ศบค.ชุดใหญ่ ประชุม 8 ก.ค. จับตาประกาศโควิดโรคประจำถิ่น

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เดิมกำหนดให้มีการกักตัว 7+3 วัน คือกักตัว 7 วัน สังเกตอาการอีก 3 วัน แต่ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการได้ลดเหลือ 5+5 จะรอนำเข้าที่ประชุม ศบค.วันที่ 8 กรกฎาคมนี้

ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาประกาศโควิดโรคประจำถิ่น ลดวันกักตัว 5+5 วัน ฟรีวีซ่า

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.00 น. วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ครั้งที่ 10/2565 ที่มีการพิจารณาในหลายวาระ

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการพิจารณาแผนการเดินหน้าให้โควิด-19 เป็น Endemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่นตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ ศบค.พิจารณา ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีประเมินสถานการณ์การผ่อนคลายที่ผ่านมา ทั้งการประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังมีเชื้อตัวใหม่เข้ามาว่าเพิ่มขึ้นอย่างไรด้วย

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเตรียมเสนอ ที่ประชุม ศบค. ให้ลดการกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 จากเดิมกำหนดให้มีการกักตัว 7+3 วัน คือกักตัว 7 วัน สังเกตอาการอีก 3 วัน ลดเหลือ 5+5 แทน

เช่นเดียวกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงฯเตรียมประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าของวีซ่าประเภทท่องเที่ยว และ Visa on Arrival รวมถึงเสนอขยายระยะเวลาพำนักเป็น 45 วัน ทั้งวีซ่าประเภทท่องเที่ยว, Visa on Arrival และขยายเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวที่ได้รับการยกเว้นตรวจลงตรา (ผ.30) โดยปรับเป็น 45 วัน จนถึง 31 ธันวาคม 2565 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย กระทรวงฯจะนำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณา