ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ สูตรเลือกตั้งหาร 500 วิษณุชี้ 3 ทางออกเลือกตั้งใหม่

วิษณุ เครืองาม
แฟ้มภาพ : วิษณุ เครืองาม

“วิษณุ” เผยส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ หาร 500 ไทม์ไลน์ประกาศใช้กฎหมายลูก ส.ส. ออกไปอย่างน้อย 1 เดือน ชี้ 3 ทางออกผ่าทางตันเลือกตั้งช่วงสุญญากาศ

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. กรณีหากลงมติเห็นชอบตามกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ขอสงวนความเห็นการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 จะมีความผิดหรือไม่ ว่า คงมีคนสงสัยส่งศาลรัฐธรรมนูญแน่ ก็ไปว่ากันในชั้นศาล และถ้าศาลออกมาบอกว่าอันไหนถูก อันไหนผิด มันก็ไม่มีใครมีความผิดติดคุกหรอก

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำให้กรอบเวลา (ไทม์ไลน์) การบังคับใช้กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งจะขยับออกไปอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็แน่นอน เมื่อไปศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน

“เป็นเรื่องของทั้งสองสภา (ส.ส. และ ส.ว.) รัฐบาลไม่เกี่ยว ต้นร่างก็มาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐบาลไม่ได้ร่าง แต่รัฐบาลเป็นผู้ส่งเรื่องไปให้เพราะว่า กกต.ส่งเองไม่ได้” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า สมมุติว่าส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่ง ศาลอาจจะไม่รับพิจารณา สอง ศาลรับไว้พิจารณาแล้วดูว่า โดยเจตนารมณ์ก็ดี บทบัญญัติ ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญก็ดี การใช้ 100 หาร กับ 500 หาร จะนำไปสู่ผลที่แตกต่างกันอย่างไรและวินิจฉัยว่าอะไรถูก อะไรผิด

เมื่อถามว่า จะไม่นำไปสู่เดดล็อก (ทางตัน) ในการเลือกครั้งหน้าใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าเกิดจำเป็นจะต้องเลือกตั้ง โดยที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้มันก็เกิดปัญหา

Advertisment

“แต่ผมไม่ได้เรียกว่าเดดล็อกนะฮะ จะเกิดปัญหาถกเถียงอะไรกัน เพราะว่ามันเท่ากับไม่มีกฎหมายลูกอย่างที่ผมเคยพูดเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่กฎหมายลูกมันเสร็จแล้ว แต่ว่าเมื่อยังไม่ได้ประกาศใช้ ถ้าหากมีการเลือกตั้งก่อน แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก่อนก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า ทางออกของปัญหาหากเกิดการเลือกตั้งโดยที่กฎหมายลูกยังไม่ประกาศใช้คืออะไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องมีทางออก ไม่มีเดดล็อก แต่ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แต่มีอยู่ 3 แนวทาง สุดท้ายก็ต้องเลือก 1 อย่าง เช่น ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือออกเป็นประกาศของ กกต. หรืออาจจะร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ยังไม่แน่ใจว่า ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่มีคนแนะนำให้ขอคำแนะนำศาลรัฐธรรมนูญว่า จะให้ทำอย่างไร

Advertisment

“เลือก (ตั้ง) ไปก่อน ถูกหรือผิดค่อยว่ากันอีกที ซึ่งมันก็ยุ่งไง แต่ไม่ใช่เดดล็อก และผมเชื่อว่าก็จะมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะทำให้สูญเสียงบประมาณเลือกตั้ง นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ ถูกต้อง แต่ตนบอกแล้วว่า มันมีเวลาที่จะไปร้องต่อศาลโดยที่ยังไม่เสียเงินในการจัดการเลือกตั้ง เช่น ถ้าศาลกรุณาวินิจฉัยได้โดยเร็ว หรือมิฉะนั้นในที่สุด ถ้าดูในรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าเขียนไว้ในมาตรา 104 เปิดช่องไว้ว่า ถ้าหากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งก็ให้เลื่อนออกไป กกต.สามารถประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนได้ ถ้าทำแบบนี้ก็จะไม่เสียเงินในการจัดการเลือกตั้ง 3,000 ล้านบาท แต่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะร้องตอนนั้นต้องร้องเร็ว เพื่อให้เวลาศาล ไม่ใช่จัดการเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยไปร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 104 ระบุไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่ กกต.ประกาศกำหนด กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่เหตุการณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง