เลือกตั้งสูตรหาร 500 ส.ว.สายเพื่อน 3 ป.เปิดศึกนักเลือกตั้ง

การเมืองเข้าสู่จุดเลี้ยวหักศอกอีกครั้ง เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) หรือ กฎหมายเลือกตั้ง กำลังเข้าสู่การพิจารณาตัดสินในวาระที่ 2 และ 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา

เพราะในกฎหมายเลือกตั้ง เกิดประเด็นเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ระหว่าง “สูตรหาร 100” ซึ่งสัมพันธ์ทางตรงกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เปลี่ยนจำนวน ส.ส.เขตให้มี 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน)

หรือ “สูตรหาร 500” โดยนำตัวเลข ส.ส.ทั้งสภา 500 คน มาหารกับคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้ เพื่อหาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ยัง “ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม”

ความต่างของผลทางการเมืองระหว่าง สูตรหาร 100 กับหาร 500

คือ สูตรหาร 100 เป็นกติกาเดียวกับตอนเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 นักการเมืองทั้งสภาคุ้นชิน แต่ที่ไม่ปลื้มคือเครือข่ายผู้มีอำนาจปัจจุบัน และพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์

สูตรหาร 500 เป็นกติกา การคำนวณแบบ “พึงมี” แบบเดียวกับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นสูตรที่ผู้มีอำนาจยังได้เป็นอำนาจอยู่จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อการพิจารณากฎหมายเลือกตั้งฉบับดังกล่าว ในชั้น “กรรมาธิการ” ได้มีมติเสียงข้างมาก 32 ต่อ 11 เสียงให้ใช้สูตรหาร 100

เสียงที่ดังขึ้นจากดงผู้มีอำนาจ ต้องการให้ “พลิก” เป็น 500 เพราะเกรงผลลัพธ์แลนด์สไลด์เพื่อไทย และผู้มีอำนาจอาจไม่ได้ไปต่อ !

กลุ่ม ส.ว.สายเพื่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ประจำการอยู่ในกรรมาธิการ จึงกลายเป็น “เสียงข้างน้อย” และเป็นผู้ “สงวนความเห็น-สงวนคำแปรญัตติ” ไว้อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา

จึงเกิดความเป็นไปได้ว่า สัญญาณสุดท้ายที่อาจส่งไปถึง ส.ว.ให้ยกมือลงมติ อาจเป็นหาร 500

แต่ในมุมของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหอกกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการแก้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง และยังเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 91 อันเป็น “ต้นขั้ว” ที่มาสู่การเคาะสูตรคำนวณ หาร 100 หรือ 500 ในปัจจุบันมองว่า

“กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ยืนยันเป็นไปตามร่างที่รับหลักการมาทั้ง 4 ร่าง ที่ให้หาร 100 รัฐสภาคงไม่มีเปลี่ยนอะไร เชื่อว่าเสียงข้างมากของรัฐสภาก็จะโหวตเห็นด้วยกับกรรมาธิการ”

“ส่วนเสียง ส.ว. คงจะมีหลากหลาย มีทั้งเห็นด้วยกับ 100 เห็นด้วยกับ 500 และมีทั้งงดออกเสียง”

“ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค ท่านก็บอกให้เป็นเรื่องของในสภาก็แล้วแต่ และเท่าที่ผมฟัง ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ เห็นตรงกันว่าหาร 100”

“ส่วนหลังจากผ่านสภาแล้ว คิดว่าจะไม่มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตามที่พรรคเล็กเคลื่อนไหว เพราะผู้ที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรวบรวมเสียงให้ได้ 75 คน คิดว่าไม่มีเสียง ส.ส.พอที่จะไปยื่นหรอก ส่วน ส.ว.ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว”

ส่วนจะกระทบอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ “ไพบูลย์” บอกว่า เป็นคนละเรื่องกัน ในพรรคเล็กก็มีความเห็นที่ต่างกันในเรื่องนี้ เช่น พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ของ นายดำรงค์ พิเดช ก็เห็นว่าสนับสนุนหาร 100

ขณะที่แหล่งข่าวจากแกนนำฝ่ายนิติบัญญัติพรรคพลังประชารัฐ ดับเบิลเช็กคอนเฟิร์มกับพรรคหลักร่วมรัฐบาลแล้วว่าจะยกมือหาร 100

ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา รวม 223 เสียง และเมื่อรวมเสียงพรรคเพื่อไทย ที่สนับสนุนหาร 100 มาตลอดอีก 132 เสียง ก็จะรวมเป็น 355 เสียง สำหรับเสียง ส.ส.ในสภา ส่วน ส.ว.ยังรอสัญญาณสุดท้ายจากผู้มีอำนาจ ก่อนการโหวตยังคงเสียงแตก

ขณะที่การลงมติจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา คือ 363 เสียง จาก 726 คน

อย่างไรก็ตาม เส้นทางกฎหมายเลือกตั้งอาจไม่ได้จบแค่นี้ และมีแนวโน้มที่จะสะดุดด้วย 2 กรณี

หนึ่ง ผู้มีอำนาจเปลี่ยนใจ อยากให้ใช้สูตรหาร 500 มากกว่า หาร 100 สามารถสั่งการ ส.ว. หรือ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความปัญหาทางกฎหมาย ภายหลังที่กฎหมายผ่านรัฐสภาวาระที่ 3 ไปแล้ว

โดยอ้างว่า มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่ม เติมเขียนให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นสัมพันธ์ทางตรงกับจำนวน 100 คน แต่ก็ยังคงมีคำว่า “ส.ส.พึงมี” และ “พึงได้รับ” อยู่ในมาตรา 93 และ 94 ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ถ้า กกต.คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามสัมพันธ์ทางตรง โดยไม่ใช้คำว่า “พึงมี” ก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

หรือกรณีที่สอง จบแบบหักมุม พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมกับพรรคเล็กและพรรคเสรีรวมไทยในฝ่ายค้าน จับมือ ส.ว.ทั้งหมด ใช้สูตรหาร 500 เพื่อนำไปสู่การให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพื่อ “ยกเครื่องใหม่” ตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญกลับให้ไปใช้สูตรหาร 500

เป็นการเปิดศึกระหว่าง นักเลือกตั้งอาชีพ กับประยุทธ์ และเครือข่าย