พลิกเกมสูตรเลือกตั้ง หาร 500/100 จบในศาลรัฐธรรมนูญ ต่ออายุ ประยุทธ์ อีกสมัย

3 ป.

สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 หาร 500 ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง ทั้งที่อยู่ระหว่างกลางศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4

หลัง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ออกมา “จุดพลุ” ส่งสัญญาณการเมืองว่า สูตรหารด้วย 500 น่าจะอยู่ไม่ได้ และจะมีปัญหาตามมาทีหลัง เพราะย้อนแย้งกัน ทั้งนี้ ตนได้พูดคุยกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคก้าวไกลบางคน แต่ละคนเริ่มเห็นคล้อยตามกับที่ตนคิดไว้

แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้ขัดกฎหมาย แต่สมมุติว่าจำนวน ส.ส.ที่จะได้คือจำนวนผู้ที่เลือกบัญชีรายชื่อและหารด้วย 500 จะได้ ส.ส.พึงมี แต่ถ้าได้ ส.ส.เขตมากกว่า ดังนั้น ผลจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“สมมุติพรรคภูมิใจไทยอาจจะได้ ส.ส. 50 เขต แต่บัญชีรายชื่อได้ 5 ล้านเสียง เท่ากับว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่ได้เลย และถ้าเขาได้ ส.ส. 60 คน คงไม่พอใจ เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ”

ที่มาสูตรหาร 500

ย้อนความไปก่อนหน้านี้วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หารือกับรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรค-แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ถึงการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าควรจะใช้สูตรหาร 100 หรือหาร 500

เมื่อวงถกกับนายกฯ เคาะสูตร 500 จึงส่งสัญญาณไปที่การประชุมรัฐสภาในวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติโหวตเปลี่ยนสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 ที่อยู่ในเนื้อหาร่างกฎหมายเดิม ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะเจ้าของร่าง ส่งผ่านมาที่คณะรัฐมนตรีแล้วนำเข้าสู่สภา

อีกทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. …ที่พิจารณาในชั้นแปรญัตติยังยืนยันสูตรหาร 100

แต่เมื่อวงถกนายกฯระหว่างการประชุม ครม. ส่งสัญญาณมาถึงที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 6 กรกฎาคมให้คว่ำสูตรหาร 100 แล้วมาใช้สูตรหาร 500 เหมือนที่เคยใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 เหตุผลก็เพราะพรรคเล็กที่เป็นฐานกำลังของรัฐบาลได้ประโยชน์ พรรคขนาดกลางก็ไม่เสียเปรียบมากนัก

สำคัญคือ ป้องกันแผนแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยที่ได้เปรียบจากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100

รัฐสภาจึงมีมติใช้สูตรหาร 500 ด้วยเสียง 392 ต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

พลิกสองตลบกลับสูตรหาร 100

แต่ปรากฏว่าคล้อยหลังการโหวตไปประมาณ 2 สัปดาห์ บรรดานักการเมืองฟากรัฐบาลตั้งสติได้แล้วลองไปคำนวณใหม่ กลับพบว่าสูตรหาร 500 แบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีแต่ “เสีย” มากกว่า “ได้” เพราะสูตรหาร 500 ครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ มีบัตรแบบ ส.ส.เขต และบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่างจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ใช้สูตรหาร 500 แต่เป็นบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ กาครั้งเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

20 กรกฎาคม 1 วันก่อน “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ออกมาจุดพลุเปลี่ยนสูตรอีกรอบ

แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทยสืบทราบมาว่า เขา (ฝ่ายรัฐบาล) จะคว่ำสูตรหาร 500 แล้ว ไม่เอาแล้วสูตรหาร 500 เพราะเขาลองคำนวณแล้วว่าพรรคเล็กก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่กับสูตรคำนวณหาร 500 ที่สำคัญพรรคภูมิใจไทยเผลอ ๆ จะเหมือนพรรคเพื่อไทยตอนการเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ได้ ส.ส.

