พลังประชารัฐ จัดทัพใหญ่ แก้เกมล้มประยุทธ์-ปักธงชนะเลือกตั้ง

ควันหลงจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ ได้เก้าอี้ ส.ก.มาเพียง 2 ที่นั่ง กลายเป็นการบ้านข้อใหญ่ให้พี่-น้อง 3 ป.ได้ขบคิด

โดยเฉพาะพี่ใหญ่-บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องคิดหนัก ถึงแม้ว่าจะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่เสียง call out กว่า 1.3 ล้านเสียง ที่เลือก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นพ่อเมืองเสาชิงช้า สะเทือนมาถึงทำเนียบรัฐบาล

“แกนนำพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่ง” ที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ไม่ใกล้-ไม่ไกล คูหาเลือกตั้ง ส.ก. วิเคราะห์ว่า แม้ พล.อ.ประวิตรจะ “เพลย์เซฟ” ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

แต่ผลการเลือกตั้ง ส.ก.ในนาม “กลุ่มพลังกรุงเทพฯ” ที่พรรคพลังประชารัฐ “แพ้หลุดลุ่ย” ได้มาเพียง 2 ที่นั่ง เป็น “คำตอบ” ของคน กทม. ที่กา “กระดาษข้อสอบ” มาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

แกนนำพลังประชารัฐรายเดิมวิเคราะห์ต่อไปว่า สาเหตุสำคัญมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง และโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “เสียศูนย์” คนกรุงเทพฯจึงต้องการเปลี่ยนหน้าใหม่-ต้องการของใหม่

จุดตายพลังประชารัฐบนสังเวียนเลือก ส.ก.รอบนี้ คือ new vote-first time vote ที่ออกมาเข้าคูหาเลือกตั้งถล่มทลาย กลับกัน โหวตเตอร์ Gen B-baby boomer และ “กองหนุนลุงตู่” ไม่ออกมาเป็นแรงต้านกระแสคนรุ่นใหม่

เมื่อกระแสชัชชาติฟีเวอร์-เพื่อไทยแลนด์สไลด์มา ปะทะกับกระแส “เบื่อของเก่า” ของ “คนรุ่นใหม่” ทำให้คะแนนของ “ชัชชาติ” ทิ้งห่าง-เสียง ส.ก.ของพรรครัฐบาลเข้าสภา กทม.น้อยกว่าครึ่ง-ต่ำกว่าโพลพรรคที่ทำไว้

เมื่อแคมเปญ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ใช้ไม่ได้กับ “คนเมือง” อีกต่อไป เพราะวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง เป็นปัญหาสำคัญอันดับ 1 หวยจึงไปออกที่พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล

การบ้านของพลังประชารัฐที่ต้องรับผิด-รับชอบ กทม. คือ การบิลด์คนกรุงเทพฯใหม่-คิดแคมเปญใหญ่ เพื่อตอบโจทย์คน กทม. ที่สำคัญ คือ การเปลี่ยน “วิธีการใหม่” เพราะวิธีการเดิมใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ไม่ได้อีกต่อไป

สถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ กทม.ในขณะนี้ จึงกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง-พื้นที่จุดล่อแหลม และแหลมทางการเมืองมากสุดของพรรคพลังประชารัฐ

ฟีดแบ็กจากความพ่ายแพ้เลือกตั้ง ส.ก. ถอดรหัสชัยชนะของขั้วเพื่อไทย “เจ้าของบ้านป่ารอยต่อ” จึงต้องระดมสมองแกนนำพลังประชารัฐรุ่นใหญ่ เพื่อกระชับการทำงานให้เข้มข้น-เข้มแข็งมากขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า

แผนฉุกเฉิน-เร่งด่วน คือ การเปิดเกมรุกพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น-อุดรอยรั่วและจุดอ่อนของพรรคพลังประชารัฐ โดยให้ “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่แผนหลัก-ระยะกลาง-ยาว คือ การจัดทำนโยบาย โดยให้ “อาจารย์แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคเป็นผู้รวบรวม-คัดนโยบายเฉพาะที่เป็น “หัวกะทิ”

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็น think tank

นอกจากนี้จะแบ่งงานให้รัฐมนตรี-ส.ส.รับผิดชอบแต่ละโซน-แต่ละภาคให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมาภาพการลงพื้นที่ฐานเสียง-คลุกวงหัวเมืองยังต่อจิ๊กซอว์ไม่ชัด

โดย พล.อ.ประวิตร จะมาเป็นแกนคุม กทม. มี “เสี่ยโต” อภิชัย เตชะอุบล นายทุนหมื่นล้าน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค-กระบี่กฎหมาย “พรชัย ตระกูลวรานนท์” รองเลขาธิการพรรค และ “อาจารย์แหม่ม” เป็นทัพหลวง

รวมถึงในอนาคต “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะพ้นจากคุณสมบัติต้องห้าม-เคยเป็น ส.ว. ซึ่งจะครบ 2 ปี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 จะมาร่วมทัพการเลือกตั้งครั้งหน้า

รวมถึงภาคใต้ “พล.อ.ประวิตร” จะมาคุมเกมด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน โดยมี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำสามมิตร มาเป็นผู้ช่วยเดินการเมืองนำการทหาร

ขณะที่ภาคกลางให้ “กลุ่มสี่รัฐมนตรี” รักษาฐานที่มั่นเดิม-ตีป้อมค่ายหาน่านน้ำใหม่ ได้แก่ “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-ผู้อำนวยการพรรค “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย แกนนำสามมิตร และ “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง

สำหรับ “พื้นที่สีแดง” ฐานที่มั่นครอบครัวเพื่อไทย อีสานตอนบนเป็น “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำสามมิตร อีสานตอนกลาง-ตอนล่าง ส่ง “แม่ทัพอี๊ด” พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 จับมือกับ “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” ผนึก “เครือข่ายบิ๊กแป๊ะ”

ขณะที่ภาคเหนือ มอบหมายให้ “สันติ พร้อมพัฒน์” เลขาธิการพรรค เข้าประจำการ ทะลวงฐานเสียงทักษิณ-สกัดแผนการแลนด์สไลด์ไม่ให้ประสบความสำเร็จ

“หลังจากนี้พรรคจะมีแคมเปญออกมา รัฐมนตรีแต่ละคนงานเต็มมือแล้ว ทุกคนมีบทแจกหมด” แกนนำพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่งระบุ

ขณะที่เอฟเฟ็กต์จากเกมเร็ว-แรง ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทยที่ส่งซิกข้ามขอบฟ้า-ไฟเขียว บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ “ตัวทำเกม” นำ 15 กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ลาออก

เป้าหมายเพื่อปลด “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนต้องกลับไป “จำศีลทางการเมือง” ทำให้ พล.อ.ประวิตรขาด “มือประสาน” ระหว่างพรรคเศรษฐกิจไทยกับพรรคพลังประชารัฐทันที

แน่นอนว่า การเปิดหน้าของ ร.อ.ธรรมนัส-กุมบังเหียนหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยด้วยตัวเอง เป็นการ “ตัดขาด” จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์โดยเด็ดขาด

เมื่อแผนที่วางไว้ถูกเปลี่ยนแผน แกนนำพลังประชารัฐจึงต้อง “แบ่งงานกันทำ” เพื่อกู้วิกฤต พล.อ.ประยุทธ์-กู้ระเบิดในสภา ที่ถูกตั้งเวลาไว้ถึง 3 ลูก ไม่ให้ทำงาน-ล้มรัฐบาลก่อนครบวาระในปี’66

ระเบิดเวลาลูกแรก การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระแรก ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2565

ระเบิดเวลาลูกที่สอง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. …

ระเบิดเวลาลูกที่สาม การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151

“นิโรธ สุนทรเลขา” ประธานวิปรัฐบาล มั่นใจว่า เสียงพรรครัฐบาลยังมั่นคง การโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะผ่านฉลุย ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่กังวล เพราะตลอดเวลา 3 ปีของรัฐบาล ไม่มีเรื่องทุจริต

“ตอนนี้เสียงรัฐบาล ต้องอุบตัวเลขไว้ก่อน ไม่ให้สะวิง เสียงไม่ปริ่มน้ำ ส่วนที่ฝ่ายค้านอ้างตัวเลข 16+2 ก็ว่ากันไป ชื่อมีหมด รัฐบาลรู้หมด ถึงเวลาโหวตก็โหวตให้รัฐบาล” นิโรธทิ้งท้าย

โค้งสุดท้ายก่อนรัฐบาลครบวาระ พลังประชารัฐจึงปรับแท็กติกชนะเกมล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในสังเวียนสภา-คูหาเลือกตั้ง