อภิชัย เตชะอุบล นายทุนหมื่นล้าน พปชร. วางมือธุรกิจ อยากแก้วิกฤตประเทศ

อภิชัย เตชะอุบล
อภิชัย เตชะอุบล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

เสี่ยโต-อภิชัย เตชะอุบล นักธุรกิจการเมือง ที่มีมูลค่าทรัพย์สินติดอันดับความมั่งคั่ง ในลิสต์บัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ทะลุสองพันล้านบาท

เทียบชั้น เป็น “นายทุนพรรคคนใหม่” ในพรรคพลังประชารัฐ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อภิชัย” ประธานกรรมการบริหารเจซีเค กรุ๊ป ตำแหน่งทางธุรกิจในปัจจุบัน และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐใหม่หมาด ๆ

“เสี่ยโต” เปิดใจ หลังม่านการไปปรากฏตัวที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สถานที่รวมพลของนักการเมืองทุกขั้ว

Q : ปรากฏตัวที่มูลนิธิป่ารอยต่อ ช่วงที่มีความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ

ผมก็ไป ๆ มา ๆ ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ผมอยู่ประชาธิปัตย์ ไม่มีอะไร สนทนาทั่วไป

Q : สนทนาอะไรกับ พล.อ.ประวิตร

พล.อ.ประวิตรเป็นคนน่ารักคนหนึ่ง นักการเมืองที่เข้าไปพบท่านที่มูลนิธิ ส่วนใหญ่ก็เข้าไปปรับทุกข์กับท่าน

Q : เข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐแล้วอบอุ่นกว่าอยู่บ้านหลังเดิมหรือไม่

ก็ดีนะ แต่ไม่ขอพูดถึงดีกว่า เพราะผมออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว

Q : อะไรทำให้ตัดสินใจย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ

อยู่ที่ประชาธิปัตย์ไม่สามารถทำงานได้ อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อพรรคไม่ได้ใช้เราทำอะไร มากกว่านั่งเป็นเหรัญญิก จึงลาออก

ก็มีหลายพรรคที่มาชวนผมไปอยู่ แต่ผมมองว่า พรรคพลังประชารัฐค่อนข้างกันเองมากกว่า และ “คำไหนคำนั้น” หัวหน้าพรรค “คำไหนคำนั้น”

พรรคนี้เหมือนพี่ เหมือนน้อง มีความเข้าใจในตัวผมมาก การตัดสินใจค่อนข้างเด็ดขาดและทันทีทันใด ไม่ยืดเยื้อ มาพรรคนี้แล้วเราเห็นว่าน่าจะทำงานได้ดี

ผู้ใหญ่ในพรรคที่แสดงออกถึงความกลมเกลียว ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รู้รักสามัคคี การประสานประโยชน์ทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง

ที่สำคัญ ผมสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ทั้งฝ่ายสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งผู้บริหารพรรคที่มีความเมตตา และเล็งเห็นศักยภาพของผม

จึงถือว่าให้กำลังใจและเป็นแรงจูงใจในการทำงานการเมืองในนามพรรคพลังประชารัฐต่อไปได้

Q : ช่วยขยายคำว่า “คำไหนคำนั้น” ของหัวหน้าพรรค

เวลาท่านรับปากไม่มีขั้นตอนมากมาย กล้าตัดสินใจ เด็ดขาด แม้ในพรรคจะมีหลายขั้ว หลายฝ่าย แต่ต่างฝ่ายก็ต่างเข้าใจกันดี ก็มีคนโน้นพูดมั่ง คนนี้พูดมั่ง แต่สุดท้ายจบที่หัวหน้า

Q : พล.อ.ประวิตรเป็นคนชวนให้มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ

ผมสมัครใจมาเอง

Q : มีข้อเสนออะไร หรือจะให้เข้ามาเป็นอะไรในพรรคพลังประชารัฐ

ตอนนี้ให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ก.ก่อน โดยบอกหลังจากเข้ามาในพลังประชารัฐ แล้วเราก็สมัครใจที่จะมาทำ

ที่ดูแลในส่วนนี้ (เลือกตั้ง ส.ก.) เพราะว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะลงมาช่วยได้ แต่ผมไม่มีตำแหน่งอะไร ง่ายที่สุดที่ผมจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย

Q : อะไรคือจุดแข็งทำให้พรรคส่งมาเป็น ผอ.เลือกตั้ง ส.ก.

ผมไม่ได้ช่ำชองเรื่องการเมืองมากมาย แต่ผมมีประสบการณ์การบริหารธุรกิจหลักหมื่นล้านมาโดยตลอด แต่การเมืองเราก็สนใจนะ เพิ่งมาเรียนรู้พักหลัง ๆ เราจะเอาความรู้ความสามารถที่เรามีมาทำอะไรได้บ้าง

ก็แปลกนะ เราทำโครงการหลายหมื่นล้าน ทุกวันนี้เราต้องไปเดินช่วยหาเสียง แต่ก็ OK ในเมื่อเราสมัครใจเข้ามาแล้ว เราสามารถทำได้ทุกอย่าง ทำธุรกิจก็เหมือนกัน มีเหนื่อยบ้าง ลำบากบ้าง ทุกอย่างไม่ได้หมู

Q : การเมืองกับทำธุรกิจต่างกันแค่ไหน

ไม่ได้แตกต่างมาก แต่การเมืองทำเพื่อประชาชนทุกคน แต่ธุรกิจก็จะจำกัดวงอยู่ในภาคธุรกิจ เป็นอีกชีวิตหนึ่ง ซึ่งดูแล้วก็ตื่นเต้นดี ชอบ

Q : ทำธุรกิจอยู่ดี ๆ หันมาสนใจการเมืองตอนไหน

ตอนที่ประเทศชาติมีความวุ่นวาย มีความแตกแยก เด็กรุ่นใหม่ ๆ สนใจ อยากจะมาการเมือง เขาเห็นการเมืองมีปัญหา ทุกคนก็อยากจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ว่ามันเข้ามาได้แค่ไหน

Q : เห็นโอกาสอะไรในวิกฤตการเมือง

โอกาส คือให้ประชาชนสามารถเลือกหาบุคคลหน้าใหม่ ๆ เข้ามาช่วยบริหารประเทศ แต่เดิมความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะมีแต่พวกหน้าเดิม ๆ

ผมเชื่อว่าคนไทยอยากจะได้คนใหม่ ๆ คนรุ่นใหม่ ๆ มาลองบริหารประเทศดู หรือคนอย่างผมอยากจะเข้ามา แต่บางครั้งก็ไม่มีโอกาส ซึ่งมันก็น่าเสี่ยงเหมือนกัน

“การเมืองไทย เวลาใครชนะ น่าจะเหมือนประเทศอื่น ๆ การเมืองจบที่ 4 ปี ก็น่าจะให้บริหารให้ครบ 4 ปี คุณจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล อย่างน้อย ๆ ต้องปล่อยให้เขา ในเมื่อพี่น้องประชาชนเลือกมาเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องบริหารไปให้สุด”

การเมืองไทยไม่ใช่ ยังเดิม ๆ อยู่ ยังมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีที่สิ้นสุด การบริหารประเทศก็จะไม่ราบรื่น

ของเรามีแต่คุ้ยเขี่ยปัญหาของรัฐบาลกันตลอด ผมคิดว่าเป็นการเมืองที่ไม่ค่อยถูกต้อง ไม่มีประโยชน์อะไร รัฐบาลมัวแต่นั่งดูฝ่ายค้านว่าจะจ้องเล่นงานยังไง การบริหารประเทศก็ไม่ราบรื่น ประเทศชาติก็ไม่เจริญ

“ความ fair คือ เลือกตั้งจบ ใครฟอร์มรัฐบาลได้ ก็ให้บริหารให้ครบเทอม ยกเว้นมีปัญหาในตัวมันเอง ยุบสภา เพราะถือว่าประชาชนเลือกมาแล้วและมีคะแนนเสียงมากที่สุด ตั้งรัฐบาลได้ ก็ให้บริหารให้ครบเทอมไป ทุกอย่างจะได้ราบรื่น”

แต่วันนี้เราถดถอยไปขนาดไหน เวียดนาม ลาว จะแซงเราแล้ว นี่คือปัญหา จริง ๆ ประเทศเราน่าจะดีกว่านี้ได้

ผมถามใครจะกล้ามาลงทุน เมื่อคุณมีการเมืองที่วุ่นวายขนาดนี้ คนต่างประเทศชอบมากที่จะมาลงทุนในประเทศไทย คนไทยมีอัธยาศัยทุกอย่างดีพร้อม มีถนน มีทุกอย่าง แต่การเมืองทำให้ลงทุนสะดุด ใครจะเอาเงินมาลงทุนหลาย ๆ พันล้าน

“การเมืองต้องปกติ การเมืองต้องไม่วุ่นวายเหมือนอย่างนี้ แก่งแย่งชิงดีกันตลอด ไม่มีประโยชน์ การเมืองต้องสงบ คนก็กล้าลงทุน ถ้าวันไหนการเมืองไม่สงบ ไม่มีความแน่นอน ใครจะกล้ามาลงทุน”

Q : ยอมเสี่ยงมาเล่นการเมืองมีต้นทุนอะไรที่ต้องจ่าย

เงินของเรามาจากการทำธุรกิจ เราก็เก็บของเราเอาไว้ ถ้าคิดว่าใช้เราได้ในความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่ นั่นคือต้นทุนของเราที่จะไปลงกับพรรคการเมือง เพื่อทำให้ประเทศชาติดีขึ้นกว่านี้ นั่นคือทุนของผม

