นายกฯ 8 ปี ให้จบที่ศาล ไม่นับวาระย้อนหลัง อดีตตุลาการศาลชี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพ : www.thaigov.go.th

อดีตรองประธาน กรธ. ยันวาระนายกฯของประยุทธ์ เริ่มต้นวันโปรดเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ 60 แจงเอกสารบันทึกการประชุม กรธ.แค่ความเห็นของคน 2 คน บทสรุปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 นายสุพจน์ ไข่มุกต์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่ 1 และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงเอกสารบันทึกการประชุมของ กรธ. ที่มีความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. และความเห็นนายสุพจน์ ที่ระบุว่า ควรนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2560 รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

ทั้งนี้ นายสุพจน์ชี้แจงว่า เท่าที่จำได้เป็นบันทึกการประชุมดังกล่าว เป็นบันทึกซึ่งเปิดเผย ไม่ใช่บันทึกลับ นอกจากนี้ เปิดเผยตามห้องสมุดทั่วประเทศ รวมถึงห้องสมุดรัฐสภา จึงไม่ใช่บันทึกลับ อย่างไรก็ตาม การที่ไปเจาะจงนายมีชัยกับตน มาเปิดเผย คิดว่าเป็นการนำตำแหน่งมาดึงดูดความสนใจมากกว่า ส่วนเรื่องบันทึกการสนทนา มีการคุยกันร่วม 30 คน ไม่ใช่สนทนาแค่ 2 คน การคุยกันเป็นการคุยทั้งคณะ การมาจับคำพูดแค่ 2 คน ไม่ถูกต้อง คิดว่ามีประเด็นบางประการซ่อนอยู่

สุพจน์ ไข่มุกต์
สุพจน์ ไข่มุกต์

ทั้งนี้ เอกสารเป็นการบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติการประชุม ซึ่งบันทึกการประชุมมีความเห็นที่หลากหลาย หากดูตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 มีหลายวรรค หลายตอน เราจะไปเจาะเพียงท่อนใดท่อนหนึ่งไม่ได้ เพราะกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กับตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เหมือนกัน

โดยรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดขั้นตอนให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ 3 ชื่อ เมื่อประชาชนเลือกพรรคนั้นได้รับเลือกมาเป็นเสียงข้างมากในสภา ก็ให้เสนอชื่อนายกฯ เมื่อสภาเลือกนายกฯ แล้วให้ประธานสภาเสนอชื่อนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นขั้นตอนเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติด้วย

“ดังนั้นที่จะบอกว่านับวาระนายกฯ ตอนไหน ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะรัฐสภาเลือกขึ้นมา และรัฐสภาคือผู้แทนปวงชนไทย ซึ่งความเห็นของผมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคหนึ่งพรรคใด เพราะตอนนั้นที่เราพูดคุยกันยังไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นนายกฯ เมื่อเป็นบุคคลท่านนี้ขึ้นมาปั๊บ ก็อาจจะคิดว่าผมไปนิยมชมชื่นนายกฯปัจจุบัน แต่ถ้าดูรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ก็เป็นไปตามขั้นตอนของมัน ถ้าตีความตามหลักนิติรัฐก็ชัดเจนเลย แม้ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ต้องเอาหลักนิติศาสตร์เป็นหลัก” นายสุพจน์กล่าว

นายสุพจน์กล่าวว่า ในความเห็นไว้คือ การเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ให้นับวันที่โปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 แต่ทุกอย่างให้ไปตัดสินที่ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนความเห็นในบันทึกการประชุมเมื่อปี 2561 เป็นแค่ความเห็นเริ่มแรกเพียงไม่กี่คนไม่ใช่มติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นี่เป็นความเห็นทั่ว ๆ ไป ซึ่งใครก็สามารถไปจับคำพูดเฉพาะบุคคลออกมา

เมื่อถามว่าความเห็นส่วนตัว สามารถอ่านจากบันทึกการประชุมได้หรือไม่ นายสุพจน์กล่าวว่า เป็นความเห็นแรกเริ่มยังไม่ได้ฟังความเห็นของคนอื่นเลย และเรายังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ยังมีรายละเอียดหลากหลายเยอะแยะไปหมดในบันทึกการประชุม


“ยึดมติของ กรธ.เป็นหลัก เพราะจะไปยึดความเห็น 2 คนที่พูดมาตอนแรก ๆ ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียดหรอก แต่เขาจับมากระเดียดเสียนี่จึงกลายเป็นประเด็น เพราะจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแท้ ๆ เริ่มตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งระบุชัดเจน แต่ขอให้ลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายสุพจน์กล่าว