แกนนำเพื่อไทยรายนี้คำนวณตามสูตรหาร 500 เล่น ๆ ว่า สมมุติว่าพรรคภูมิใจไทยได้คะแนน 3 ล้านเสียง นำมาหารด้วย 7 หมื่นคะแนน เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคภูมิใจไทยพึงมี ก็จะได้ ส.ส.ประมาณ 42 ที่นั่ง แต่คาดการณ์ว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.เขตเต็มที่ 42 เขต เมื่อนำ ส.ส.เขตมาลบกับจำนวน ส.ส.พึงมี เพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงเท่ากับว่า พรรคภูมิใจไทยจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย

สูตรคำนวณของแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ต่างจากที่พรรคภูมิใจไทยนำไปคำนวณ

21 กรกฎาคม “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยยอมรับว่า ผมลองไปหารเล่น ๆ ผมอาจจะไม่ได้เป็น ส.ส.เพราะมันไม่เหลือ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ผมเลย ก็ไม่เป็นไรถือว่าสิ่งสำคัญคือผู้แทนราษฎรได้รับการเลือกตั้งโดยตรงมาจากพื้นที่ เขาจะสามารถทำงานให้กับพื้นที่ได้ ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อเราก็จะพยายาม แต่ดูวิธีหารแล้วก็ยาก

ขณะที่แหล่งข่าวในพรรคภูมิใจไทย ตัวแทนของ “อนุทิน” ในสภาบอกว่า “พรรคภูมิใจไทย” ยังไงก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่เบื้องต้นเราควรเดินสูตรหาร 500 ไปให้สุดทางก่อน โดยการปรับแก้มาตราต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสูตรหาร 500 เมื่อส่งไปให้ กกต.ตรวจสอบแล้ว กกต.ว่าอย่างไรค่อยมาปรับตามนั้น

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้หารือกับขุนพลฝ่ายนิติบัญญัติของพรรคภูมิใจไทย บอกเส้นทางสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลังจากนี้ว่า หลังจากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งฉบับในวาระ 3 แล้ว ไม่ว่าจะเลือกสูตรหาร 500 หรือสูตรหาร 100 ก็ต้องส่งไปให้ กกต.ตรวจสอบเพื่อพิจารณาว่า กกต.สามารถคิดคำนวณแล้วมีปัญหาหรือไม่

ถ้า กกต.เห็นว่าสูตรหาร 500 มีปัญหาในทางปฏิบัติ เห็นสมควรให้แก้กลับไปใช้สูตรหาร 100 ก็จะแจ้งกลับมายังที่ประชุมรัฐสภาว่าจะยืนตามเดิมคือหาร 500 หรือเปลี่ยนกลับมาเป็นสูตรหาร 100

“ณ ตอนนี้ถ้า กกต.ยืนยันว่าจะต้องเป็นสูตรหาร 100 พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยก็ไม่ขัดข้องที่จะใช้สูตรหาร 100” แหล่งข่าวกล่าว

สอดคล้องกับการเปิดเผยของ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ถึงมติวิปรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ให้ทำ 2 แนวทาง 1.เห็นควรดำเนินการตามข้อบังคับพิจารณาวาระ 2 เรียงตามลำดับมาตราจนจบ ถ้ามีประเด็นอะไรที่ไม่ชอบ ขัด หรือแย้งตามรัฐธรรมนูญ

“ต้องให้รัฐสภาเสนอขอความเห็นไปยัง กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ต่อไป หาก กกต.จะยืนยันอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ กกต. แต่ส่วนตัวเชื่อว่า กกต.จะยืนยันกลับมาให้หาร 100 ตามที่เสนอร่างมาตั้งแต่ต้น”

หรือ 2.ที่ประชุมรัฐสภาเห็นควรให้แก้ไขมาตราอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรา 23 หรือมีแนวทางใด เป็นอำนาจของที่ประชุมจะพิจารณา ทั้งนี้ หาก กกต.ชี้ว่าการแก้ไขของรัฐสภาที่ให้ใช้สูตรคำนวณหารด้วย 500 ไม่ขัดและเดินหน้าต่อไป

“เชื่อว่าจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และถือเป็นที่สิ้นสุดเพราะผูกพันทุกองค์กร” นายชินวรณ์ ระบุ

ไม่ว่าจะพลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100 หรือใช้สูตรหาร 500 ก็ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญพลิกเกม

แม้ว่าในชั้นของ กกต.จะสามารถเป็น “กลไก” ในการบอกที่ประชุมรัฐสภาให้พลิกสูตรหาร 500 มาเป็นสูตรหาร 100 ได้โดยถูกต้องตามกติการัฐธรรมนูญก็ตาม

แต่หากฝ่ายที่กุมอำนาจสูงสุดทางการเมืองต้องการพลิกเกม 360 องศา หันกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวเหมือนตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพื่อต้องการทำลายความเข้มแข็งของพรรคเพื่อไทย เพิ่มโอกาสชนะต่อของรัฐบาลผสม 20 พรรค

ก็ต้องพึ่งอภินิหารของศาลรัฐธรรมนูญ

แหล่งข่าวมือกฎหมายฝ่ายรัฐบาลวิเคราะห์ว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนกลับไปใช้เลือกตั้งบัตรใบเดียว ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่บอกตรง ๆ ว่าแบบหาร 500 ผิด หรือแบบหาร 100 ผิด แต่อาจจะบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร และออก “คำบังคับ” มาให้รัฐสภาปฏิบัติตาม

ขณะที่แกนนำพรรคเล็กที่เชียร์สูตรหาร 500 สุดตัววิเคราะห์ว่า ไม่ว่าฝ่ายไหนแพ้ (หาร 100 หรือหาร 500) ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจิฉัย

แต่ถ้าฝ่ายการเมืองจะ “เปลี่ยนเกม” กลับไปใช้สูตรหาร 500 สามารถทำได้ง่ายนิดเดียว คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เปิดทางให้ใช้ได้ทั้งสูตรหาร 500 และสูตรหาร 100 โดยใส่คำว่า “สัมพันธ์ทางตรง (หาร 100 ตามจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ) หรือสัมพันธ์ทางอ้อม (หาร 500 ตามจำนวน ส.ส.ทั้งสภา)” แต่ถ้าจะกลับไปใช้บัตรใบเดียวแล้วหาร 500 ก็ต้องยกเครื่องกันหลายมาตรา

เร่งสปีด ยังไงก็ทัน

ในเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนเกมนั้น “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมเอกสารกว่า 1 พันหน้า พร้อมขึ้นศาลรัฐธรรมนูญยืนยันหลักการหาร 100 ในฐานะที่เป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เปลี่ยนจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตร 2 ใบ ต้นร่างหาร 100

แต่ถ้าพลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100 ฝ่ายที่สนับสนุนหาร 500 ก็จะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่างกัน

“ไพบูลย์” ชี้ทางออกให้ “ฝ่ายการเมือง” ว่า หากฝ่ายการเมืองต้องการ “หาร 500” ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรใบเดียว-ส.ส.พึงมีและหารด้วย 500

“ถ้าฝ่ายการเมืองมั่นใจว่ามีเสียงข้างมาก ก็ไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวแล้วใช้หาร 500 ก็เป็นกระบวนการตามหลักนิติธรรม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันมีแต่มิติการเมืองล้วน ๆ ถ้าจะแก้อะไรก็อยู่ที่เสียงข้างมากก็ว่ากันไป รัฐธรรมนูญเขียนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้วในมาตรา 256”

ในทางเทคนิค-ไทม์ไลน์อายุของสภาจะมีการเลือกตั้งหลังจากครบวาระ 23 มีนาคม 2565 ภายใน 45 วัน การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทันหรือไม่ “ไพบูลย์” บอกว่า “ยิ่งช้ายิ่งไม่ทัน ในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เขียนไทม์ไลน์ไว้อยู่แล้วว่าการแก้ไขจะต้องเสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ถ้าเป็นการเมืองก็ทำได้อยู่แล้ว”

ดังนั้น บัตร 2 ใบ หาร 500 ก็มีทั้งปัญหาเรื่องขัด-ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แถมพรรคเพื่อไทย “ขู่” แตกแบงก์พันแก้เกมไว้แล้ว อีกทั้งสูตร “หมอระวี” ยังมีสูตรเทียบบัญญัติไตรยางศ์ลดทอนจำนวน ส.ส.พรรคเพื่อไทยอาจเจ็บตัวแต่ไม่ถึงกับไร้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส่วนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หาร 100 ก็มีปัญหา ยิ่ง “สานฝัน” แลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย

ทางเดียว ทางรอด ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยาก “อยู่ต่อ” ขอรอเห็นดอกผล 3 แกนหลัก อีก 2 ปีต้องย้อนกลับไปเป็นกติการัฐธรรมนูญ 2560 เลือกตั้งบัตรใบเดียวเท่านั้น !

และองค์กรที่จะเนรมิตได้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