สภาล่ม คว่ำกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญ ล็อบบี้ล้มสูตรเลือกตั้งหาร 500

ส.ส.ฝ่ายค้าน รัฐบาล ล็อบบี้วุ่น สภาล่ม คว่ำกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญ ล้มสูตรเลือกตั้งหาร 500

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ซึ่งมีทั้งสิ้น 12 มาตรา การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวตลอดทั้งวัน บรรยากาศในห้องประชุมอยู่ในสภาพเงียบเหงา มี ส.ส.นั่งในห้องประชุมบางตา

อีกทั้งการพิจารณาแต่ละมาตราเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากมีสมาชิกขอแปรญัตติ และสงวนความเห็นในการอภิปราย แทบทุกมาตรา แต่ที่สำคัญในการลงมติแต่ละครั้ง ประธานในที่ประชุมต้องทอดเวลาให้สมาชิกทยอยเข้าห้องประชุมมาลงมติ นานประมาณ 10-20 นาที

โดยเฉพาะช่วงที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน ต้องขอให้ ส.ส.ที่อยู่ในห้องประชุมกดปุ่มแสดงตัว และขอให้รอสมาชิกทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ทยอยเข้าห้องประชุมจนกว่าจะครบองค์ประชุม โดยไม่มีการปล่อยให้สภาล่ม ขณะเดียวกัน มี ส.ส.ที่เข้าห้องประชุมแล้ว และยังไม่ยอมแสดงตน โดยนายชวนได้ตำหนิพร้อมขอให้แสดงตนเป็นระยะ ๆ โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.เสนอให้ ลงมติโดยการขานชื่อ

ขณะที่การพิจารณามาถึงมาตราที่ 8 แล้วมีการลงมติ นายชวนต้องรอให้มีการมาลงมติเกิน 30 นาที เพราะเกรงว่าไม่อยากให้รัฐสภาเสื่อมเสีย แต่องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ กระทั่งนายชวนต้องบอกว่าให้เวลาจนถึง 17.00 น. ถ้ายังไม่ครบจะมีการปิดประชุม ขณะที่มีการเสนอให้นายชวนทดเวลาบาดเจ็บ ส่วนบริเวณที่นั่งของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ก็มี ส.ส.นั่งอยู่ประมาณ 3-4 คนเท่านั้น

เมื่อถึงเวลา 17.00 น. นายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีองค์ประชุม 357 คน ขาดอยู่ 7 คนถึงจะครบองค์ประชุมที่จำนวน 364 คน โดยตนได้ใช้เวลารอมาทั้งหมด 53 นาที ในเมื่อถึงเวลา 17.00 น.แล้ว ตนต้องขอขอบพระคุณสมาชิกทุกคนที่กรุณาให้เวลาอดทนรอคอยอย่างจริงใจ ในวันนี้เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ต้องขอจบการประชุมแต่เพียงเท่านี้ จากนั้น ประธานสภาจึงได้สั่งปิดประชุมในเวลา 17.02 น.

อย่างไรก็ตาม ด้านนอกห้องประชุมรัฐสภา มีกระแสข่าวตั้งแต่ช่วงเช้าว่า ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการตามให้ ส.ส.เข้าประชุมมาโหวตกฎหมายเหมือนปกติทั่วไป ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ส่งสัญญาณในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า จะไม่เข้าไปยุ่งกับการแก้กฎหมายลูก เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก

โดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหวังว่าจะกลับไปใช้สูตรหาร 100 เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลตั้งใจให้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังแก้ไขกันอยู่ต้องตกไปโดยอัตโนมัติ หลังครบกำหนด 180 วัน ในวันที่ 15 สิงหาคม

ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) ระบุว่า ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา ซึ่งร่างที่รัฐสภาใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาคือร่างของ กกต.ที่ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐอธิบายว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้บังคับให้ ส.ส.เข้าห้องประชุมสภา โดยหวังว่าจะให้สภาล่ม เพื่อดึงให้กฎหมายลูกให้ตกไปหลังจากครบกำหนด 180 วัน เพราะพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่อยากได้หาร 100 แต่พรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.เอนเอียงไปทางฝ่ายสูตรคำนวณหาร 500

แหล่งข่าวจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเกมพวกฝ่ายรัฐบาลตกลงกันเองไม่ได้ ว่าจะใช้สูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500 สถานการณ์จึงเละเทะ ออกทะเลกันแบบนี้ ใน ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็มีการคุยกันว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องเข้าเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ปล่อยให้ฝ่ายรัฐบาลรับผิดชอบกันเอง เพราะพรรคเพื่อไทยจะเลือกสูตรไหนก็พร้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระในการประชุมถัดไปจะเป็นการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ต่อเนื่องในมาตราที่ 24/1 ภายหลังที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน

ได้ขอถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกไป เพื่อแก้ไขมาตรา 24/1 ให้สอดคล้องกับมาตรา 23 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากหาร 100 มาเป็น หาร 500 และมาตรา 26 ที่กำหนดให้หากมีการเลือกตั้งซ่อม จะต้องมีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่จนกว่าจะครบ 1 ปี หลังเลือกตั้ง เว้นแต่การเลือกตั้งซ่อมนั้นเป็นเพราะการทุจริตเลือกตั้ง

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …. ว่าเรามีความกังวลใจว่าร่าง พ.ร.ป.จะถูกดึงให้พ้นกรอบ 180 วัน หรือวันที่ 15 สิงหาคม 2565 จนต้องไปเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อการมีกฎหมายลูกก่อนจะมีการเลือกตั้ง

หากมีการเลือกตั้งก่อนกฎหมายลูกจะแล้วเสร็จ จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะมีช่องว่างหลายอย่างที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถกำหนดกฎเกณฑ์กติกาในการเลือกตั้งได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทุกฝ่าย และทุกคน ตนจึงอยากให้พิจารณากฎหมายลูกจบอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่เห็นด้วยกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้พรรคก้าวไกลก็พร้อมจะทำหน้าที่ในทุกรูปแบบที่ออกมาในที่สุด ไม่ว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะหาร 100 หรือหาร 500 ประชาชนจะเป็นผู้ชี้ขาดอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เข้าใจว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมปัจจุบันจะมี 2 ครั้งสุดท้ายในวันที่ 9 และ 10 สิงหาคม แต่ปรากฏว่า นายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ายังไม่มีการตกลงกัน เนื่องจากในสัปดาห์หน้าวุฒิสภาจะมีการประชุมนัดพิเศษ ดังนั้น วิปทั้ง 3 ฝ่ายได้นัดมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2565