ประยุทธ์ รับดาบ 2 คม วาระ 8 ปี-ส.ส.หาร 500 ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ

ประยุทธ์
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

เกมการเมืองสูตรเลือกตั้งสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 ปิดฉาก-ปิดตาย แต่ยังไม่ตอกฝาโลง แม้รัฐสภาเล่นเกม “ล่มการประชุม” ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ…. พิจารณาไม่ทันตามกำหนด 180 วัน

แต่สูตรหาร 500 ยังมีโอกาสถูกชุบชีวิต เพราะตามขั้นตอนโดยที่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 101 กำหนดไว้ว่า ถ้าพิจารณาไม่ทันตามกำหนด 180 วัน จะต้องใช้ร่าง พ.ร.ป.ที่ใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระที่ 2 นั้น คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ กกต.ยกร่างขึ้นมา

แล้วส่งต่อมาให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งไปยังรัฐสภา ในนามร่างกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งมีสาระสำคัญคือ สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ หาร 100

พรรคเล็ก มั่นใจ ได้ใช้หาร 500

ทว่า “นพ.ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ หัวขบวนสูตรหาร 500 เขาเตรียมรวบรวมสมาชิกพรรคเล็ก 73 คน ไปยื่นกับศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ฟื้นสูตรหาร 500 กลับมาอีกครั้ง

“เมื่อรัฐสภาพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ทัน 180 วัน ก็ต้องใช้ร่างของรัฐบาลที่พิจารณารับหลักการเป็นร่างหลัก สภาใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ส่งไปยัง กกต. จากนั้น กกต.ก็ต้องส่งความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน รัฐสภามีเวลา 30 วันก่อนให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ”

“เมื่อส่งให้นายกฯ แล้ว ต้องทิ้งไว้ 5 วัน พวกผมก็จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าสูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลา 1-2 เดือน ถ้าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ นายกฯ ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าสูตรหาร 100 ไม่ผ่าน ก็ส่งกลับมาที่รัฐสภา เริ่มต้นทำกฎหมายลูกกันใหม่”

“กฎหมายลูกก็มีแค่สูตรหาร 100 กับสูตรหาร 500 ถ้ามีปัญหาก็ต้องย้อนกลับไปแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่”

ส่วนการนับถอยหลังเลือกตั้งที่เหลืออีกแค่ 6 เดือนกว่า ๆ นั้น จะแก้รัฐธรรมนูญ “กฎหมายลูกทันหรือไม่ ?

“ไม่เป็นไรครับ สุดท้ายหาร 500 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ทัน รัฐบาลออกพระราชกำหนดมาใช้ในการเลือกตั้ง แต่คงต้องออกตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหาร 500 ดังนั้น ไม่ว่าสู้กันอย่างไร การเลือกตั้งครั้งหน้าใช้สูตรหาร 500” หมอระวีมั่นใจ

พรรค – พวก ของหมอ “ระวี” คือ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย พรรคที่สนับสนุนสูตรหาร 500 มองว่า สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ว่าจะใช้สูตรหารด้วย 100 หรือ 500 กกต. สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญทั้ง 2 แบบ ดังนั้น เข้าใจว่าจะไม่เป็นปัญหาในชั้น กกต.

“แต่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีประเด็นที่สามารถชี้ได้ว่า ทั้ง 2 กรณีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีถ้อยคำของ ส.ส.พึงมีบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94”

ดังนั้น เส้นทางของสูตรหาร 100 ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ประยุทธ์ ระทึก 8 ปี

แม้ “หมอดู” บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่ม 3 ป. จะพลั้งปาก ไม่ว่า
เผลอ หรือ ตั้งใจ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ได้อีก 2 ปี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายที่ต้องการให้ “พล.อ.ประยุทธ์” พ้นเก้าอี้การเป็นนายกฯ หยุดเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่

เรื่องสถานะ นายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่า นายกฯ จะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

มีประเด็นที่ต้อง “ตีความ” ว่า แล้วสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี ตอนไหน

1.พล.อ.ประยุทธ์ ครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

2.พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ครบ 8 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2570 เพราะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560

หรือ 3.พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ 8 ปี จนถึง 2568 โดยยึดถือวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นหลัก เพราะสถานะเป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เริ่มขึ้นในตอนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ สวมวิญญาณนักกฎหมายระดับอดีตผู้พิพากษา-วิเคราะห์ วาระ 8 ปีนายกฯ เกิดจากรัฐธรรมนูญเขียนไม่ชัดเจน สุดท้ายต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เกมวาระ 8 ปีนายกฯ ตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดเพียงนายกฯดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ปัญหาคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นนับหนึ่งของ 8 ปีไว้ให้เริ่มนับหนึ่งเมื่อใด

“จึงเป็นเหยื่ออันโอชะนักเล่นเกมที่จะตีความมาตรานี้ให้เป็นไปอย่างที่ตนคิด เพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน จะครบ 8 ปีตอนไหน ใครจะมาเป็นนายกฯ ไม่มีประโยชน์อะไรกับบ้านเมืองและประชาชน หากการเมืองเต็มไปด้วยนักเล่นเกม หนังสือคู่มืออธิบายเหตุผลและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 60 อธิบายแต่ละมาตราไว้”

“พอถึงมาตรา 158 กลับไม่ได้บอกว่านับหนึ่งจากไหนและเมื่อใด เลยไม่รู้ว่าเขียนขึ้นมาทำให้ยุ่งเล่นทำไม ส่วนที่เปิดบันทึกการประชุมสนทนาของผู้ร่างกับการนับวาระ 8 ปี แต่กลับถูกปฏิเสธจากผู้ร่าง ว่าที่บันทึกไว้ไม่ใช่เจตนารมณ์ เป็นเพียงพูดกันเฉย ๆ หลายคนถามว่าแล้วจะพูดกันไปทำไม ตนคงตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ร่าง ที่แน่ ๆ ยิ่งเพิ่มความสับสน ความงงให้กับสังคม และเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมฝ่ายไม่เอานายกฯ”

ฝ่ายค้านส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดย พรรคเพื่อไทย ตั้งแท่นล่ารายชื่อ ส.ส. ยื่นให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 2 และขอให้ศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า การยื่นตีความนายกฯ อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งคำว่าติดต่อกันมีความหมายมาก โดยจะต้องตอบ 8 ปีย้อนหลังด้วย เพราะไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใดมายกเว้นว่าไม่ให้นับย้อนหลัง หากไม่ให้นับย้อนหลัง จะต้องมีบทเฉพาะกาลเขียนไว้ให้ชัด

ที่มาคำพูดของ “นพ.ชลน่าน” มาจากวงในของพรรคเพื่อไทย ตีความตามตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญแล้วมั่นใจว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ดิ้นยากในทางนิตินัย

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ใน “บทเฉพาะกาล” ระบุว่า ให้ “คณะรัฐมนตรี” ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งรวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์”

แต่ในมาตรา 264 วรรคสอง กลับไม่มี “ข้อยกเว้น” ห้ามไม่ให้นำรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีมาบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ แม้รัฐบาลจะอ้างว่าการนับวาระตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องนับจากวันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ครั้งที่ 2

เปิดความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคสอง ระบุว่า “รัฐมนตรีนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว”

“ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)”

“ข้อยกเว้นดังกล่าว กลับไม่มีข้อยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญต้องการที่จะยกเว้น บทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเรื่องการอยู่ในตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี มาบังคับกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล”

เท่ากับว่า ดังนั้น ถ้าตีความตัวอักษร พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากนายกรัฐมนตรี

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทยอินไซด์สัญญาณความไม่ลงรอยทางความคิดในศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว

ขั้วที่หนึ่ง ตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงวันที่ 24 สิงหาคม

อีกขั้ว ตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งได้นานกว่านั้น

ซึ่งปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ มีเรื่อง “วาระการดำรงตำแหน่ง” ของประธานศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ จนต้องโยนเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาตีความ แม้จะดูคนละเรื่อง แต่มันก็เป็น “คนละเรื่องเดียวกัน”

เส้นทางของร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. … สูตรหาร 100 หรือสูตร 500 รวมถึงวาระนายกฯ 8 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาดชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ ชะตากรรมของประเทศ และการเลือกตั้งในอนาคต