เพื่อไทยโวยสภาเผด็จการ ถ้าโหวตสูตรปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 ตามใบสั่ง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
แฟ้มภาพ : นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

ถกวุ่น สูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะหาร 100 หรือ 500 “หมอชลน่าน” ชี้ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยแปรญัตติขัดรัฐธรรมนูญ ถ้ารับเท่ากับ สภาเผด็จการ เพราะถูกสั่งโดยเผด็จการ

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.52 น.ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เดินทางมาถึงมาตราที่มีประเด็นเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้สูตรหาร 100 หรือหาร 500 ในมาตรา 23 นั้น นายครูมานิต สังฆ์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นใช้สิทธิหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยระบุว่า เราประชุมกันมาตั้งแต่เช้า และสมาชิกรัฐสภาก็มาบ่นเรื่องสุขภาพตนเองว่าน่าจะได้ไปพักผ่อนได้บ้าง

อีกทั้งมาตรา 23 เป็นกระแสข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ในประชาชน สื่อมวลชน แม้แต่ในห้องประชุมรัฐสภา ว่าจะมีการพลิกเกม ทั้งที่เป็นกฎหมายจากรัฐบาล มาถึงกรรมาธิการลงมติเอกฉันท์ วิปรัฐบาลลงมติเอกฉันท์ให้ใช้สูตร 100 สุดท้ายก็จะมีการเปลี่ยนแปลงกัน น่าจะให้เวลาไปตั้งสติและคิดกันใหม่เพื่อให้เป็นไปตามบรรยากาศของกฎหมาย เจตนาของรัฐบาลที่สั่งมาเป็นเบื้องต้น แม้วันนี้รัฐบาลจะสั่งมาใหม่

ด้านนายสายันต์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ประชาชนรอคอย และ ส.ส.รอคอยอยากให้จบโดยเร็ว อยากให้เดินหน้าต่อ ทำให้นายชวนกล่าวติดตลกว่า “สวนทางกับปกติ เลยนะครับวันนี้”

เช่นเดียวกับ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวในฐานะวิปวุฒิสภา ว่า วุฒิสภาตรวจสอบองค์ประชุมแล้วพร้อม เดินหน้าได้ทันที

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นชี้แจงว่า เรามีข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย เดินหน้ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้เสร็จทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันนี้ ถูกดึงและชะลอ ไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ในวันนี้

ขณะนี้มีความไม่ปกติเกิดขึ้น มีคำสั่งจากฝ่ายบริหารให้เปลี่ยนแปลงมติ และสิ่งที่กรรมาธิการพิจารณามา ใคร ๆ ก็รู้ ให้เวลาสังคมได้พิจารณา ได้คิดสิ่งที่เกิดขึ้น ให้สมาชิกได้พิจารณา เราจะลงมติอย่างไร และเกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างไร เดินหน้าต่อไปก็ใช่ว่าจะพิจารณาจบในวันนี้ เพราะยังเหลืออีก 10 มาตรา กลับไปนอนคิด 2 สัปดาห์กลับมาใหม่ ให้สังคมได้มีเวลาพิจารณาถึงสิ่งที่เรากระทำ ให้สมาชิกทุกคนได้มีเวลาตัดสินใจอีกครั้ง ไม่อยากใช้วิธีการที่ทำให้การประชุมเดินต่อไม่ได้” นายจุลพันธุ์กล่าว

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นตอบโต้ว่า ไม่อยากใช้การประท้วง ตนและพรรคร่วมรัฐบาลเสียหาย เนื่องจากมีคำพูดว่ามีการดึง ยื้อให้กฎหมายนี้มีปัญหา เพราะตลอดเวลาที่พิจารณา เห็นความพยายามของทุกฝ่ายอยากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้จบ

“ส่วนที่เพื่อนสมาชิกพูดว่ามีคำสั่งจากฝ่ายบริหาร ผมทำงานนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารไม่สามารถสั่งผมได้ เป็นอิสระ”

จากนั้น นายชวนตัดบทให้อภิปรายต่อไปเท่าที่เวลาอำนวยให้ อย่างน้อยให้ผู้ที่มีชื่ออภิปรายได้อภิปราย โดยผู้อภิปรายคือ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่

หลังจากนั้น นายจุลพันธ์ลุกขึ้นถามคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า ในมาตรา 23 กำหนดเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ใช้หลักสัมพันธ์ทางตรงกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งดิ้นหนีไม่ได้ คำนวณ 500 ไม่ได้ แต่ปล่อยให้มีกระบวนการแปรญัตติที่ขัดหลักการและเหตุผลเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้อย่างไร

และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่แก้ไขไปแล้ว จะอ้างคำว่า ส.ส.พึงมีมาตรา 93 ไม่ได้แล้ว เพราะคำว่าพึงมีจบไปแล้ว ดังนั้น ต้องถามว่า กมธ.ปล่อยให้แปรญัตตินี้ได้อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการ กล่าวว่า กรณีนี้ ตอนที่รัฐสภารับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 4 ร่าง โดยใช้ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นร่างหลัก ซึ่งส่วนลึกลงไปในมาตรา 23 ร่างของ ครม.หาร 100 เช่นเดียวกับร่างของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ของพรรคเพื่อไทย ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ก็หาร 100 ร่างของพรรคก้าวไกลก็หาร 100 เช่นกัน

แต่ในการประชุมกรรมาธิการ นพ.ระวี และกรรมาธิการบางท่าน เสนอให้คำนวณโดยหาร 500 ซึ่งมีการแย้งแล้วว่าขัดหลักการ สุดท้ายมีการลงคะแนนในชั้นกรรมาธิการ เสียงส่วนใหญ่ยืนยันหาร 100 แต่ให้สิทธิกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติมาพูดในสภา เชื่อว่าทางสภาจะโหวตไปทาง 100 ไม่คิดว่าจะมีสถานการณ์ในปัจจุบัน

“เรายืนตามรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ดังนั้น เราเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาอ้าง ถือว่าผิดฉบับ ที่เราอนุญาตแปรญัตติ เราให้มาพูดในสภา แต่เหตุผลที่เราโหวตกันในกรรมาธิการเสียงข้างมาก จะมีปัญหาไม่สามารถทำได้เพราะการหาร 500 จะขัดรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” นายนิกรกล่าว

นายนิกรกล่าวว่า ในชั้นกรรมาธิการเราเคยนำสูตรหาร 500 มาคำนวณแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะจะเกิด hank over ทำให้ ส.ส.จะเกิน 125 คน 150 คน เราไม่สามารถรับได้เพราะนำมาคำนวณไม่ได้จะเกิดปัญหาขึ้นมาแน่

ทำให้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการลุกขึ้นประท้วงว่านายนิกรชี้แจงเกินเลยไปจากที่กรรมาธิการพิจารณา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายว่า กรรมาธิการไม่กล้าตัดสิทธิสมาชิกในการแปรญัตติทั้งที่รู้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ให้สิทธิกรรมาธิการสงวนคำแปรญัตติมาให้รัฐสภาตัดสิน ดังนั้น ต้องมีการลงมติ 2 ครั้ง ครั้งแรกการแปรญัตติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ชอบด้วยการตรากฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อเข้าสู่พิจารณาในญัตติ

“สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ต้องยึดหลัก สมัยก่อนหาว่าเผด็จการรัฐสภา แต่ระวังว่าถ้ามีการสั่งการเอา 500 มันไม่ใช่เผด็จการรัฐสภา แต่จะเป็นสภาเผด็จการ ถูกครอบงำและถูกสั่งการด้วยเผด็จการ เราจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ ในฐานะประธานกรรมาธิการ กล่าวชี้แจงว่า สิ่งที่ นพ.ชลน่าน วินิจฉัยโดยส่วนตัวว่า การร่างกฎหมายผิดข้อบังคับหรือขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นสิทธิที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยกระบวนการนั้นได้ แต่กรรมาธิการไม่สามารถตัดสิ่งที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้มีการสงวนความเห็นไว้ได้