Q : สามารถเปลี่ยนอะไรได้บ้างภายใต้บริบททางการเมืองเก่า

ถ้าเรามีโอกาส ผมคิดว่าทำได้ เอาความรู้ความสามารถและประสบการณ์การทำธุรกิจมาทำให้ประเทศชาติดีขึ้นได้ ตอนนี้เริ่มดีขึ้น เราเปิดประเทศ ผมคิดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ไตรมาส 4 จะเริ่มดีขึ้น

ผมกล้าบอกเลยว่า ต่อให้รัฐบาลไม่ใช่พลังประชารัฐ ต่อให้พรรคการเมืองอื่นทำก็พอกัน พรรคไหนเก่ง ๆ มาเจอวิกฤตอย่างนี้จะรอดหรือเปล่า ใครมาบริหารในสถานการณ์แบบนี้ก็เรียบร้อยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์แมนมาจากไหน

“แต่จะไม่สาหัส ถ้ารู้วิธีแก้ ถ้าผมได้เข้าไปดูแล ผมรู้วิธีแก้ เพราะเราทำธุรกิจมาเป็นหมื่นล้าน ทุกวันนี้ 2-3 ปีมานี้ นิคมก็ขายไม่ได้ คอนโดฯ บ้าน ขายไม่ได้ แต่แก้ได้ มีวิธีแก้”

Q : ถ้ามีโอกาสได้เข้าไปฝ่ายบริหารจะไปเป็นตำแหน่งใด

เราบริหารธุรกิจมาขนาดนี้ เราทำได้ทุกสถานที่ที่เราไป เรานั่งอยู่ตรงไหน เราก็ทำได้ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ โยนไปที่ไหนก็ทำได้ ถ้าคนทำงานเป็นโยนไปอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ อาจจะต้องเข้าไปจับดู เหมือนหมอตรวจดูอาการ แล้วไปแก้ให้ถูกจุด

Q : ตอนนี้มีบทบาทเป็นนายทุนพรรคการเมือง

ทุนของผมก็คือ ความรู้ของผม ความรู้ที่ผมทำงานมา คือ ทุนของผมที่จะเป็นทุนของพรรค

Q : ไม่เกี่ยวกับมูลค่าทางธุรกิจเป็นหมื่นล้าน

ไม่เกี่ยวกัน ธุรกิจของผมก็เป็นบริษัทมหาชนอยู่แล้วทั้งสองบริษัท ธุรกิจก็ทำของมันไป หลัง ๆ ผมก็ให้ลูก ๆ มาช่วยทำ เราก็มาดูว่าจะช่วยเหลือการเมืองได้ขนาดไหน ความรู้ความสามารถคือทุนของเราที่จะลงไปให้พรรค ให้การเมือง

“เงินทองโยนไปก็ไม่มีประโยชน์หรอก ถ้าพรรคการเมืองมองอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์ พรรคก็ไม่เจริญ คุณเอาพวกนายทุนมาลงเงินแล้วก็ไปเป็นรัฐมนตรี 1 สมัย แล้วก็มานั่งกอบโกยโน่น กอบโกยนี่ ไม่มีประโยชน์”

“พรรคต้องมีคนเก่ง ต้องมีคนทำงานจริง ๆ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ พรรคถึงจะเจริญได้ ถ้าพรรคมองแต่เรื่องเงินอย่างเดียว มันก็ไปไม่ได้ ต้องดูว่ารับคนมาแล้วจะมาช่วยพรรคได้ยังไง มีความรู้ความสามารถที่จะมาช่วยพรรคได้ยังไง”

“ความรู้ความสามารถเป็นทุนอย่างหนึ่งที่จะมาช่วยพรรค มาทำให้พรรคดีขึ้น เป็นที่ยอมรับของประชาชน เป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าที่บอกว่าเป็นนายทุนเข้ามา หรือเอาเงินมากองให้คุณ 1-2 พันล้าน ไม่มีประโยชน์”

“คุณต้องหาคนดี คนที่มีความรู้ เข้ามาช่วยพรรค พรรคถึงจะเจริญเติบโตได้ ไม่ใช่เอาแต่พวกพ้อง น้องพี่ ไม่มีประโยชน์ คนดี ๆ อยากลงมาเล่นการเมือง แต่ไม่มีโอกาส เหมือนกับผมที่อยากเข้ามาทำ”

Q : วันนี้เรื่องธุรกิจกับการเมืองแยกออกจากกันชัดเจน

ค่อย ๆ แยกออก ผมค่อย ๆ วางมือด้านธุรกิจ ปล่อยให้ลูก ๆ ทำไป เราก็อายุปูนนี้แล้ว เงินทองมีอยู่แล้ว ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ทุกวันนี้พยายามดูแลร่างกาย สุขภาพให้ดี แข็งแรง

Q : วางมือทางธุรกิจเพื่อมาทำงานการเมืองมากขึ้น


ถ้ามีโอกาส