
ภาคธุรกิจ-เอ็นจีโอ สะท้อนปัญหาโครงสร้าง หนุนให้รัฐบาลกระจายอำนาจ-เงินลงท้องถิ่นมากขึ้น ภาคเหนือ เน้นแก้ปัญหาฝุ่น-อีสาน อยากเดินหน้าโครงการ NeEC ภาคตะวันออก ร้องแรงงานขาดแคลน ภูเก็ตอยากได้คลัสเตอร์ท่องเที่ยว เชื่อมกระบี่ พังงา สตูล ตรัง ขอความมั่นคงแหล่งน้ำ
วันที่ 5 เมษายน 2566 ที่อาคารมติชน เครือมติชนจัดแคมเปญ “มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย” ที่จับมืออีก 5 พันธมิตร ได้แก่ ทีดีอาร์ไอ, สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน เปิด “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์” ซึ่งจัดเป็น เวที 4 “เสียงประชาชน : นโยบายที่ใช่-สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ” จากตัวแทนท้องถิ่น และภูมิภาค
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
เชียงใหม่ เร่งแก้หมอกควัน
นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาอยากให้รับการแก้ไขเร่งด่วนในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่เฉพาะพื้นที่เชียงใหม่ หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาหมอกควัน ซึ่งมีในภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ 2-3 ปีหลัง ตั้งแต่โควิด-19 รุนแรงขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน กระทบการท่องเที่ยวเชียงใหม่ คาดการณ์ว่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และทางคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ สำรวจและพบว่าจังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราโรคมะเร็งปอด 40 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 20 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ กำลังเริ่มทำลายสุขภาพโดยรวมประชากรในพื้นที่
ภาคเอกชนมีความพยายามผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดให้ทางรัฐบาลประกาศใช้ และอยากให้ภาครัฐปรับกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เพราะที่ผ่านมาเรื่องกฎหมายและการทำงานภาครัฐไม่ได้มีการบูรณาการกัน ใช้กฎหมายทับซ้อนกัน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงาน กระทรวงคมนาคม ดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูระดับมลพิษทางอากาศ
ซึ่งกฎหมายบางอย่างทับซ้อนกัน ทำให้ไม่สามารถหาเจ้าภาพโดยตรงได้ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องบูรณาการและปรับกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หว่านประชานิยมกระทบคัล
ส่วนนโยบายพรรคการเมืองที่น่าสนใจ หรือไม่ นายจุลนิตย์กล่าวว่า ช่วงใกล้เลือกตั้งมีการปล่อยแคมเปญ แต่สิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือ หาเสียงในเชิงประชานิยม พรรคการเมืองส่วนมากใช้วิธีการเติมเงินเข้าไปในโครงการต่าง ๆ เช่น เติมเงินในสวัสดิการแห่งรัฐ การขึ้นค่าแรง เป็นสิ่งที่น่ากังวลในระยะยาวของภาคธุรกิจ
จริง ๆ แล้วทำให้เรื่องงบประมาณการคลังในระยะยาวที่ต้องเพิ่มขึ้นไปด้วย อยากให้ทางพรรคการเมืองออกนโยบายที่จับต้องได้จริงและเข้าถึงระดับรากหญ้า โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไข ต้องพยายามลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ และเรื่องสิ่งแวดล้อม PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่อยากให้พรรคการเมืองโฟกัสเรื่องนี้
