โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกา เปิด-ปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา 2566

พระบรมราชโองการ-แต่งตั้ง

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ตรา พระราชพระราชกฤษฎีกา ปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2566 มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ได้มีประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นั้น บัดนี้ สมควรที่จะให้ปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ ตามที่ได้มีประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นั้น บัดนี้ สมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการเปิด-ปิดสมัยประชุมรัฐสภา ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมานั่งประชุมกันทันทีมิได้ จะต้องรอจนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาก่อน

ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยพระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งในทางปฏิบัติคณะรัฐมนตรีซึ่งรักษาการอยู่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากราบบังคมทูลขึ้นไปเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เรียกประชุมรัฐสภา

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาแล้ว พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไปครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งบรรดาสมาชิกของทั้งสองสภา รวมทั้งคณะรัฐมนตรีและบรรดาทูตานุทูต จะแต่งเครื่องแบบเต็มยศเพื่อเข้าร่วมในรัฐพิธีและรับฟังพระราชดำรัส ซึ่งส่วนใหญ่จะทรงให้สติในการทำงานตามภาระหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ

 


พรฎ.ปิดประชุมรัฐสภา 2566