เพื่อไทย พลิกแผนแตกพรรค เก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แก้เกมเลือกตั้ง

รอง

ยังเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจที่ยังหาข้อสรุป ไม่ลงตัว เกี่ยวกับ “กติกา” เลือกตั้ง ที่จะใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 หรือเร็วกว่านั้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะเปลี่ยนจาก “บัตรใบเดียว” เลือกทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ไปพร้อมกัน เท่ากับ กาครั้งเดียวได้ทั้งคนทั้งพรรค แล้วมาหาคะแนน “ส.ส.พึงมี” 7 หมื่นแต้มเท่ากับได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง พรรคไหนได้ ส.ส.เขตเยอะ จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อย ตามวิธีการ “จัดสรรปันส่วนผสม”

พรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว ขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคเล็กปัดเศษ เบ่งบานถึง 11 พรรค

กระทั่งปรับมาเป็น “บัตรสองใบ” ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แยกจากกัน ใช้กติกาเดียวกับการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ที่พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ในสูตร ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน หาคะแนน ส.ส.สัมพันธ์ทางตรง

แต่ปัญหาใหม่เกิดขึ้น ในชั้นการแก้กฎหมายลูก คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อการแก้ในชั้นกรรมาธิการ เสียงข้างมากยกมือให้ ใช้สูตร ส.ส. “สัมพันธ์ทางตรง” 3.5 แสนแต้ม เท่ากับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน โดยนำคะแนนบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้ นำมาหารกับ 100 ว่าแต่ละพรรคควรจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คน

ทันใดนั้น ผู้มีอำนาจคิดได้ว่า พรรคเพื่อไทยที่เคยได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้ามากที่สุด ก็จะได้เปรียบในกติกานี้อีก ขณะที่พรรคเล็กปัดเศษซึ่งเป็น “ฐานการเมือง” สำคัญในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้ ต้องการให้คิดคะแนนบัญชีรายชื่อ แบบหาร 500 ในลักษณะ ส.ส.พึงมีแบบเก่า

ในจังหวะที่กฎหมายลูกผ่านพ้นในชั้นคณะกรรมาธิการไปแล้ว กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในห้องประชุมรัฐสภา เมื่อผู้มีอำนาจยังชั่งใจ-ตกลงไม่ได้ จะพลิกกลับไปใช้สูตรไหนดี จึงทำให้วาระการพิจารณากฎหมายลูกถูก “เตะถ่วง” ออกไปก่อน

ดังนั้น 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงเรียก อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา และรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

ในวงนั้น มี “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าไปหารือ “ลับ” กับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

โดยเฉพาะเรื่อง “กฎหมายลูก” มีการพูดคุยกันว่าจะเอาอย่างไรดี โดยเฉพาะประเด็น สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีการเสนอแนะว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้พรรคเล็ก ๆ มาช่วยโหวตให้ และยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้สูตรหารด้วย 500 หรือ 100 เพื่อแก้เกมแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย

แกนนำพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่ง คำนวณระยะเวลาที่สามารถ “เตะถ่วง” การพิจารณากฎหมายลูกจนถึงเวลาบังคับใช้ว่า คาดว่าปลายเดือนกรกฎาคม รัฐสภาพิจารณาวาระ 2-3 เมื่อผ่านรัฐสภา ต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ ตามรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน เท่ากับกลางเดือนสิงหาคม

กกต.ใช้เวลาตรวจสอบอีก 10 วัน จะกินเวลาถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม เมื่อ กกต.ส่งร่างกฎหมายมาที่รัฐสภา ประธานรัฐสภาจะรอ 5 วัน หาก ส.ส.-ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 เข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และบวกอีก 20 วัน นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ และบวกอีก 90 วัน ซึ่งเป็นพระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯ จะตรงกับช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2565

ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งยอมรับว่า โอกาสที่จะกลับไปใช้สูตรหาร 500 ยังมีอยู่ เพราะ ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับสูตร 100 มีจำนวนมาก โดยเฉพาะ ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นอาจจะต้องนับเสียงสู้กันในรัฐสภา

สูตรหาร 100 มีพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ยืนพื้น

สูตรหาร 500 มีพรรคเล็กที่ต้องการ พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ก็พร้อมสนับสนุน ตามผู้มีอำนาจ รวมถึงเสียงของ ส.ว.

ส่วน “ตัวแปร” สำคัญคือ “พรรคก้าวไกล” ที่พรรคเพื่อไทยก็ยังดูไม่ออกว่าจะต้องการแบบไหน

“ถ้า ส.ว.ชนะ ก็เป็นสูตรหาร 500 หรือคว่ำไปเฉย ๆ ในวาระ 3 หรือผ่านสภาไป แต่พอถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน”

“แต่ถ้าคว่ำในวาระ 3 เริ่มนับ 1 ใหม่ กลับไปแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าล้มก็จะล้มด้วยเหตุผลว่า การมี 100 ยังมีปัญหาติดขัดเรื่อง ส.ส.พึงมี ในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 มาตรา 94 แต่ถ้าหาร 500 ก็จะไปขัดกับมาตรา 91 เรื่องสัมพันธ์ทางตรง เลือกสูตรไหนก็มีปัญหากับรัฐธรรมนูญ มีปัญหายุ่งเหยิงในอนาคต ปัญหาจึงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สะเด็ดน้ำจึงออกกฎหมายลูกยาก”

อย่างไรก็ตาม เจ้าพ่อการคำนวณสูตรเลือกตั้ง และเป็นผู้สะกิดให้พรรคเพื่อไทย ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์มา แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยเมื่อตอนเลือกตั้ง 2562 อย่าง “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” แกนนำกลุ่มแคร์-กองเชียร์พรรคเพื่อไทย วิเคราะห์เกมนี้ว่า

ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นบัตร 2 ใบ บัตรหนึ่งเป็น ส.ส.เขต บัตรหนึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามหลักการในรัฐธรรมนูญ บัตรบัญชีรายชื่อ ต้องใช้หลักการว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 100 คน เมื่อประชาชนลงคะแนนเสียง ก็ต้องใช้หารจำนวน 100 ที่นั่ง ตามที่กำหนดไว้

แต่ถ้าหากเกิดเหตุอะไรที่ไม่คาดฝันและมีการกำหนดให้ใช้ 500 ที่นั่งหาร คงมีขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนกว่าจะไปถึงบทสรุป อาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขไว้หรือไม่

แต่ถ้าไม่มีปัญหาสามารถประกาศใช้ได้ แล้วจะกระทบกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น พรรคการเมืองใด ๆ ก็ตามโดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ต่างคาดหมายว่าเรื่องบัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 น่าจะทำให้มี ส.ส.มากกว่า

“มีกรณีที่เคยเกิดขึ้นอย่างนี้เหมือนกัน เช่น ในเกาหลีใต้ เมื่อเป็นบัตร 2 ใบ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ได้พลิกเกมแตกพรรค โดยพรรคหลักส่ง ส.ส.เขตทั้งหมด 400 เขต แต่ไม่ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และจะมีพรรคอีกพรรคหนึ่งซึ่งเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งบัญชีรายชื่ออย่างเดียว”

“ถ้าหากจะต้องหารด้วยตัวเลข 500 ก็จะเอาตัวเลขไปอยู่ในพรรคที่ 2 ซึ่งจะไม่มีการเอาจำนวน ส.ส.เขตที่ได้มาลบก่อน เพราะพรรคการเมืองที่ 2 ไม่ส่ง ส.ส.เขต ก็จะไม่มี ส.ส.เขต จะมีแต่ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย”

“ดังนั้นพรรคการเมืองเล็กกลับมองว่า กติกาแบบนี้ที่ใช้หาร 500 ที่นั่งจะได้ประโยชน์ แต่จริง ๆ แล้วอาจไม่ใช่ เพราะพรรคการเมืองใหญ่สามารถใช้วิธีแยกเป็น 2 พรรค ดังนั้น ผลลัพธ์ก็จะได้ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าใช้วิธีหาร 100 ที่นั่ง หรือหาร 500 ที่นั่ง ก็ตาม”

“ส่วนพรรคเพื่อไทย ผมคงพูดในนามพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่แล้ว และผมเป็นผู้สังเกตการณ์ และมีมิตรสหายอยู่ในพรรค แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองใดก็ตาม และทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องหารด้วย 500 เชื่อว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่อาจจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจจะได้เขตมากพอสมควร ก็จะเลือกมีอีกพรรคหนึ่งส่งสมัครในนามที่เป็นแนวร่วมตัวเองในนามบัญชีรายชื่ออย่างเดียว”

หันกลับมาที่พรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้ที่แกนนำพรรคเก็งกันว่า พรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบพรรคได้ จึงเตรียมแผนเซ้งพรรคเก่า มาปั้นใหม่ไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ หากมีแววว่าจะเกิดอุบัติเหตุก็พร้อมย้ายไปอยู่พรรคใหม่ได้ทันที

เช่นเดียวกัน หากผู้มีอำนาจพลิกเกม ใช้สูตรหาร 500 พรรคเพื่อไทยก็พร้อมมูฟ บัญชีรายชื่อ ส.ส.ไปอยู่พรรคใหม่ได้ทันที

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจยุบสภา บีบให้ต้องย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วัน หรือ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบเวลา ยิ่งมีเวลาเตรียมตัว เพราะใช้เวลาสังกัดพรรค 90 วัน

ไม่ว่าออกหน้าไหน พรรคเพื่อไทยปรับตัวได้ทุกหน้า…