เปิดไทม์ไลน์ เส้นทางนายกฯ 8 ปี ก่อนตัดสินคดี พล.อ.ประยุทธ์

เปิดไทม์ไลน์ เส้นทางคดีนายกฯ 8 ปี ก่อนชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์

เปิดเส้นทางคดี วาระ 8 ปี นายกฯ ประยุทธ์ ตั้งแต่วันเริ่มตั้งต้น ถึงวันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติ ในวันที่ 30 กันยายน 2565

14 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น. หลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ซึ่งมีการพิจารณาเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 2561

ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร ส่งเอกสารการประชุมดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการพิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่ฝ่ายค้านยื่นให้ตีความ

สำหรับเส้นทางคดี การดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มมีการชูประเด็นดังนี้ตั้งแต่รัฐบาลเจอรุกไล่อย่างหนักจากม็อบราษฎร และมีการถกเถียงถึงการดำรงตำแหน่งวาระ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือจะครบวาระในปีไหนกันแน่

แต่นักการเมืองฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เนื่องจากอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกได้

ตุลาคม 2564 ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร สรุปประเด็นข้อกฎหมายส่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯได้ถึงปี 2570

โดยข้อสรุปดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า “การกำหนดเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย”

ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม.ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ ภายหลังจากที่ ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่

“หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย ดังนั้นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158”

ต่อมา 28 ธันวาคม 2564 ข้อสรุปดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งเป็นประเด็นนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกในเดือนมกราคม 2565

เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม 2565 ทั้งได้มีหลายฝ่ายยื่นให้องค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

เริ่มจากวันที่ 5 สิงหาคม 2565 “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ทั้งสองหน่วยงาน เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ที่สุดแล้วผู้ตรวจการแผนดินตีตกคำร้อง เนื่องจากเป็นอำนาจขององค์กรอื่น

17 สิงหาคม 2565 171 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยนายชวนได้ส่งต่อคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 22 สิงหาคม เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว

24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้อง พร้อมทั้งมีมติ ที่มีมติ 5 ต่อ 4 แบ่งเป็น เสียงข้างมาก 5 คนเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายนภดล เทพพิทักษ์ ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 คน ที่เห็นว่าไม่ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

1 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งคำชี้แจง 23 หน้า ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี พล.ต.วิระ โรจนมาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าทีมสู้คดี

8 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 มีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นการประชุมที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ระบุว่า การนับวันดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องรวมการดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ด้วย

โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 13 กันยายน 2565 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปวันที่ 14 ก.ย. 2565


14 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.