ศาลฎีกา ตัดสิทธิการเมือง กนกวรรณ ตลอดชีวิต คดีรุกป่าเขาใหญ่

ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษา ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ปมรุกป่าเขาใหญ่ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นโจทก์ ในฐานะผู้ร้อง กับ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะผู้คัดค้าน กรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจากกรณีรุกป่าเขาใหญ่

คดีนี้ ป.ป.ช.ผู้ร้องยื่นคำร้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2545 นางกนกวรรณดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 15 ต.เนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 30-2-80.5 ไร่ โดยอ้างว่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจาก นายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 แต่นายทิวไม่มีตัวตน ทั้งไม่เคยมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่

ให้รัฐสูญเสียที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติให้แก่ผู้คัดค้าน การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41158 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จึงมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นความเสียหายร้ายแรง ผู้คัดค้านยังคงยึดถือครอบครองที่ดินต่อเนื่องตลอดมาจนกระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ คำพิพากษาระบุตอนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่ผู้คัดค้านขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41158 นั้น ผู้คัดค้านไม่ได้ครอบครองทําประโยชน์ในที่ดิน ผู้คัดค้านจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดิน การที่ผู้คัดค้านให้ถ้อยคําต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิว่า เมื่อปี 2533 ผู้คัดค้านซื้อที่ดินมาจากนายทิว มะลิซ้อนเมื่อปี 2533
โดยนายทิว มะลิซ้อนกันสร้างมาเมื่อประมาณปี 2500 แล้วผู้คัดค้านครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา

จึงฟังได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคําเท็จ ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 ทวิ (3) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และข้อ 14 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมาย ที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้ การที่กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41158 ให้ผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ชอบ

เมื่อผู้คัดค้านขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย แล้วได้โฉนดที่ดินมาตั้งแต่ปี 2554 และยังคงถือครองโฉนดที่ดินดังกล่าวมาจนถึงวันที่ผู้คัดค้านดํารงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 แล้ว และถือว่ามี ลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง

ทั้งการกระทําดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ ภาพลักษณ์และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้คัดค้านที่ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แม้มิได้เป็นการใช้อํานาจหน้าที่ของตนโดยตรงก็ตามเพราะอาจทําให้สาธารณชนขาดความเชื่อถือศรัทธาต่อการดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของผู้คัดค้าน

จึงเป็นการก่อให้เกิด ความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 เมื่อการกระทําดังกล่าวถือได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในการบังคับใช้ กฎหมาย จึงเป็นกรณีมีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคสอง

พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81 และ มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง และข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง


ให้ผู้คัดค้านพ้น จากตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการนับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2565 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคําสั่ง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่ง ทางการเมืองใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสาม วรรคสี่ และเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกําหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคําพิพากษา คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก