื่อมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีดังกล่าวหรือไม่ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม

ฝ่ายค้าน 6 พรรคยื่นประธานสภา ส่งศาล รธน.วินิจฉัย

อีกทางหนึ่ง ฝ่ายค้าน 6 พรรค ปักธงเชื่อว่า วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ระดม 171 รายชื่อ ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ในคำร้องของพรรคฝ่ายค้าน ที่ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ยกเหตุผล-เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ต้องการให้นายกฯ อยู่เกิน 8 ปี พร้อมกับแนบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ได้แก่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณี มาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 เป็นการวินิจฉัยคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณีนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือครองหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด หรือไม่ 

ซึ่งฝ่ายค้านยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวมาเทียบเคียงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในทำนองว่า นายดอนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558 จึงเป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐมนตรี มาก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 187 เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ “ยกเว้น” เอาไว้ให้

“เมื่อผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ ผู้ถูกร้องจึงเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งจะต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่อไป ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๗ …”

“…เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ “มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง บัญญัติยกเว้นกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๑) เท่านั้น โดยไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๘๗” จึงต้องนำมาตรา ๑๘๗ มาบังคับใช้กับนายดอน”

แปลความจากคำร้องของฝ่ายค้านได้ว่า กรณีของ “นายดอน” เทียบเคียงกับ กรณีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 264 ไม่ได้ยกเว้น ไม่ให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี มาบังคับใช้ พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องนำมาบังคับใช้กับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย เหมือนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวางหลัก ให้นำมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องการห้ามถือหุ้น 5% ในเอกชนมาบังคับใช้กับ “นายดอน” และภรรยา ทั้งที่เป็นรัฐมนตรีมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้

คำวินิจฉัยต่อมาที่ฝ่ายค้านอ้างถึงคือ คำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๒ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ที่ ๑, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ ๒, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ ๓, และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ที่ ๔

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก 4 รัฐมนตรีดังกล่าว ในรัฐบาล คสช.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ก็ต้องนำในมาตรา 186 และมาตรา 187 มาบังคับใช้ด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญวางหลักเดียวกับคดีถือหุ้นของนายดอน

“ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง บัญญัติยกเว้นกรณีความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) เฉพาะกรณีตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๑) เท่านั้น โดยมิได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๘๖ ประกอบมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสาม และมาตรา ๑๘๗ แต่อย่างใด”

“ดังนั้น รัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ และต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ และมาตรา ๑๘๗ มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีดังกล่าวด้วย โดยจะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี”

จึงเป็น “เหตุและผล” ของ 6 พรรคฝ่ายค้าน ที่มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพ้นจากตำแหน่ง

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ VS ข้อเท็จจริง

ในบทสรุป “คำร้อง” ของฝ่ายค้าน ยังมีว่า ข้ออ้างทำนองว่า ต้องไปเริ่มนับความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจากวันที่ 6 เมษายน 2560 แทน เพราะเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ หรือต้องไปเริ่มนับวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เพราะเป็นวันที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 นั้น

นอกจากจะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและไม่ต้องการเอื้อโอกาสให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปแล้ว ยังเป็นการตีความที่ขัดกับประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557

“และขัดแย้งกับบทบัญญัติที่ชัดแจ้งของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 อีกทั้งยังขัดแย้งกับบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยที่ 5/2561 และคำวินิจฉัยที่ 7/2562 ที่วินิจฉัยเรื่องเดียวกันไว้ด้วย ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เกิน 8 ปี”

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การนับวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะอ้างเป็นวันที่ 6 เมษายน 2560 หรือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ก็ตาม ย่อมขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนที่รับรู้ตรงกันว่าพลเอกประยุทธ์ เริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

“และเริ่มเข้าบริหารราชการแผ่นดินและปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ข้ออ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และย่อมส่งผลเสียต่อทั้งประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติและต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง รวมทั้งยังจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ฝ่ายกฎหมาย เพื่อไทย หวั่น มาตรา 158 จะไร้ความหมาย

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 1.มาตรา 158 วรรคสี่ ห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี มาตรานี้ไม่ได้บอกว่าเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับไหน ขอแค่ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็นับแล้ว 2.ผมเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมประกาศว่าขอเป็น 2 สมัย เพราะอนุญาตให้เป็น 2 สมัย หลังจากพ้นตำแหน่ง ผมก็มาอยู่ทางการเมือง

มีการแก้กฎหมายมหาวิทยาลัย โดยไปเขียนกฎหมายในบทเฉพาะกาลว่า อธิการบดีดำรงตำแหน่งได้ 2 วาระ แล้วไปเขียนว่า ที่เป็นมาแล้วไม่นับ แปลว่าเขาไปพูดกันในกรรมาธิการให้ช่วยเขียนอย่างนี้หน่อย เท่ากับว่าอธิการบดีคนนั้นเป็นมาแล้ว 2 วาระตามกฎหมายเก่า แล้วมาเป็นอีก 2 วาระตามกฎหมายใหม่ เบ็ดเสร็จแล้วเป็นอธิการบดีได้ 14 ปี

ผิดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แก้กฎหมายเหมือนกัน แต่เขาเขียนว่าที่เป็นอธิการบดีมาแล้วนับ แม้คุณจะเป็นมาปีสองปีก่อนหน้านี้ก็นับด้วย นี่คือตัวอย่างของการเขียนกฎหมาย

“ดังนั้น โดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นฉบับไหน แล้วแถมในบทเฉพาะกาลบอกว่านายกรัฐมนตรีที่เป็นมาก่อน ให้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ เพราะฉะนั้น คุณเป็นนายกฯ มาก่อนกี่ปี ก็เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็นับรวมด้วย ถ้าตีความเป็นอย่างอื่น ผมกราบเรียนว่า จะกลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งมากกว่า 8 ปี มาตรา 158 จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง”

ชูศักดิ์กล่าวว่า วิถีทางประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ การกำหนดเรื่องวาระ ระยะเวลา เป็นวิถีทางประชาธิปไตย แต่แน่นอนคนที่มาโดยเผด็จการทั้งหลาย เขาไม่รู้จักหรอกว่าวิถีทางประชาธิปไตยเป็นเช่นไร พี่น้องประชาชนต้องสอนให้เขารู้ว่า นี่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่คนทั้งโลก ที่คนทั้งประเทศเขายอมรับนับถือว่าควรปฏิบัติเช่นนี้

“ประเทศนี้มักมีข้อยกเว้นทั้งหลายควรจะต้องสิ้นสุดไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือขวากหนามสำคัญของการขัดขวางประชาธิปไตย ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ อย่าหวังเลยครับว่าอนาคตเราจะเป็นประชาธิปไตย”

ชะตากรรมทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอีกครั้ง