นายกฯ รักษาการ อีกข้อถกเถียงก่อน 24 สิงหา

นับถอยหลังสู่วันที่ 24 ส.ค. ซึ่งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักกฎหมาย และนักวิชาการบางส่วนมองว่าเป็นวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี แม้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับคำร้องและมีคำวินิจฉัยใด ๆ ในประเด็นนี้ ทว่าเริ่มมีคำถามถึงฉากทัศน์ต่อไปว่านับจากวันพุธหน้าว่า พล.อ. ประยุทธ์ทำอะไรได้-ไม่ได้ และใครจะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ

เมื่อ 3-4 เดือนก่อน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยแจ้งต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า เมื่อใกล้ถึงวันที่ 24 ส.ค. คงมีคนยื่นตีความแน่ ๆ พร้อมระบุว่า “ในระหว่างนี้ต้องบริหารราชการไปตามปกติ จนกว่าศาลจะสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 82” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาที่มีการฟ้องร้องกัน บางคดีศาลสั่งให้หยุด บางคดีศาลก็ไม่ได้สั่งให้หยุด

นายกฯ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สำหรับมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ว่า หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทําไปก่อนพ้นจากตําแหน่ง

วันที่ 19 ส.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งลงนามในคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะยื่นคำร้องต่อศาลได้ในช่วงเช้า 22 ส.ค.

วิษณุตีความ ประยุทธ์รักษาการได้แม้ศาลสั่งครบ 8 ปี

วันเดียวกัน นายวิษณุ ผู้เป็น “มือกฎหมายของรัฐบาล” ถูกสื่อมวลชนสอบถามข้อกฎหมายในหลายประเด็น

หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่า หาก พล.อ. ประยุทธ์ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ คนที่ขึ้นมารักษาการนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่

“เอาตรง ๆ คือ พล.อ. ประยุทธ์ยังรักษาการได้” นายวิษณุกล่าวและอธิบายต่อว่า ในกรณีที่นายกฯ จะรักษาการไม่ได้ จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 และมาตรา 169 ที่ระบุว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีกระทำผิด ไม่ให้นายกฯ รักษาการ หรือถ้าคนที่กระทำผิดคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม. ก็รักษาการไม่ได้ แล้วให้ปลัดกระทรวงทั้งหมดขึ้นมารักษาการ

วิษณุ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

รองนายกฯ ด้านกฎหมายกล่าวว่า หากนายกฯ พ้นด้วยกรณีอื่น นายกฯ ยังรักษาการได้ เหมือนกับกรณีนายกฯ ยุบสภา หรือนายกฯ ลาออก

“นายกฯ ถูกศาลสั่งว่าครบ 8 ปีแล้วต้องออก ก็ยังรักษาการได้ แต่นายกฯ อาจจะขอไม่รักษาการ ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็จะมาเป็น สร.2 คือ พล.อ. ประวิตร” นายวิษณุกล่าว

ถึงแม้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าครบ 8 ปี แล้วให้พ้นจากตำแหน่ง นายวิษณุชี้ว่านายกฯ ก็ยังต้องรักษาการ จนกว่าประธานรัฐสภาจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่

ในระหว่างที่รักษาการ ยังสามารถประกาศยุบสภาได้ โดยนายวิษณุได้ยกตัวอย่างสมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา เมื่อยุบสภาแล้ว ยังสามารถปรับ ครม. ได้ เพราะขณะนั้นใน ครม. มีความขัดแย้ง จึงต้องปรับ ครม. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่

ฝ่ายค้านเห็นตรงกัน ชี้รักษาการไม่ได้เพราะ 4 กรณีเท่านั้น

สอดคล้องกับความเห็นของ ส.ส. ฝ่ายค้าน อาทิ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ระบุตรงกันว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ พ้นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี พล.อ. ประยุทธ์ยังรักษาการในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้

นักการเมืองฝ่ายค้าน เจ้าของคำร้องตีความสถานะนายกฯ 8 ปี ชี้ว่า กรณีที่นายกฯ ไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้มี 4 กรณีเท่านั้นคือ

  • ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98
  • มีความไม่ซื่อสัตย์ไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)
  • ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบิตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
  • ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ

“พล.อ. ประวิตรจะรักษาการนายกฯ ได้ ก็ต่อเมื่อศาลสั่งให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนจะมีคำวินิจฉัยออกมา” นพ. ชลน่านกล่าวตั้งแต่วันยื่นคำร้องต่อประธานสภา

