โหมไฟไล่ ประยุทธ์ นายกฯ 8 ปี เพื่อไทยจัดม็อบ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

กราฟฟิกประยุทธ์
รายงานพิเศษ

เข้าสู่เดือนตุลาคม สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจต้องเจอระเบิดการเมืองครั้งใหญ่

เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 กำหนดข้อห้ามว่า ห้ามนายกฯ ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปี

นำมาสู่การเคลื่อนไหว ตีความการเมืองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสถานะเป็นนายกฯ ต่อไปได้หรือไม่

ตามเนื้อเรื่องก่อนหน้านี้ มีการตีความ 3 ทาง เกี่ยวกับคุณสมบัติของ “พล.อ.ประยุทธ์”

ทางที่หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

ทางที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ครบ 8 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2570 เพราะได้รับ ครั้งที่ 2 พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560

และ ทางที่สาม พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ 8 ปี จนถึง 2568 โดยยึดถือวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นหลัก เพราะสถานะเป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เริ่มขึ้นในตอนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

แน่นอน ฝ่ายที่ยืนตรงข้าม-คู่อริ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยืนอยู่ในทางแรกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีวาระดำรงตำแหน่งถึงแค่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น

ประยุทธ์ติดกับรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมดวาระใน 24 สิงหาคม 2565 คือ พรรคฝ่ายค้าน มีการหารือกันหลายตลบ กระทั่งมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ใน “บทเฉพาะกาล” ระบุว่า ให้ “คณะรัฐมนตรี” ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งรวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์”

อีกทั้งในมาตรา 264 วรรคสอง กลับไม่มี “ข้อยกเว้น” ห้ามไม่ให้นำรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีมาบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ แม้รัฐบาลจะอ้างว่าการนับวาระตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องนับจากวันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ครั้งที่ 2

แหล่งข่าวระดับสูงเพื่อไทย อ่านบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคสอง แล้วฟันธงว่า “รัฐมนตรีนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว”

“ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)”

“แต่ข้อยกเว้นดังกล่าว กลับไม่มีข้อยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญต้องการที่จะยกเว้น บทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเรื่องการอยู่ในตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี มาบังคับกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล”

“ดังนั้นเท่ากับว่า ถ้าตีความตัวอักษร พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากนายกรัฐมนตรี” แหล่งข่าวเพื่อไทยกล่าว

พท.นำฝ่ายค้านยื่นศาล

ทางออกทางเดียวคือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน-ตีความกฎหมาย ดังนั้น “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงกล่าวในเรื่องนี้ว่า เราวางแผนไว้แล้วว่าจะยื่นวินิจฉัย โดยขณะนี้คณะทำงานกำลังพิจารณาว่า ยื่นตอนไหนจะเหมาะสมที่สุด โดยเงื่อนไขคือ ยื่นไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากข้อกล่าวหาที่เราจะยื่นให้ศาลวินิจฉัยการพ้นตำแหน่งของนายกฯ กรณีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี

จึงต้องพิจารณาว่า จะยื่นก่อนวันครบกำหนด หรือหลังครบกำหนดแล้ว ถ้ายื่นหลังครบกำหนดมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญรับแน่นอน แต่ยื่นก่อนครบกำหนดยังไม่มั่นใจว่าศาลจะรับหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณา หากเราจะยื่นก่อนครบกำหนด หลังวันที่ 7 สิงหาคม จะมีความชัดเจน

“ขณะนี้เราเตรียมร่างคำร้องไว้หมดแล้ว แต่ต้องดูว่าเวลาไหนที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้น เพราะคำร้องของเราร้องว่า ไม่ได้ร้องในลักษณะเป็นคำถามให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการพ้นจากตำแหน่ง โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ว่าศาลคิดอย่างไร แต่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกฯ พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 หรือไม่”

“ดังนั้น ถ้ายื่นอย่างนี้ ก็ต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นหรือไม่ แต่ก็มีข้อถกเถียงเหมือนกันว่า เรายื่นคำร้องอย่างนี้แหละ แต่ยื่นก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เดี๋ยวศาลก็ไปวินิจฉัยหลังเกิดเหตุ คือหลังวันที่ 24 สิงหาคม”

ด้าน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องการดำเนินการกับ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี เรามีการคุยเรื่องนี้ในวงพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยต้องแสดงบทบาท “การนำ” ในเรื่องนี้

