แชร์ว่อน ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ส่อแพ้ฟาวล์ คุณสมบัติไม่ตรง-มีส่วนได้-เสีย ออกประกาศ กกต.

วันที่ 1 มีนาคม 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า แวดวงนักกฎหมายมีการส่งข้อความเรื่องคุณสมบัติของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ที่ลงสมัครคัดเลือกเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาจจะมีคุณสมบัติไม่ตรงตามคุณสมบัติของผู้สมัครเลขาฯ กกต. ตามข้อ 6 (ก) ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการออกประกาศ กกต. เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเทียบตำแหน่งอย่างอื่นเท่าการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ตามหนังสือเวียน นร. 1008/ว 9 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2560 กำหนดให้ตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 9/รองศาสตราจารย์ระดับ 9/อาจารย์ระดับ 9/ครูเชี่ยวชาญ/ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญเทียบเท่าข้าราชการพลเรือนระดับเชี่ยวชาญ ขณะรองศาสตราจารย์ที่มีเงินประจำตำแหน่ง 5,600 บาท หากได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เทียบเท่าคณบดี ให้เทียบตำแหน่งข้าราชการพลเรือนเท่ากับประเภทผู้อำนวยการระดับต้น หรือรองศาสตราจารย์ที่มีเงินประจำตำแหน่ง 9,900 บาท หากได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เทียบเท่าคณบดี ให้เทียบตำแหน่งข้าราชการพลเรือนเท่ากับประเภทผู้อำนวยการระดับสูง ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น พ.ศ.2553 เท่านั้น

ขณะที่ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2561 คุณสมบัติของผู้สมัคร ข้อ 6 (ก) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการของหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าประเภทบริหาร ตั้งแต่บริหารระดับต้นตามระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 โดยต้องมีเวลาในการดำรงตำแหน่งนั้นไม่น้อยกว่า 2 ปี

ทั้งนี้ มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง บัญชีมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (ฉบับปัจจุบัน) ข้าราชการพลเรือนมี 4 สายงาน คือ (1) สายงานประเภทบริหาร (2) สายงานประเภทอำนวยการ (3) สายงานประเภทวิชาการ และ (4)สายงานประเภททั่วไป “บริหารงานต้น” หมายถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งในฐานะรองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม หรือตำแหน่งอื่นที่ ก.พ.กำหนด เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นและปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย “อำนวยการสูง” หมายถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งในการบริหารงานในฐานะหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าระดับกรมในราชการบริหารส่วนกลาง หรือราชการบริหารส่วนภูมิภาค หรือหัวหน้าหน่วยงานอื่นที่มีลักษณะงานเกี่ยวกับการวางแผน บริหาร จัดการ จัดระบบงาน อำนวยการ สั่งราชการ มอบหมาย กำกับ แนะนำ ตรวจสอบ ประเมินผลงาน ตัดสินใจ แก้ปัญหาเกี่ยวกับงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงานสูงมากเป็นพิเศษ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น พ.ศ.2553 เทียบกับประวัติรองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้เทียบข้าราชการพลเรือนเท่ากับประเภทผู้อำนวยการระดับต้นหรือระดับสูง แล้วแต่กรณีเท่านั้น ซึ่งมิใช่ประเภท “บริหารระดับต้น” ตามระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ฉะนั้น คุณสมบัติรองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร จึงไม่ตรงตามคุณสมบัติของผู้สมัครเลขาฯ กกต. ตามข้อ 6 (ก) ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 เรื่อง พิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งและร่างแผนการปฏิบัติงานในการสรรคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งก็เป็นกรรมการในที่ประชุมดังกล่าว และมีการแสดงความเห็นและร่วมลงมติด้วย แต่ตนเองกลับโดดลงมาเป็นผู้สมัครเสียเอง อาจเข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) หรือไม่ เพราะถือว่าอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ทางวิชาชีพ (professional interests) อันส่งผลให้เกิดปัญหาที่จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางหรือไม่ลำเอียง ซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจที่มีต่อบุคคลผู้นั้น ว่าจะสามารถปฏิบัติงานตามตำแหน่งให้อยู่ในครรลองของคุณธรรมจริยธรรมได้มากน้อยเพียงใดในอนาคต

 

ที่มา มติชนออนไลน์