49 ปี 14 ตุลา พรรคการเมือง ปักธงไล่เผด็จการ เปลี่ยนโครงสร้างประเทศ

14 ตุลา 2516

พรรคเพื่อไทย ไทยสร้างไทย ก้าวไกล รำลึก 49 ปี 14 ตุลา ปักธงขับไล่เผด็จการ-เอาทหารออกจากการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนโครงสร้างประเทศ

วันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง มูลนิธิ 14 ตุลา ได้จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ครบรอบ 49 ปี ทั้งนี้ งานเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 14 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนาคือ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ มีพิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ โดยตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ, มูลนิธิ, ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย กลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง และภาคีภาคประชาชน ร่วมงาน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ส่งนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาวางพวงมาลา ขณะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มาในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์ว่า ขอคารวะและรำลึกถึงวีรชน 14 ตุลา ทุกคนด้วยจิตศรัทธา การต่อสู้ของวีรชนผู้กล้า ทั้งผู้วายชนม์และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้วันนี้ผ่านมา 49 ปีจากเหตุการณ์ดังกล่าว การเมืองในประเทศไทยจะมีกลไกประชาธิปไตยที่ไม่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยที่เป็นเพียงรูปแบบ แต่จากประสบการณ์ของวีรชนผู้กล้าหาญในวันนั้น ได้ก่อรูปร่างสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ฝังแน่นในหัวใจประชาชน ส่งต่อสืบทอดมาถึงคนรุ่นนี้

ขณะที่ น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าวว่า ขอระลึกถึงและสดุดีทุกดวงวิญญาณของวีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา แม้ผ่านมาเกือบ 50 ปี แต่การเมืองไทยวนลูปเดิม คือยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ ผู้นำทหารตั้งพรรค มีการเลือกตั้ง มาถึงจุดนี้ สังคมไทยได้เรียนรู้มากมายจากคณะ 3 ป. เรียนรู้ว่าผู้มีอำนาจหวงแหนอำนาจ ได้เรียนรู้ว่าผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีส่วนสนับสนุนมาจาก ส.ว. 250 คน ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ทั้งนี้ จากหลายเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมือง บทเรียนต้องไม่กลายเป็นบทลืม ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันได้ และต้องก้าวเดินไปด้วยกัน

ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ความสูญเสียในอดีตเป็นบทเรียนให้เราเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม และการเรียกร้องอำนาจอธิปไตยของประชาชน วันนี้เราต้องคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริง ๆ เพื่อให้ยุติความขัดแย้ง และให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยเสียงของประชาชนโดยแท้จริง ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยกำลังเปิดให้มีการลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดย ส.ส.ร.

ขณะที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ โดยที่กล่าวเช่นนั้นเพราะว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา สามารถขับไล่เผด็จการที่ครองอำนาจไว้ได้ แต่ขณะเดียวกัน ภายในเวลา 3 ปีเท่านั้นเผด็จการกลับมาของอำนาจและกลับมามีบทบาทในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครั้งของความรุนแรงที่ก่อโดยรัฐ ที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้กระทำผิดได้รับโทษ

เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่สามารถขับไล่เผด็จการและมีชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เป็นเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ความคิดของประชาชนทั้งหมดได้ ดังนั้น การขับไล่เผด็จการยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและในระดับรัฐบาล

“เราต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างของประเทศ เอากองทัพออกไปจากการเมือง ยุติการเข้ามาของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หรือ มือที่มองไม่เห็น หยุดการแทรกแซงทางการเมืองจากองคาพยพที่ไม่เกี่ยวข้อง” อมรัตน์กล่าว

ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า กล่าวว่า บทเรียนจาก 14 ตุลา สอนให้รู้ว่า ไล่เผด็จการออกไป เผด็จการคนใหม่ก็เกิดขึ้นเสมอ ตราบใดที่เราไม่เปลี่ยนโครงสร้างของประเทศให้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง และปฏิรูปทุกสถาบันให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