ประยุทธ์ ปิดฉากเอเปค 2022 อย่างงดงาม ส่งชะลอมต่อ สหรัฐฯ เจ้าภาพปีหน้า

ประยุทธ์ ปิดฉากเอเปค 2022 อย่างงดงาม ส่งชะลอมต่อ สหรัฐฯ เจ้าภาพปีหน้า

ประยุทธ์ ปิดฉากเอเปค ครั้งที่ 29 อย่างงดงาม มอบชะลอม “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐ รับไม้ต่อ เป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมกล่าวในพิธีส่งมอบการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้แก่สหรัฐอเมริกาในปี 2566 และมอบชะลอมสานไม้ไผ่ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของการประชุมเอเปคให้แก่นางกามาลา แฮร์ริส รองประธานาธบดีสหรัฐฯ ว่า

รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 พร้อมขอบคุณการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกเขตเศรษฐกิจมาโดยตลอด ซึ่งชะลอมที่เป็นสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ในการขนส่งสินค้า บรรจุของใช้ยามเดินทาง และใส่ของขวัญสำหรับมอบให้แก่ญาติมิตร
โดยชะลอม สะท้อนการ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล และรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี

ทั้งการผสานความเข้มแข็งที่หลากหลายและความพยายามของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน สำหรับชนรุ่นหลังของเรา

โดยนายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะส่งมอบชะลอมใบนี้ ให้เป็นทั้งของขวัญ และสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น และความต่อเนื่องของความร่วมมือของพวกเรา ให้แก่สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพเอเปคในปีถัดไป

ทั้งนี้ เอเปคกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ขับเคลื่อนงานของเอเปคต่อไปอย่างไร้รอยต่อ และมั่นใจว่า ประเด็นด้านความยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งระบุในเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่เราได้ร่วมกันวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี จะได้รับการสานต่อในปีหน้า ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐอเมริกา เชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เอเปคจะได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี พร้อมอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566

พล.อ.ประยุทธ์แถลงข่าวปิดการประชุมเอเปคครั้งที่ 29 ว่า แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จออกทรงรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคพร้อมคู่สมรส และแขกพิเศษ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังเมื่อค่ำวานนี้ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติแก่คณะผู้เข้าร่วมประชุมและคนไทยทุกคน

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปคทั้งหมด เอเปคต้องยืนหยัดทำงานเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ประชุมแบบพบหน้า

การประชุมนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้การหารือระหว่างผู้นำ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ผู้นำได้พูดคุยกับภาคเอกชน ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และนายกฯ ยังได้รับฟังมุมมองของกลุ่มผู้แทนเยาวชนเอเปคจาก APEC Voices of the Future 2022

ที่ประชุมยังได้หยิบยกสถานการณ์การคุกคามด้านนิวเคลียร์ ไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปคเข้าใจและมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อไปและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 ซึ่งการทำงานของเอเปค 2022 ตลอดทั้งปี ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” มีผลลัพธ์ ดังนี้

ประการแรก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” เอเปคได้เดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก FTAAP ผลงานที่เป็นรูปธรรม คือ จัดทำแผนงานต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ ๆ

ประการที่สอง “เชื่อมโยงกัน” เอเปคได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความพร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต

ประการสุดท้าย “สู่สมดุล” ผู้นำเอเปคทุกคนได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” วางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งโอกาสนี้ เอเปคได้ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ bangkokgoals.apec.org อีกด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยได้สิ้นสุดลงแล้ว ตนได้ส่งมอบหน้าที่นี้แก่สหรัฐอเมริกาที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ตนเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะสานต่อภารกิจของไทยที่ได้ริเริ่มไว้ การส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ว่า

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า นอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่อไปด้วย โดยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับมือและให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งยังสนับสนุน MSMEs ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับสตรี เยาวชน ตลอดจนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังคงมีช่องว่างอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านดิจิทัลและเสริมพลัง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทุกกลุ่ม

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปว่า เอเปคเห็นพ้องว่าต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

ทั้งนี้ ยินดีที่เอเปคมุ่งมั่นสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระ FTAAP โดยเอเปคยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs และธุรกิจนอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ไทย หวังว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะช่วยบ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมร่วมกันต่อไป

โดยในตอนท้าย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG