ประยุทธ์ ประวิตร สนธิกำลัง วัดกระแส ชิงฐานเสียงก่อนเลือกตั้งใหญ่

พลังประชารัฐ
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

เรตติ้งพรรคพลังประชารัฐชั่วโมงนี้ ไม่ใช่คู่ต่อกรของพรรคเพื่อไทย ไม่มีฐานเสียง-แฟนคลับที่เทใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 100%

เมื่อส่วนแบ่งทางการเมือง-โหวตเตอร์ ต้องขับเคี่ยวกันเองกับ “เจ้าของเสียงเดิม” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และ “พรรคเกิดใหม่” ที่เป็นศิษย์เก่าของพรรคพลังประชารัฐ-พรรคอนุรักษนิยมใหม่ ที่มี “หัวเศรษฐกิจทันสมัย”

คะแนนความสามารถเฉพาะตัวของ ส.ส.เขต ที่ติดมากับเบอร์เสื้อ-แตกตัวออกไปอย่างพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 18 เสียง ขณะที่ ส.ส. 97 ชีวิตของพรรคพลังประชารัฐ จะมีกี่คนที่เป็น ส.ส.ดาวฤกษ์ ที่มีแสงในตัวเอง และมีกี่คนที่เกาะกระแส พล.อ.ประยุทธ์ ติดธงพลังประชารัฐ ขึ้นชั้นเป็น ส.ส.สมัยแรก

ประกอบกับคะแนนพ็อปพูลาร์โหวต 8.4 ล้านเสียง ที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อคราวการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ไม่มีใครการันตีว่าจะเหมือนเดิม

พปชร.ตกต่ำ-ประยุทธ์ขาลง

พรรคพลังประชารัฐ ถอยหลังโคจรใกล้จุดต่ำสุด-เข้ามุมอับบนกระดานการเมือง ว่า “เราเป็นรองอยู่แล้วทุกที่” และ “พรรคพลังประชารัฐตกต่ำ” และต้องเร่งพลิกเกม-ตีตื้น หลังจากถูกพรรคเพื่อไทยพับสนามบุกทั้งผลโพล-พื้นที่ ตกเป็นมวยรอง บนเวทีในสภา-นอกสภา และสุ่มเสี่ยงที่จะเพลี้ยงพล้ำในคูหาเลือกตั้ง

“เรากำลังดำเนินการอยู่ เราก็รู้แล้วว่า พรรคพลังประชารัฐก็ตกต่ำอ่ะนะ ก็ไม่เป็นไร ก็ดำเนินการ ก็ต้องแก้ไขไป ในพรรคก็ต้องสามัคคีกัน ร่วมมือกัน” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมายอมรับแบบไม่กลัวเสียฟอร์ม

นอกจากนั้น ผลโพลคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพลังประชารัฐ ยังอยู่ในช่วงขาลง-กระแสตก จนถูกว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย-แพทองธาร ชินวัตร ปาดหน้า

“โพลก็คือโพล ก็แล้วแต่ว่าใครจะทำ ก็เห็นทำมา 3-4 อัน ก็ไม่ตรงกันซักอัน ก็ใช้วิธีการโทรศัพท์บ้าง อะไรบ้าง แต่ก็ฟังไว้” พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ หลังจากผลสำรวจความคิดเห็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึงคะแนนนิยมทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ หล่นลงมาอยู่อันดับ 4 คิดเป็นร้อยละ 11.68

พลังประชารัฐตกต่ำ-กระแส พล.อ.ประยุทธ์ขาลง ประจักษ์ต่อสายตาแกนนำพรรคหลายคน โดยเฉพาะ “เสี่ยโต” อภิชัย เตชะอุบล อดีตผู้อำนวยการเลือกตั้งสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ถึงแม้ว่าจะมีแกนนำบางคนประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ที่ปลอบใจตัวเองว่า “กทม.แค่จังหวัดหนึ่ง”

ภายหลังจากผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในนาม “กลุ่มพลังกรุงเทพฯ” พรรคพลังประชารัฐ “แพ้หลุดลุ่ย” หลุดเข้าสภาเสาชิงช้ามาได้เพียง 2 ที่นั่ง

“การบ้านของพลังประชารัฐ คือ การบิลด์คนกรุงเทพฯใหม่ เพื่อตอบโจทย์คน กทม. สถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ กทม.ในขณะนี้ เป็นพื้นที่เสี่ยง พื้นที่จุดล่อแหลมและแหลมคมทางการเมืองมากสุดของพรรค” แกนนำพรรครายหนึ่งระบุ

จัดทัพใหม่-แจกงาน

ความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง กทม. แผนฉุกเฉิน-เผชิญเหตุ คือ การปิดจุดอ่อนในพื้นที่โซเชียลมีเดีย โดยให้ “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส-รองหัวหน้าพรรค เป็น “หัวหน้าทีมแอดมิน” อัพข่าวพรรค-โชว์ผลงานแบบเรียลไทม์

รวมถึงการมอบหมายให้รัฐมนตรี-ส.ส.รับผิดชอบพื้นที่แต่ละโซน-แต่ละภาค และแจกงานให้ทำเป็นชิ้นเป็นอัน

“เสี่ยโต” นายทุนหมื่นล้าน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค-มือกฎหมาย “พรชัย ตระกูลวรานนท์” รองเลขาธิการพรรค และ “นฤมล” รับผิดชอบพื้นที่ กทม.