อยากให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา สิ่งแรกที่ควรจะต้องทำคือ 1.การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างบูรณาการ และถึงเวลาแล้ว อาเซียนทั้งหมดต้องมาพูดคุยกัน จุดความร้อนเกิดจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงต้องออกนโยบายเชิงรุกในระดับนานาประเทศ
2.ฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำ หลาย ๆ ภูมิภาค เศรษฐกิจดูเหมือนจะดีขึ้น แต่รอการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายอยู่ และอยากให้ภาครัฐดูต้นทุนการผลิตของเอกชน ทั้งค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นอุปสรรคตัวหนึ่งของภาคเอกชน และเรื่องทุนต่างชาติที่เข้ามาในพื้นที่ อยากให้ภาครัฐแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยมากขึ้น ถ้าต่างชาติเข้ามาแล้วต้องมีมาตรการรองรับ ทั้งเรื่องภาษี โดยเฉพาะกฎหมายที่จะลงโทษนอมินี โดยเฉพาะคนไทยที่ไปสนับสนุนการลงทุนต่างชาติ
3.อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูเรื่องการปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ อยากให้มีกฎหมายและมีการตั้งหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในเรื่องนี้
เอาโครงการถมพื้นที่ ไม่ดูความต้องการ
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาคอีสานทุกคนมองว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งมีความยากจนสูง มีภาพแรงงานไปขายต่างจังหวัด ต่างประเทศเยอะมาก แต่ทางกายภาพจริง ๆ แล้ว ภาคอีสานมีความพร้อมหลายด้าน ทั้งด้านการค้าการลงทุนเพื่อจะตอบสนองดึงคนกลับมาบ้าน ซึ่งเราได้คิดต่างทางการเมืองมาตลอด เพราะทางการเมืองคิดว่าอยากหาเงินมาใช้ในพื้นที่ให้เยอะ
ความเป็นจริง ภาคเอกชนอยากให้ดูกายภาพ แล้วเราเอาเงินมาเติมในพื้นที่ดีหรือไม่ แต่นำเสนอพรรคการเมือง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง มีแต่โครงการต่าง ๆ ที่พยายามเอาคะแนน จึงทำให้ความเป็นภาคอีสานด้อยลงไปเรื่อย ๆ จนแล้วจะจนลงไปอีก นี่คือปัญหาใหญ่ ๆ
ส่วนนโยบายพรรคการเมือง เห็นว่าทุกพรรคพยายามพูดเรื่องค่าแรง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการในพื้นที่ก็ไม่มีปัญญาในการจ่ายค่าแรง เป็นค่าแรงที่สูงเกิน ก็จะเอาคนจากพื้นที่ไปเหมือนเดิม และไปต่างประเทศ แต่คนที่จะได้ประโยชน์ ลาว กัมพูชา เวียดนามก็จะมาอยู่แทนพวกเรา
“แต่ไม่มีพรรคไหนเลย ที่จะบอกว่า ค่าแรงแบบนี้ควรมีสกิลอย่างไร เพราะถ้าสกิลดี ๆ เราได้ค่าแรงมากกว่าที่หาเสียงในทุกวันนี้ เพราะคัลเจอร์คนไทย เรื่องการก่อสร้าง มีฝีมือดีมาตลอดไม่ว่าไปทำที่ไหน สร้างแล้วไม่มีปัญหา เราขายไปในลาว เราต้องไปติดตั้ง คนไทยติดตั้งได้เก่งกว่า ไม่เกิดความเสียหาย นี่คือขีดความสามารถของเรา รัฐบาลไม่มอง มักเอาโครงการต่าง ๆ มาใส่เข้าไป ทำให้คนออกจากพื้นที่ ซึ่งมองต่างจากประชาชน” นายสวาทกล่าว
เร่ง NeEc สร้างงานในพื้นที่
รัฐบาลใหม่เข้ามาเร่งทำอะไรเป็นอย่างแรก นายสวาทกล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจไป และยังถูกเรื่องรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาซ้ำเติม เศรษฐกิจโลกเข้ามาถาโถม แต่จริง ๆ แล้วอีสานยังมีพื้นที่เยอะในเรื่องการเกษตร รวมถึงอยากให้มองเศรษฐกิจ เพิ่มงานให้กับพื้นที่เยอะ ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เราปลูกข้าวได้ฤดูกาลเดียว แทนที่จะปลูกได้ทั้งปี เพราะเครื่องไม้เครื่องมือทำได้หมด เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้น
นายสวาทกล่าวว่า ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC ต้องเร่ง และอยากให้ภาคเอกชนเข้าไปช่วยคิด ช่วยทำให้เกิดการสร้างเงิน สร้างรายได้ในพื้นที่ได้ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะเป็นหัวใจสำคัญมากกว่า