ฝ่ายค้าน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สมชัยไปอีกทาง เป็นความผิดเฉพาะตัว-รักษาการไม่ได้

อย่างไรก็ตามมีผู้เห็นว่าการตีความอย่างนายวิษณุว่าให้ พล.อ.  ประยุทธ์รักษาการนายกฯ ต่อไปได้ จนกว่าที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติเลือกนายกฯ คนใหม่ อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย (สร.) และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้คำว่า “เนติบริการอย่ามั่ว”

เขาประกาศความเห็นผ่านกระดานเฟซบุ๊กส่วนตัววันนี้ (20 ส.ค.) ว่า ความผิดของนายกฯ เป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่สามารถรักษาการต่อได้ เทียบเคียงกรณีนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำผิดกรณีใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการระดับสูงและแต่งตั้งเครือญาติเข้าไปทำงานแทน เป็นความผิดเฉพาะตัวตามมาตรา 182 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งขณะนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้ว อยู่ระหว่างรักษาการ เมื่อเป็นความผิดเฉพาะตัว ก็ไม่สามารถรักษาการได้ ครม. จึงมีมติมอบหมายให้นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทน

นายสมชัยระบุด้วยว่า หากนายกฯ ไม่สามารถรักษาการได้ ต้องดำเนินการตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ในกรณีที่มีรองนายกฯ หลายคน ให้ ครม. มอบหมายรองนายกฯ คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ไม่ใช่เป็น สร. 2 โดยอัตโนมัติ

สำหรับมาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความใน พ.ร.บ. นี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

นายกฯ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“นายกฯ รักษาการ” กับ “รักษาการนายกฯ”

คำว่า “นายกฯ รักษาการ” กับ “รักษาการนายกฯ” นั้นไม่เหมือนกัน บีบีซีไทยขอนำข้อกฎหมายมาอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ เพื่อสะดวกแก่การทำความเข้าใจ ดังนี้

หากเอาความเห็นของนายวิษณุ-ฝ่ายค้านที่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ยังรักษาการได้ เป็นตัวตั้ง กรณีเช่นนี้เรียกว่า นายกฯ รักษาการ คือนายกฯ คนเดิมพ้นจากตำแหน่ง แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยนายกฯ รักษาการ ยังมีอำนาจเต็มทุกประการ

ต่างจาก รักษาการนายกฯ ที่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายกฯ คนเดิมไม่อยู่/ไม่มี จึงต้องคัดเลือกบุคคลอื่นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เช่น การเลือกรองนายกฯ ประวิตรมาเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ

โดยปกติ เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นและมีการประชุม ครม. นัดแรก ที่ประชุม ครม. จะมีมติมอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนกัน โดยทั้งหมดนี้จะออกมารูปแบบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี และอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เช่นกัน

สำหรับการมอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ล่าสุดเป็นไปตามมติ ครม./คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 13 ส.ค. 2563

ในกรณีที่นายกฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ครม. มอบหมายให้รองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้ 1. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2. นายวิษณุ เครืองาม 3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 237/2563 ระบุว่า ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกฯ ผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกฯ ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ เสียก่อน

ลุงป้อม

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตรก็เคยเป็นรักษาการนายกฯ มาหลายครั้งในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ แต่เป็นกรณีที่ “มีนายกฯ ตัวจริง แต่นายกฯ ไม่อยู่ในประเทศ” และหมดสภาพรักษาการทันทีที่นายกฯ คนที่ 29 กลับถึงเมืองไทย

ทว่าหากเป็นรักษาการนายกฯ เพราะนายกฯ 8 ปีพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุเคยกล่าวไว้หลายครั้งว่า “ถ้าอย่างนั้น ผู้รักษาการก็เป็นไปตามลำดับที่เรียงไว้ คนแรกคือ พล.อ. ประวิตร” ทั้งนี้ผู้รักษาการนายกฯ ก็จะทำหน้าที่แทน จนกว่านายนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยต้องเลือกจากแคนดิเดตนายกฯ  ในบัญชีของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง 2562 ซึ่งมีอยู่ 5 รายชื่อที่คุณสมบัติยังครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัยเกษม นิติสิริ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

สำหรับบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา หรือ 364 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 727 คน (ส.ว. 250 คน และ ส.ส. 497 คน)

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว