สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 มีผลลัพธ์ในการเลือกตั้งอย่างไร

สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 มีผลลัพธ์ในการเลือกตั้งอย่างไร

เทียบความแตกต่าง การเลือกตั้งที่ใช้สูตร หาร 500 ในระบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กับสูตร หาร 100 จะได้ผลในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร

ที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ถกเถียง – พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ… ว่าจะใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 หรือหาร 500

ที่สุดแล้วก็ลงเอยด้วยการย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณแบบ “หาร 500”

ต้นตอของสูตรหาร 500 ต้องทวนเข็มนาฬิกากลับไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เลือกได้ทั้ง ส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ มาเป็น บัตร 2 ใบ แยก ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกจากกัน พร้อมกับ ปรับจำนวน ส.ส.เขตจากเดิม 350 คน เพิ่มเป็น 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 150 คน ลดเหลือ 100 คน โดยปรับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2554

ดังนั้น หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกแก้ไข มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) 2564 ก็ต้องหาวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อกันใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไป

โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม นั้นได้กำหนดการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้เป็น “สัมพันธ์ทางตรง” กับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทุกร่างที่ผ่านวาระรับหลักการของรัฐสภาวาระที่ 1 กำหนดให้ใช้สูตร “สัมพันธ์ทางตรง” ที่เรียกว่า สูตรหาร 100 ซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายฉบับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อีกทั้งในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังมีมติเสียงข้างมาก 32 ต่อ 11 เสียง ยืนยันใช้สูตรหาร 100

แต่เกมมาพลิก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ปิดห้องคุยกับบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เคาะสูตรหาร 500 ย้อนกลับไปให้ ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง

ความต่างระหว่างสูตรหาร 100 กับ สูตรหาร 500

วิธีคำนวณ สูตรหาร 100 

  1. ใช้คะแนนรวมจากบัตรบัญชีรายชื่อของทุกพรรค หาร 100 คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน
  2. นำคะแนนบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้ มาหารคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

ผลลัพธ์ที่เคยใช้มาแล้ว คือ ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.เขต 204 ที่นั่ง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 61 คน รวม 265 เสียง ได้เสียงเกินครึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านคือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต 115 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 44 คน เป็นแกนนำฝ่ายค้าน

วิธีคำนวณ สูตรหาร 500

  • นำคะแนนรวมทุกพรรค หาร ด้วย 500 คือจำนวน ส.ส.ทั้งหมด จะได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน
  • นำคะแนนของแต่ละพรรค หารด้วย คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส. 1 คน จะได้ จำนวน ส.ส.พึงมี แต่แต่ละพรรคจะได้
  • นำจำนวน ส.ส.พึงมี ที่แต่ละพรรคได้ ลบ กับ จำนวน ส.ส.เขต ก็จะได้ตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ผลลัพธ์จากที่เคยใช้มาแล้ว

  • พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.เขต 137 คน แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เพราะพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.พึงมีอยู่ที่ 111 คน แต่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตเกินไปแล้วถึง 137 ที่นั่ง
  • พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เขต 97 ที่นั่ง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18 ที่นั่ง
  • สูตรนี้ทำให้เกิดพรรคเล็กปัดเศษจำนวนมาก ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมพรรคเล็กมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

สูตรหาร 500 จะทำให้การเมืองไทยวนไปสู่จุดเดิมอีกครั้ง ที่พรรคเล็กมีแต้มต่อรองทางการเมือง พรรคกลางอย่างภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่เป็นนั่งร้านให้เครือข่าย 3 ป.ต่อไป