รวมถึงในอนาคต “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเข้ามาเสริมทัพได้ทันหลังพ้นจากการดำรงตำแหน่ง ส.ว.ครบ 2 ปี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565

ขณะที่ภาคใต้ “พล.อ.ประวิตร” บัญชาการด้วยตัวเอง โดยมี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำสามมิตร-ประธานยุทธศาสตร์พรรค มาเป็นผู้ช่วยเดินการเมืองนำการทหาร

ภาคกลาง “กลุ่มสี่รัฐมนตรี” ประกอบด้วย “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-ผู้อำนวยการพรรค “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย แกนนำสามมิตร และตรีนุช เทียนทอง เจ้าแม่สระแก้ว

สำหรับ “พื้นที่สีแดง” ฐานที่มั่นครอบครัวเพื่อไทย อีสานตอนบนเป็น “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำสามมิตร อีสานตอนกลาง-ตอนล่าง “แม่ทัพอี๊ด” พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 จับมือกับ “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” ผนึก “เครือข่ายบิ๊กแป๊ะ”

ขณะที่ภาคเหนือ-ฐานเสียงเพื่อไทย-FC โทนี่ วู้ดซัม ส่งคนกันเอง “สันติ พร้อมพัฒน์” เลขาธิการพรรค เข้าประจำการ

แกะรอยโรดโชว์ 10 จังหวัด

ดอกผลจากการแบ่งงาน คือ การแจกงาน หลังจากการระดมสมองของแกนนำวอร์รูมบ้านป่ารอยต่อ ทั้งก่อน-หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.- ส.ก.ออกมา นำไปสู่การโรดโชว์ 10 จังหวัด โดยมอบหมายให้ “สันติ พร้อมพัฒน์” เลขาธิการพรรค รับหน้าเสื่อ-ออร์แกไนซ์ เซตอัพแสง-สี-เสียงขึ้นมาหัวหน้าภาค-ผู้รับผิดชอบในแต่ละภาค

เป็นอีเวนต์ระยะสั้น-เร่งด่วนที่ทำได้ทันที คือ ให้แกนนำ-ส.ส.พรรคที่เป็นรัฐมนตรี คิดแคมเปญ-คิกออฟกิจกรรมทางการเมืองในนาม “ผลงานของพรรค” เพราะที่ผ่านมามีแต่ผลงานในระดับกระทรวง-ข้าราชการ

“คงจะเร็วเกินไปที่จะพูดว่า เป็นการเตรียมตัวเลือกตั้งในครั้งหน้า เป็นเพียงกิจกรรมทางการเมืองปกติ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และ พล.อ.ประวิตรต้องการให้ทุกคนในพรรคมีบทบาท” แกนนำใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรระบุ

เป็นการ “อุ่นเครื่อง” บนสนามทดสอบทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ เพื่อ “ต่อยอด” ไปสู่การผลิต “คอนเทนต์” ในระยะกลาง-ยาว คือ “นโยบายหาเสียง” ซึ่ง พล.อ.ประวิตร เรียกใช้บริการ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรค เป็น “หัวหน้าทีมนโยบาย” อดีตแกนคิดนโยบายยุคกลุ่มสี่กุมาร-ทีมสมคิด

การตั้งเวที 10 จังหวัด-เดินสายโรดโชว์ (ผลงาน) ของ พล.อ.ประวิตร ภายใต้แคมเปญ “พลังประชารัฐ พลังเพื่อชาติไทย” เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่มองไม่เห็นว่า “ผลงานของรัฐบาล” กับ “ผลงานของพรรค” คือ “เนื้อเดียวกัน”

ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐเสมือนเป็น “พรรคแกนนำ” ที่ไม่มีผลงาน เพราะถูกกลืนไปกับผลงานของรัฐบาล-ฝีมือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สำคัญ คือ การเรียกขวัญ-กำลังใจให้ลูกพรรคกลับมาฮึกเหิม เหมือนเมื่อการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อีกครั้ง

คิกออฟชลบุรี-ปักธงยกจังหวัด

10 กรกฎาคม 2565 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี เป็น “เวทีแรก” ของอีเวนต์ โรดโชว์ 10 จังหวัด เสี่ยเฮ้ง เจ้าถิ่น-เจ้าบ้านใหญ่ชลบุรี เตรียมพื้นที่ไว้รองรับลูกบ้านที่จะมาต้อนรับกว่า 10,000 คน และ “นายป้อม” มีคิวขึ้นเวทีปราศรัยในเวลา 20.00 น. ซึ่งจะโชว์ผลงานของพรรคพลังประชารัฐ-รัฐบาลไปพร้อมกัน

อีก 1 ไฮไลต์ คือ การเปิดตัว 10 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดชลบุรี ที่ เสี่ยเฮ้ง ในฐานะผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ คัดมากับมือ เพื่อลงสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งหน้า โดยปักธงชนะเลือกตั้ง-กวาดเก้าอี้ ส.ส.ยกจังหวัด

ขาอีกข้างของพรรคพลังประชารัฐ คือ ขาของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังขยับลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม-วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 จะเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นจังหวัดแรก

นับเฉพาะเดือนมิถุนายน ลงพื้นที่ไปแล้ว 3 จังหวัด ครั้งแรก เมื่อวัน 6 มิถุนายน 2565 ตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่จังหวัดสกลนคร ครั้งที่สาม ในวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่

พลังประชารัฐเข้าสู่โหมดตะกายดาว-ตีตื้นเรตติ้ง เพื่ออุ่นเครื่องขุมกำลังก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่