ขณะนี้ยังมีอยู่สองความเห็นว่าจะยื่นก่อน หรือยื่นหลังวันที่ 24 สิงหาคม ยังถกกันอยู่

อย่างไรก็ตาม มีข่าวแว่วว่าพรรคเพื่อไทย เตรียมการเคลื่อนไหวเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งร่างแผนว่าจะใช้ “ลานคนเมือง” หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จัดอีเวนต์ปลุกกระแสนายกฯ 8 ปี เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสื่อสารทางการเมือง

ขณะเดียวกัน แกนนำพรรคเพื่อไทยจะจัดอีเวนต์กับมวลชนกระจายรับฟังความคิดเห็นทางข้อกฎหมาย-การเมือง เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อปูทางไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

พรรคธรรมนัสร่วมวง

ขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นหัวหน้า ซึ่งถือเป็นคู่อริ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง ร่วมวงกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ลงจากเก้าอี้ ก็ออกมาโหนกระแสเรียกร้องให้สังคมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมนายกฯ 8 ปี

โดย “วิชิต ปลั่งศรีสกุล” รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวว่า “ผมเห็นว่า กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ใช่กฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่ง ที่ต้องเกิดข้อโต้แย้งก่อนจึงจะฟ้องร้องต่อศาลได้”

ขณะที่ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลัง ซึ่งมีสายสัมพันธ์การเมืองกับพรรคเศรษฐกิจไทย แบบ “กึ่งทางการ” ชี้ช่องว่า พอเลยวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ไปแล้ว หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งต่อ ก็จะมีความเสี่ยง ทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง ทั้งคณะรัฐมนตรี และบุคคลที่รัฐมนตรีแต่ละคนแต่งตั้ง

เพราะมีพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. มาตรา 171 ที่ระบุว่า ถ้าปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่ทำให้คนอื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหน้าที่ ทั้งที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ และเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและสำหรับผู้อื่น จะต้องจำคุก 1-10 ปี และปรับ 2,000-20,000 บาท สิทธิที่มิควรได้คือ รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง สิทธิต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีความเสี่ยง เลยเที่ยงคืน 23 ส.ค.ไปแล้ว ประชาชนที่เห็นว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมาย สามารถแจ้งความได้ทั่วประเทศ

โยงกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนคนไทย ที่มี “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นิติธร ล้ำเหลือ รวมตัวเคลื่อนไหวปม นายกฯ 8 ปี ซึ่งกำลังประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องจัดเวทีใหญ่ โหนกระแสเรื่องนี้หรือไม่

8 ปีประยุทธ์-ยุคป๋าเปรม

และยังมีความเคลื่อนไหวภาคประชาชน ในนาม 99 พลเมือง อาทิ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นางพะเยาว์ อัคฮาด ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้เสียหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553, นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายวสันต์ สิทธิเขตต์ เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย, นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, นายเมธา มาสขาว นักพัฒนาเอกชน, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์

ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เสียสละลาออกจากตำแหน่งก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

“หากนายกฯยังต้องการต่ออายุออกไปอีก โดยการตีความรัฐธรรมนูญบิดเบือนเข้าข้างตนเอง จะทำให้ท่านมีมลทินมัวหมองไปตลอดชีวิต และขัดกับคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองอย่างร้ายแรง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ จนเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองจากความแตกแยกสามัคคีที่เกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการ และประชาชน ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ” แถลงการณ์ระบุ

ย้อนกลับไปในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก่อนเอ่ยคำว่า “พอแล้ว” ปิดฉากนายกฯ 8 ปี หลังการเลือกตั้งปี 2531 ก็เกิดความเคลื่อนไหว 99 ปัญญาชน-ชนชั้นนำ ทำหนังสือ “กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองพระบาท” เกี่ยวกับ “ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง”

ชื่อที่แนบท้ายฎีกา อาทิ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รศ.ธงทอง จันทรางศุ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ใจความตอนหนึ่งระบุว่า ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง ความเสื่อมในศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การแตกแยกสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง

ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น

มิอาจแน่ชัดว่าการยื่นถวายฎีกาวันนั้นมีผลต่อการตัดสินใจของ พล.อ.เปรมหรือไม่ แต่อดีตประธานองคมนตรีก็ยุติบทบาทนายกรัฐมนตรีไว้ที่ 8 ปี

แต่คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะอยู่หรือไป ลุ้นกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