ไพบูลย์ เซตเกมแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ชงล้มสูตรหาร 500 เปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง

ไพบูลย์ นิติตะวัน
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … กลับลำเรือกลางสภา หลังจากผู้มีอำนาจส่งสัญญาณหักเสียงข้างมาก-คว่ำสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดใจ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสียงข้างน้อย-ลงมติไม่เห็นด้วยกับ “หาร 500” ถึงหลักการ-เหตุผลการยืนหนึ่งกับการ “หาร 100”

ล้มสูตร 500 เรื่อง Amazing

อดีตประธานกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และมาตรา 91-กมธ.กฎหมายลูกเลือกตั้ง เล่าวินาทีที่เพื่อนสมาชิกรัฐสภา 392 เสียงลงมติ “เห็นด้วย” กับ “ผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติ” มาตรา 23 แก้ไขมาตรา 128 ให้กลับไป “หาร 500”

“ส่วนตัวไม่เข้าใจจริง ๆ เราไม่คิดเลยว่าจะมีการเสนอหาร 500 และมีสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากไปเห็นด้วย ในทางกฎหมายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เป็นเรื่อง amazing เหลือเชื่อจริง ๆ ว่า ไปคิดได้ยังไง”

ทว่า ในฐานะนักกฎหมาย “ไพบูลย์” ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น “นักกฎหมาย” จึงเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง “ในฐานะเป็นนักกฎหมายจะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะขัดหลักอย่างสิ้นเชิง”

“ไพบูลย์” ย้อนที่มา-ที่ไปที่ทำให้เขาไม่สามารถลงมติ “เห็นด้วย” กับ “หาร 500” ได้ ว่า เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 จากบัตรใบเดียวให้เป็นบัตรสองใบ และมาตรา 91 เกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องแก้ด้วย จึงเป็นรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ฉบับแก้ไข ให้เอาคะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ (100 คน) มาคำนวณให้มีสัดส่วน “สัมพันธ์โดยตรง”

“ต้องเอาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อมาหารให้มีสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรง ในที่ประชุม กมธ.จึงไม่มีใครคิดหรอกว่า จะหารด้วย 500 หรือหารด้วย 100 เพราะมันชัดอยู่แล้ว ไม่คิดว่าจะมีการเสนอแก้กฎหมายลูกเป็นหารด้วย 500 กลับไปเป็นรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก่อนแก้ไข และเรื่อง ส.ส.พึงมี ก็ไม่มีใครคิด เพราะคิดว่าขัดรัฐธรรมนูญแน่ ๆ คงไม่มีใครไปเสนอ หรือมีคนเสนอ แม้พรรคเล็กเสนอก็ไม่เชื่อว่าจะมีสมาชิก ส.ส. ส.ว. เสียงส่วนใหญ่ไปโหวตให้”

“มีพูดอย่างชัดเจนว่า เนื่องจากเป็นข้อความเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปี’54 แก้ไขเพิ่มเติม สมัยนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็เอาข้อความนั้นแหละมาแก้ไข ซึ่งปี’54 แก้ไขเป็นระบบที่เอา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารกับคะแนนบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัมพันธ์โดยตรง มีบันทึกไว้ในชวเลขชัดเจน”

“ขณะเดียวกันระหว่างการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 กรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อยเสนอให้เอา 500 ใช้ ส.ส.พึงมีเหมือนเดิม มาจากพรรคก้าวไกลและตัวแทนพรรคเล็ก แต่แพ้มติใน กมธ.ในสภาก็แพ้ จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็ประกาศใช้เรียบร้อย”

ยกร่างคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

ในฐานะที่ “ไพบูลย์” เคยขึ้น-ลงศาลรัฐธรรมนูญมายังโชกโชนและช่ำชองในการเขียนคำร้อง ตั้งแต่ปี’57 ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และปี’62 ยื่นผ่าน กกต.ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ รวมถึง พ.ร.บ.คำสั่งเรียกขัดรัฐธรรมนูญ และครั้งล่าสุดปี’63-ปี’64 เขาเป็นคนเขียนคำร้องผ่านสภา เรื่องการตั้ง ส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ ต้องไปทำประชามติ

ครั้งนี้ “ไพบูลย์” สวมวิญญาณ “ผู้รักษาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ” เตรียม “ยกคำร้อง” เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ “หาร 500” ขัดรัฐธรรมนูญ

“การทำหน้าที่เขียนคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทำในฐานะผู้รักษาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มิติทางการเมือง เป็นมิติทางกฎหมายเพียว ๆ ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้จบ ต้องชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

“หลักของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … มาตรา 23 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 128 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นมิติกฎหมายเท่านั้น โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาโดยยึด 3 หลัก หนึ่ง ตัวบทบัญญัติ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม สอง เจตนารมณ์การแก้ไขมาตรา 91 และสาม ประเพณีปฏิบัติตามระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามมาตรา 5 ด้วย คือ หลักนิติธรรม”

“ระบบบัตรสองใบ ประเพณีการปฏิบัติเวลาคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเห็นว่า บัตรสองใบเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี’40 ปี’50 และปี’54 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งหมดใช้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อไปหารทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องพึงมี พึงมีนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี’60 ก่อนแก้ไข ซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว”

“ดังนั้น ด้วยเหตุของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งประเพณีการปกครอง ที่เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ จึงไม่มีทางเป็นอื่นได้เลย”

“การพิจารณาแก้กฎหมายลูกเรื่องการเลือกตั้ง มาตรา 23 แก้ไขมาตรา 128 ต้องถูกกำกับด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 แก้ไขเพิ่มเติม ในทางมิติกฎหมายไม่มีทางอื่นที่จะไปแก้ให้กลายเป็นอย่างอื่นได้ ยกเว้นแก้ไปตามร่างที่ กกต.เสนอมา คือ หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนเท่านั้น”

“ดังนั้น การแก้กลับไปเป็นหาร 500 ตามรัฐธรรมนูญที่มาตรา 91 ฉบับเก่าที่ถูกแก้ไขไปแล้ว ไม่เป็นไปตามมิติกฎหมายแน่นอน แต่เป็นมิติการเมืองเพียว ๆ แม้ทำได้โดยเสียงข้างมากโดยรัฐสภา แต่ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน”

หอบเอกสาร 1 พันหน้า ร้องศาล

“ไพบูลย์” เตรียมเอกสาร-หลักฐานชวเลขและรายงานการประชุมกว่า 1,000 หน้า นำมาใส่ไว้ประกอบคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“สำหรับฝ่ายที่เสนอว่าต้องหารด้วย ส.ส.พึงมี โดยอ้างมาตรา 93 มาตรา 94 ที่มีคำว่า ส.ส.พึงมี เราจะเอาการอภิปรายแสดงความเห็นใน กมธ.ตอนจะตัดมาตรา 93 มาตรา 94 แต่ตอนหลังไม่ตัด ไม่แก้ไข ใส่ไว้เหมือนเดิม มีการอภิปรายไว้ชัดแจ้งแล้ว ว่าทำไม ไม่ต้องไปตัด ซึ่งกฤษฎีกา กกต. ซึ่งเป็น กมธ.ด้วยกันยืนยันว่า ไม่มีผลอะไร ทิ้งไว้ ไม่มีปัญหา”

“เราจะนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 93 มาตรา 94 แม้มีคำว่า พึงมี ไม่มีผลอะไรที่จะทำให้มาตรา 91 ซึ่งเป็นมาตราหลักจะต้องไปใช้ ส.ส.พึงมี คือ คำนวณ ส.ส.พึงมี หรือเอา 500 มาหาร ใน กมธ.วาระ 2 และที่ประชุมสภามีการอภิปรายระหว่างให้ความเห็นชอบมาตรา 91 มีชวเลขทั้งหมด 600 หน้า รวมเอกสารทั้งหมด 1,000 หน้าในรายงานการประชุมก็จะนำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ”

รวมถึงคำวินิจฉัยยกคำร้องของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ผู้แปรญัตติ กรณียื่นเรื่องตีความมาตรา 91 ขัดแย้งกับมาตรา 93 และมาตรา 94

ตั้งลูกฝ่ายรีเซตกติกาเลือกตั้ง

“ไพบูลย์” ชี้ทางออกให้ “ฝ่ายการเมือง” ว่า หากฝ่ายการเมืองต้องการ “หาร 500” ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรใบเดียว-ส.ส.พึงมีและหารด้วย 500

“ถ้าฝ่ายการเมืองมั่นใจว่า มีเสียงข้างมาก ก็ไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วใช้หาร 500 ก็เป็นกระบวนการตามหลักนิติธรรม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันมีแต่มิติการเมืองล้วน ๆ ถ้าจะแก้อะไรก็อยู่ที่เสียงข้างมากก็ว่ากันไป รัฐธรรมนูญเขียนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้วในมาตรา 256”

ในทางเทคนิค-ไทม์ไลน์อายุของสภาจะมีการเลือกตั้งหลังจากครบวาระ 23 มีนาคม 2565 ภายใน 45 วัน การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทันหรือไม่ “ไพบูลย์” บอกว่า

“ยิ่งช้ายิ่งไม่ทัน ในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เขียนไทม์ไลน์ไว้อยู่แล้ว ถ้าเป็นการเมืองก็ทำได้อยู่แล้ว”

ทว่า “ไพบูลย์” สวมหมวกอีกใบในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้กลับมา “หาร 100” เป็นการ “ให้โทษ” กับพรรค-พวก ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นการ “ยื่นดาบ” ให้กับพรรคเพื่อไทย แต่เขา “แยกออก”

“แยกออก เพราะนี่เป็นมิติกฎหมาย การเป็นพรรคการเมืองก็ต้องมีกลไกลตรวจสอบด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา ไม่ได้ไปในนามของรองหัวหน้าพรรค ทำในฐานะสมาชิกรัฐสภา เป็นอดีตประธาน กมธ.พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 โดยเฉพาะ ผมไม่ยื่นคำร้องสิแปลก เท่ากับผมไม่ได้ไปรักษาหลักการ เป็นการขัดต่อภาระหน้าที่โดยตรง ไม่ได้”

“กรณีนี้เนื่องจากเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากของสภาไม่ได้ตัดสินความถูกต้องด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามกลไกลการตรวจสอบเท่านั้น ไม่ได้มีอัคติใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้คิดว่า พรรคใดจะได้เสียงหรือไม่ได้เสียง ใครจะได้ ส.ส. ไม่ได้ ส.ส. จะแลนด์สไลด์หรือไม่ การเลือกตั้งจะมีผลอย่างไรไม่ได้เกี่ยวทั้งสิ้น อันนั้นเป็นมิติการเมือง

แต่ถ้าไปแก้รัฐธรรมนูญกันเมื่อไหร่ เสนอมิติการเมืองได้เต็มที่ จะแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตรใบเดียวใหม่ แล้วหา ส.ส.พึงมี หารด้วย 500 บอกแล้วว่ามีช่อง ก็ไปแก้รัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามอย่างที่ตัวเองชอบ ไม่ได้มีปัญหา แต่ไม่ใช่มาหักกลางกันตอนนี้ มันทำให้กระบวนการทางกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ”

ไพบูลย์ย้ำว่า หน้าที่เตรียม-ยื่นคำร้องคำร้องในฐานะเป็นสมาชิกรัฐสภาและอดีตประธาน กมธ.พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และมาตรา 91-กมธ.กฎหมายลูกเลือกตั้ง ไม่ใช่ในนามรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

“บอกแล้วเป็นเรื่องของมิติกฎหมาย คราวที่ผมยื่น ส.ส.ร.ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ คนไม่เห็นด้วยเยอะแยะไปหมด ก็ยื่นไป ก็เป็นหน้าที่เรา เป็นคนละเรื่องกัน ความเห็นทางกฎหมายจะไปใช้มิติการเมืองดูไม่ได้ คนละเรื่อง แต่เรื่องไหมที่เป็นกฎหมายที่เป็นมิติการเมือง เช่น เรื่องกฎหมายกัญชา ความหลากหลายทางเพศ ก็ไปว่ากัน ผมไม่ไปยุ่งอะไรทั้งนั้น ก็ว่ากันไปตามความเห็นของฝ่ายการเมืองและใช้เสียงข้างมากของฝ่ายสภาตัดสิน”