นับถอยหลังนายกฯ 8 ปี ท่าทีประยุทธ์ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้พ้นจากตำแหน่ง

ท่าทีนายกฯ 22 สิงหาคม 65
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ท่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันเริ่มฤดูกาล แห่งการชี้ชะตา หากศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัย กรณีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี นับตั้งแต่เมื่อไร และสิ้นสุดเมื่อไร

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565 วันเริ่มต้นสัปดาห์แห่งความดุเดือดทางการเมืองอีกครั้ง

เดือดแรกคือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงนามในคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะยื่นคำร้องต่อศาลได้ในช่วงเช้าวันนี้  (22 ส.ค. 65)

เดือดที่สอง ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการพิจารณาคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี เพื่อส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เดือดที่สาม สารพัดม็อบ ในนามกลุ่มที่เรียกว่า “คณะหลอมรวมประชาชน” นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา กลุ่มประชาชนคนไทย เปิดเวทีปราศรัย “8 ปี ประยุทธ์ ต้องไป คนไทยลุกขึ้นสู้” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 และยืดเยื้อไปถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร

ก่อนที่จตุพรและทนายนกเขาจะจัดม็อบลงถนนตั้งแต่ราชดำเนินถึงทำเนียบ ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย สน.นางเลิ้งประกาศสวนทันที ด้วยการห้ามชุมนุมและจัดระบบจราจรรอบทำเนียบใหม่

ท่ามกลางความเดือดที่เริ่มส่งควันพวยพุ่งออกจากท้องถนน และมวลชนหย่อมดังกล่าว จะส่งเสียงดังขึ้น มีเสียงเนติบริกร ฝ่ายกฎหมายประจำทำเนียบรัฐบาล สวนออกมา กรณี “รักษาการนายกฯ” หรือ “นายกฯรักษาการ”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า หากนายกฯพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “ผู้รักษาการก็เป็นไปตามลำดับที่เรียงไว้ คนแรกคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ระยะเวลาทำหน้าที่ “รักษาการนายกฯ” ไม่มีแน่นอน มีแต่เพียงว่า “ทำหน้าที่แทน จนกว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่”

ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องเลือกจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมือง ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง 2562 ซึ่งมีอยู่ 5 รายชื่อ ประกอบด้วย 1.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2.นายชัยเกษม นิติสิริ 3.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย (พท.) 4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 5.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

แต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ครม.มอบหมายให้รองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายวิษณุ เครืองาม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นายวิษณุยังระบุด้วยว่า ในระหว่างที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกคาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ “นายกรัฐมนตรี สามารถบริหารราชการไปตามปกติ จนกว่าศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 82”

ทั้งนี้ มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ว่า “หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทําไปก่อนพ้นจากตําแหน่ง”

เมื่อเนติบริการให้คำปรึกษากลางอากาศเช่นนี้ มีหรือ พล.อ.ประยุทธ์จะระส่ำ ในวันนี้ (22 ส.ค. 65) จึงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ราบเรียบราวกับไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น

เช้าวันนี้ (22 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปรากฏตัวที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีผู้ชุมนุมเตรียมชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล รวมถึงแรงกดดันให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่

เริ่มจากเข้าห้องประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น.

ในเวลา 11.40 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ได้แถลงหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงความกังวลกรณีการเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรีปมวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบคำถาม เพียงยกมือไหว้ก่อนโบกมือให้สื่อมวลชน และเดินขึ้นไปยังห้องทำงาน บนตึกไทยคู่ฟ้าทันที

จากนั้นในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้การต้อนรับนายอูชิซเว (H.E. U Chit Swe) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันแห่งการเริ่มฤดูกาลดาลเดือด ในวาระการกล่าวต่อที่ประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 มีใจความว่า…

“ขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติซึ่งวางไว้ 20 ปี เข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว โดยหลายอย่างมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 1 ได้เห็นความก้าวหน้าต่อเนื่องเกิดขึ้นตามลำดับ แม้บางอย่างจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะติดปัญหา”

“แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำงานก็จะเดินหน้าไปได้ และในระยะต่อไปต้องดูว่าจะเดินหน้าอย่างไร หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อไป ซึ่งเราไม่ได้อยู่ไปจนถึงปี 2580 แต่หลัก ๆ คือเราอยู่ใน 6 ยุทธศาสตร์ซึ่งมีการอ่อนตัวอยู่แล้ว สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตลอดเวลา”

“โดยทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ครอบคลุมการเจริญเติบโตทุกด้านของประเทศ ดังนั้น ขอให้คณะกรรมการทุกคนช่วยกันแสดงความเห็น หาทางปฏิบัติ และหากมีปัญหาหรืออุปสรรคขอให้แจ้งมา พร้อมกับต้องเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาด้วย”

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า “นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยการดำเนินการระยะที่ 1 คือการแก้ปัญหาความยากจน ลดภาระ ลดหนี้ให้ประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน โดยมีมาตรการเสริมดูแลผู้มีรายได้น้อย ดูแลคนทุกช่วงวัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ให้อยู่รอดได้ ไม่เป็นภาระของสังคมและครอบครัว”

โดยระยะที่ 2 ต่อจากนี้จะต้องมีการวางแผนหาวิธีการทำให้ประชาชนพอเพียง มีรายได้ที่เพียงพอ ส่วนระยะที่ 3 ของการแก้ไขปัญหาความยากจน คือจะต้องไปสู่ความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ในปัจจุบัน โดยวันนี้หลายเรื่องดีขึ้น หลายเรื่องยังไม่ดี แต่ก็มีส่วนที่ดีอยู่มากพอสมควร ถ้าทุกคนย้อนกลับไปดูและสร้างความเข้าใจ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้เพื่อไปสู่ทั้ง 3 ระยะเพื่อความยั่งยืน

“ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล”

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “การประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่เป็นการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ให้ขับเคลื่อนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมกล่าวฝากให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจเอกชน ต้องร่วมมือกันเดินหน้าต่อไปให้ได้”

“ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาขอขอบคุณทุกคนที่ได้ทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด สิ่งที่เป็นความท้าทายวันนี้ คือทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยทุกคนต้องมาช่วยกันทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือประเทศชาติและประชาชน เพื่อนำยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามห้วงเวลา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน”

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ไม่มีการส่งสัญญาณพิเศษใด ๆ แต่ปรากฏการณ์ที่ต่างไปจากวันธรรมดา คือท่าทีที่นิ่งและเรียบเฉย ไม่ตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม แม้คำเล็ก-คำน้อย