และทันทีที่เข้ามาต้องทำทันที ไม่มีการฮันนีมูน หรือศึกษา เพราะโครงสร้างทั้งประเทศเหมือนกันหมด ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐมนตรีแล้วต้องมาฝึกหัดกันใหม่ เพราะเศรษฐกิจโลกมันเปลี่ยนเร็ว ถ้าเกิดข้อผิดพลาดก็เป็นการแก้ไขนิดหน่อย แต่เศรษฐกิจจะเดินหน้าไปตลอดทาง ส่วนกฎระเบียบต่าง ๆ เอาไว้ข้างหลังป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
ภูเก็ตขอความมั่นคงแหล่งน้ำ-เชื่อมอันดามัน
นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตฟื้นตัวโควิด-19 เร็วกว่าความคาดหมายไปเยอะ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ด้านดีคือกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สังคมเราไม่มีความพร้อมด้านการรับนักท่องเที่ยว เช่น ปัญหารถติด มีแผนดำเนินการ 3-4 เส้นทาง แต่ยังเป็นแค่แผนการ อย่างเร็วที่สุดดำเนินการได้ในปี 2567 จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเรื่องการจราจร
อีกเรื่องคือ ขนส่งมวลชนที่จังหวัดภูเก็ต เรียกร้องกันมามากกว่า 30 ปี ทั้งรถเมล์ หรือขนส่งรางเบา อยากให้คนภูเก็ตได้ใช้ และให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว และนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการแท็กซี่ ซึ่งมีต้นทุนการเดินทางที่สูง
รวมถึงอยากได้ความมั่นคงเรื่องของน้ำ เพราะเรามีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เก็บกักตุนได้แค่ 3 แหล่ง ไม่เพียงพอต่อการใช้ตลอดทั้งปี ส่วนระยะยาวอยากได้เรื่องน้ำที่มั่นคงมากกว่านี้ มีอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 4-5 หรือผันน้ำมาจากเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี
เรื่องสุดท้ายที่เป็นเรื่องเร่งด่วนคือ จังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคน มีประชากรตามทะเบียนบ้าน 3.5 แสนคน มีนักท่องเที่ยวตลอดเวลา 1 ล้านคน ประชากรแฝงอีก 7 แสนคน ตลอดเวลาจะมีประชากรอยู่ 2 ล้านคน แต่งบประมาณที่มาจัดการภูเก็ตให้รองรับคน 2 ล้านคนไม่เพียงพอ จึงอยากให้ภาครัฐกระจายอำนาจให้จังหวัดภูเก็ต หรือ จังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ คิดและทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้
รวมถึงกระจายงบประมาณอย่างเพียงพอตามการสร้างรายได้ของเกาะภูเก็ต ควรมีเม็ดเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและจัดการปัญหา อยากให้ภาครัฐเร่งกระจายอำนาจ ทั้งจัดสรรงบประมาณ หรือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อตอบโจทย์ได้ทำในสิ่งที่เราต้องทำได้เอง เรารับได้หมดทุกเรื่อง
ส่วนสิ่งที่อยากให้ทำเป็นอย่างแรกนั้น จังหวัดภูเก็ตเชื่อมโยงกับทางบกทางน้ำกับจังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ การพัฒนาเขตการท่องเที่ยวอันดามันแบบเชื่อมโยง ซึ่งจังหวัดภูเก็ตอยู่จังหวัดเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพากัน และอาจต่อยอดไปถึงจังหวัดสตูล และตรังด้วย อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเขตท่องเที่ยวอันดามันของเรา
ภาคตะวันออก อยากกระจายเงิน-อำนาจ
นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ปัญหาค่อนข้างมากคือปัญหาแรงงาน หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคบริการรุนแรงมาก รวมถึงช่วงมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงมีผลไม้ ทำให้ความต้องการแรงงานตามฤดูกาลมากยิ่งขึ้น ทำให้ปัญหาลุกลามไป
ส่วนนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรคพูดถึงเรื่องปากท้อง และเศรษฐกิจ เป็นภาพองค์รวมที่เราต้องรีบทำ แต่ภายใต้นั้นมีปัญหาหลายอย่างที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหากระจายอำนาจของรัฐบาล เช่น ระบบงบประมาณที่เราต้องกระจายไปสู่ภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจจากทางทบวง กระทรวง กรม ว่าจะต้องทำอะไร
งบประมาณที่กระจายลงมาให้ผู้ว่าฯตัดสินใจ ทั้งประเทศมีอยู่ 2.8 หมื่นล้าน คงมา 10 ปี จังหวัดหนึ่งได้แค่ 100-200 ล้านบาท ซึ่งทำอะไรได้ไม่ค่อยมาก ดังนั้น เรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องตัดสินใจ โครงการ และงบประมาณ ถ้าพรรคการเมืองไหนเสนอ จะสามารถกระตุ้นการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งคือ ขีดความสามารถในการแข่งขัน พอเราพูดถึงเรื่องปากท้องก็มาผูกกับเรื่องเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันกับคนอื่นได้ ซึ่งต้องปรับในภาครัฐบาลด้วย ตัวอย่างเช่น กฎระเบียบต่าง ๆ เปลี่ยนจากการกำกับภาคเอกชน เปลี่ยนไปเป็นการส่งเสริมให้ได้มาก
เช่น เราพูดเรื่องการท่องเที่ยวเป็นความหวังของประเทศ แต่กฎกระทรวงเรื่องของโรงแรม ผ่านไป 2 ปียังไม่ออกมา คิดว่าเราต้องรีบทำ หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งทำในส่วนนี้
ส่วนเรื่องค่าแรงที่หลายพรรคนำเสนอนั้น ค่าแรงกับการขาดแคลนแรงงานสัมพันธ์กัน ถ้าขาดแคลนไปอย่างนี้เรื่อย ๆ แล้วจะต้องทำธุรกิจต่อไปให้ได้ก็บังคับให้ค่าแรงขึ้นไปเอง แต่ถ้าทำให้ค่าแรงขึ้นโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ต้องระวังให้ดี เพราะ SMEs ปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ลำบาก เงื่อนไขที่จะฟื้นตัวในปัจจุบันก็มีเยอะ เช่นต้นทุนสูง ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ยขาขึ้น แรงงานที่ขาดแคลน ยังมีเรื่องการเงินที่เดือดร้อน ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข
เราต้องดูเป็นองค์รวม พัฒนาให้คนกินดีอยู่ดี ต้องให้คนวินหมด ทั้งผู้ประกอบการก็วิน แรงงานก็วินด้วย แต่จะทำอย่างไรให้รัฐบาลในฐานะผู้ขับรถที่จะพาทุกคนไปถึงจุดหมายปลายทางได้
“ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญคือ เรื่องคอร์รัปชั่นที่ผ่านมาไม่น้อยลงและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ชนิดที่ประชาชนเกือบมองเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย จะเป็นปัญหาในอนาคต พอมีเรื่องคอร์รัปชั่นภายในไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้ รวมถึงอยากให้เร่งพัฒนาด้านการศึกษา เราจำเป็นต้องมีความสามารถไปรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ
ขณะนี้เราดึงดูดการลงทุน แต่ถ้าเรารับเทคโนโลยีไม่ได้ หมายความว่าเขาจะรับเราเป็นแรงงานตลอดกาล จึงเชื่อมโยงกับกระจายอำนาจ วันนี้ยอมให้พื้นที่มีความอิสระมากขึ้นกว่าเดิม ในการพัฒนาการศึกษา จะทำให้เราดีขึ้น” นายปรัชญากล่าว
บก.ลายจุด อยากให้แก้เรื่องหมอกควัน
ทั้งนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวว่า ถ้าเร่งด่วนเป็นเรื่องปัญหาหมอกควัน คือการดับไฟป่า จนกว่าจะถึงฤดูฝนที่จะมาปิดเกม เพราะไฟป่ายิ่งกว่า PM 2.5 ซึ่งมีผลต่อภาวะโลกรวน มีผลต่อระบบนิเวศ ป่าก็จะหายไป ใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัว และทำให้ปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้งจะตามมา ราคาของมันมหาศาล และกระทบกับการท่องเที่ยว เช่น จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย ยังกระทบถึงสนามบินที่เครื่องอาจจะลงไม่ได้ การใช้ชีวิตของประชาชนก็จะลำบาก เข้าขั้นวิกฤต
แนวคิดจะทำเรื่องท่องเที่ยว long stay ในภาคเหนือ ทำไม่ได้ เพราะมีการเผา มีไฟป่า จึงทำให้เกิดที่ภาคเหนือไม่ได้ ส่วนเรื่องนโยบายพรรคการเมืองที่จะจัดการเรื่องนี้ ตนยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการดับไฟป่า มีแต่เห็นความสนใจของผู้บริหารพรรคบางคน เช่น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จากพรรคเพื่อไทย ที่อินกับเรื่องไฟป่า แต่ยังไม่เห็นตัวนโยบายของพรรค เห็นแค่การเคลื่อนไหวของตัวบุคคล
“ตอนนี้ทุกพรรคเห็นด้วย ว่าจะต้องแก้ปัญหา PM 2.5 แต่ใครจะมีความเข้าใจและเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะแก้ปัญหา ผมว่ามีน้อย ยังไม่เห็น” นายสมบัติกล่าว
แก้ รธน.-แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เรารณรงค์สิ่งแวดล้อม เราเห็นว่าปัญหาที่เร่งด่วนและเป็นปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องมลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาที่มีความเรื้อรังซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน เป็นวิกฤตสาธารณสุขของประชาชน เราเห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหาเร่งด่วนแบบนี้ จะใช้วิธีการเฉพาะหน้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปดูรากเหง้าของปัญหาคืออะไร
เราจะต้องผลักดันให้เกิดเครื่องมือทางกฎหมาย การพัฒนาที่ผิดทิศผิดทางไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ดังนั้น เครื่องมือทางกฎหมายจะเข้ามารับมือในระยะยาว จะต้องมีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเรื่องการเคลื่อนย้ายมลพิษ กฎหมายอากาศสะอาด การกำหนดค่ามาตรฐานที่ปล่อยมาจากแหล่งกำเนิด
ส่วนนโยบายพรรคการเมืองที่ออกมา ถ้าดูเราจะเห็นสิ่งที่โดดเด่น พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่เป็นพรรคหลัก พูดถึงการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งน่าสนใจมากที่เอามิติสิ่งแวดล้อมเข้ามา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และคิดว่านโยบายพรรคการเมืองก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้แก้ไขปัญหาโครงสร้างใหญ่อันหนึ่งคือรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้น ๆ ทำอย่างไรให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รับรองสิทธิของคนที่เข้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องโดยตรง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า รอรัฐบาลใหม่อนุมัติ ตกลงค่าไฟที่เราใช้ทุกวันนี้มีความชอบธรรมหรือยัง แฟร์ เป็นธรรม
แก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่แก้โครงสร้าง
นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย เสนอว่า มองเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหลัก สอง เรื่องประชาธิปไตยภายในประเทศมีความจำเป็น รัฐธรรมนูญจะเป็นแกนหนึ่งนำไปสู่การปฏิรูปในด้านอื่น ๆ สาม ปฏิรูประบบราชการที่ผ่านมา แค่กระบวนการยุติธรรม ประชาชนเริ่มไม่ค่อยเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่เร่งแก้จะนำไปสู่วิกฤตต่าง ๆ สี่ ปัญหาเรื่องทรัพยากร ที่คนส่วนใหญ่ต้องอาศัยเขาอยู่ ก็จะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกเยอะ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน