เจาะนโยบายแคมเปญเศรษฐกิจ พรรคใหญ่ ตัวเต็ง จัดตั้งรัฐบาล

14 พฤษภาคม 2566 วันกำหนด “อนาคตประเทศไทย” และเป็น “จุดเปลี่ยน” ของเศรษฐกิจ-ภาคธุรกิจไทย รัฐบาลใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หน้าตานายกรัฐมนตรีจะเป็น “หน้าใหม่” หรือ “คนหน้าเดิม”

เจาะนโยบาย-แคมเปญเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใหญ่ที่มีโอกาสเข้ามาเป็น “ผู้บริหารชุดใหม่” เป็นคู่มือสำหรับภาคธุรกิจใช้ประกอบการตัดสินใจในวันเลือกตั้ง

เขตธุรกิจใหม่ 4 หัวเมืองใหญ่

พรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองใหญ่ ถูกคาดหมายจะเข้าป้าย-ได้ ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เปิดแคมเปญด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันและเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท

นโยบายเขตธุรกิจใหม่ (new business zone : NBZ) 4 แห่ง โดยเริ่มจาก “หัวเมือง” เป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่นและหาดใหญ่ เพื่อให้กระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียง ด้วยกุญแจ 3 ดอก

กุญแจดอกที่ 1 กฎหมายธุรกิจชุดใหม่ ปลดล็อกปัญหาการทำธุรกิจของ startup และ SMEs ดึงเงินนักลงทุนจากต่างชาติ กุญแจดอกที่ 2 สิทธิประโยชน์ใหม่ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนำเข้า

กุญแจดอกที่ 3 ระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ ด้วยสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ การผลิตคนทำงานใหม่ ระบบธนาคารใหม่

ลดอุปสรรค เพิ่มแรงจูงใจ ดึงดูดการลงทุน ด้วย one stop service ครบที่จุดเดียว รัฐบาลดิจิทัล ทำธุรกรรมบนบล็อกเชน ไม่มีใต้โต๊ะ สร้างแรงจูงใจทางภาษีให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ สร้างแรงงานรายได้สูง และมีที่ปรึกษาเฉพาะทางครบวงจร

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นโยบาย “รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย” ลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนและส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ วงเงินที่ต้องและที่มาของเงิน 40,000 ล้านบาท + 8,000 ล้านบาทต่อปี

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย บอกไทม์ไลน์ว่า ภายใน 3 เดือนหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรี-รัฐบาลพรรคเดียว

โดยผู้ประกอบการจะได้เงินเท่าเดิม ซึ่งจะมีการเจรากับผู้ประกอบการ และวิน-วิน ทุกฝ่าย ซึ่งมีออปชั่นนำรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับมาเป็นสัมปทานของรัฐ

นโยบายยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเดินทางไป-กลับประจำได้ สร้างระบบ feeder ที่สะดวกสบายเชื่อมโยงแต่ละ hub เช่น นครราชสีมา-กรุงเทพฯ

นโยบายเชื่อมโยงรถไฟฟ้าขนส่งสินค้าจากลาวเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังและสนามบินสุวรรณภูมิ รองรับสินค้า 18 ล้านตู้ต่อปี เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ เชื่อมต่อเพิ่มปริมาณการค้าและการท่องเที่ยวกับจีนและอาเซียน

เส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมใหม่ (silk road economic belt) เป็นประตูไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซียและยุโรป

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท หรือ 560,000 ล้านบาท ใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน ในพื้นที่ 4 กิโลเมตร โดยเริ่มในเดือนมกราคม 2567 ภาคธุรกิจได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อประชาชนที่เพิ่มขึ้นทุกพื้นที่

นโยบายส่งเสริมแลนด์มาร์ก-ศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุขภาพของภูมิภาค สร้างรายได้ใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ นโยบายเพิ่มรายได้ท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทต่อปี

ทุบทุนพลังงาน

ขณะที่พรรคก้าวไกล พรรคมาแรง-แซงทุกโพล เปิดศึกทุบทุนพลังงาน เปิดตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี รัฐดูแลระบบสายส่ง “ค่าไฟแฟร์” ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน “หลังคาสร้างรายได้” เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2035 เพิ่มรายได้รัฐจากโรงแยกก๊าซลดราคา LPG

แก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า เพิ่มแต้มต่อให้ SMEs ช่วยลดปัญหาการผูกขาด กลุ่มทุนขนาดใหญ่ถูกจำกัดสิทธิในการประกอบกิจการบางประเภทเพิ่มมากขึ้น เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจ โดยเฉพาะ virtual bank อย่างน้อย 3 เท่า

สุราก้าวหน้า ปลดล็อกผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน

เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน พัฒนาระบบภาษีที่ดินแบบรวมแปลง รวมมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่แต่ละบุคคล-นิติบุคคลถืออยู่ แล้วจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยคิดจากมูลค่าที่ดินที่เกิด 300 ล้านบาท

ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบรายแปลงที่ใช้อยู่ป้องกันการหลบเลี่ยง ลดหย่อน-ส่วนลดภาษีที่ดิน (negative land tax) พื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ พื้นที่สาธาราณะ 3-10 ปี

ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท ทำทันที

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกินต้องได้ OT แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้

ลดรายจ่าย SMEs บรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 0-15% หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%

หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวยลุ้นรวยเงินล้าน ลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจที่ซื้อจาก SMEs โควตาชั้นวางสำหรับสินค้า SMEs ในห้างใหญ่ คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น

ทุนแสนตั้งตัว 2 แสนรายต่อปี & ทุกล้านตั้งตัว 2.5 หมื่นรายต่อปี ไม่ต้องวางหลักประกัน และจัดตั้งสภาเอสเอ็มอีทุกจังหวัดเพิ่มงบฯสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 10 เท่า รื้อกฎระเบียบ-ใบอนุญาต คาสิโน-คาสิโนออนไลน์ถูกกฎหมาย

กองทุนท่องเที่ยว 7.7 พันล้าน

พรรคตัวแปร-ภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ลุยต่อกัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ ให้มีกฎหมายมาควบคุมและกำกับ

ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน (hometown tax) ร้อยละ 30 จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วงเงิน 101,333 ล้านบาท จัดสรรให้กับกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ผ่าน อบจ. กทม. พัทยา

จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ southern economic corridor (land bridge) ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านบาท โดยการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) และการลงทุนรูปแบบ PPP

จ้างงานเพิ่ม 5 แสนตำแหน่ง จีดีพีเพิ่มร้อยละ 3.7 ผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัว 1.4 แสนบาทต่อคนต่อปี มูลค่า SMEs เพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาทต่อปี มูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคเท่ากับ 1.3 ล้านล้าน มูลค่า carbon credit เท่ากับ 6,300 ล้านบาทต่อปี

กองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดละ 100 ล้านบาท วงเงิน 7,700 ล้านบาท เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 80 ล้านคน ภายใน 4 ปี เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ 6 ล้านล้านบาท ภายในปี’70 เพิ่มงาน 10 ล้านตำแหน่ง

รถไฟรางคู่บึงกาฬ-อู่ตะเภา

ฟากพรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน พรรคพี่ใหญ่-พลังประชารัฐ ที่ชูสโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” พร้อมร่วมรัฐบาลกับทั้งพรรครัฐบาลเดิมและพรรคฝ่ายค้านที่อาจจะพลิกมาเป็นพรรครัฐบาลหลังการเลือกตั้ง มี 2 เมกะโปรเจ็กต์

รถไฟทางคู่จากบึงกาฬ-สนามบินอู่ตะเภา ทางหลวงพิเศษ 8 ช่องจราจร นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง วิทยาลัยอาชีวะ 12 แห่ง ท่าเรือบก 6 แห่ง ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากภาคอีสานสู่ภาคตะวันออก ดึงเงินลงทุนเข้าประเทศ 4.5 ล้านล้านบาท สร้างงานใหม่ 3 ล้านตำแหน่ง

เขตพัฒนาพิเศษชายแดนใต้ 5 จังหวัด สงขลา สตูล ยะลา นราธิวาสและปัตตานี แปรรูปพืชเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักเชื่อมทั้ง 2 ฝั่งทะเล อุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดข้างทางมอเตอร์เวย์ ขยายความร่วมมือพลังงานกับมาเลเซีย

อีกสองพรรคการเมืองที่หืดขึ้นคอ-ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ มี startup-SMEs ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน อินเทอร์เน็ตฟรี ทุกห้องเรียน-ทุกหมู่บ้าน 1 ล้านจุด

ส่วน “พรรคลุงตู่” รวมไทยสร้างชาติ เน้น “ทำต่อ” อย่างนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โครงการ “คนละครึ่งภาคสอง” ปีละ 40,000 ล้านบาท และโครงการ “เที่ยวด้วยกันเมืองรองภาคสอง” ปีละ 18,000 ล้านบาท