BITE SIZE : คู่มือเลือกตั้ง 2566 เรื่องควรรู้ ก่อนเข้าคูหาไปเลือกอนาคต

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการเลือกตั้งที่คนไทยส่วนใหญ่ ให้ความสนใจอย่างมาก และจับตามองถึงผลการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน กติกา มารยาทต่าง ๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีการปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

เลือกตั้ง 2566 มีอะไรเปลี่ยนไป ?

การเลือกตั้ง 2566 เมื่อเทียบกับกติกาการเลือกตััง ปี 2562 สิ่งแรกที่เปลี่ยนไป คือ จำนวนบัตรเลือกตั้ง

การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ลงคะแนนให้ ส.ส.แบ่งเขต และเอาคะแนนจากแต่ละเขต มาคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ขณะที่การเลือกตั้งในครั้งนี้ (ปี 2566) ผู้ใช้สิทธิเลือก 2 ใบ ลงคะแนนให้ ส.ส.แบ่งเขตในเขตนั้น ๆ 1 ใบ และลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ อีก 1 ใบ ส่วนคะแนนจะแยกออกจากกัน จะเลือกพรรคเดียวกันทั้ง 2 ใบ หรือเลือกคนละพรรค ก็ทำได้เช่นกัน แต่ข้อสำคัญคือ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ เลือกคนและพรรคที่เราอยากให้เข้ามาพัฒนาประเทศ

อีกเรื่องสำคัญที่เปลี่ยนไป คือ สัดส่วนที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่นั่งในสภา ตามสัดส่วนเดิม จะอยู่ที่ ส.ส.แบ่งเขต 350 ที่นั่ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 150 ที่นั่ง

ส่วนการเลือกตั้งในครั้งนี้ สัดส่วนที่นั่งเปลี่ยนเป็น ส.ส.แบ่งเขต 400 ที่นั่ง และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 ที่นั่ง

นอกจากนี้ มีการปรับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิมใช้สูตรหาร 500 กลับมาหาร 100 เหมือนในอดีตหลายปีที่ผ่านมา

เลือกตั้ง 2566 ใครมีสิทธิ-ไปใช้สิทธิอย่างไร ?

ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • อายุ ไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีสัญชาติไทย
  • หาก เคย แปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
  • ไม่ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • ไม่ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  • ไม่ ถูกต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนอื่นต้องตรวจสอบข้อมูลสถานที่ที่เป็นหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งตรวจสอบได้จากทั้งออนไลน์ และจดหมายที่ กกต. จัดส่งไปยังแต่ละบ้าน โดยหากเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (14 พ.ค. 2566) จะเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งตามพื้นที่นั้น ๆ แต่หากลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค. 2566) จะต้องไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งกลางที่ลงทะเบียนไว้

เมื่อเดินทางไปถึงหน่วยเลือกตั้งแล้ว ตรวจสอบรายชื่อให้ชัวร์ว่ามีชื่อของตัวเองที่หน่วยเลือกตั้งนี้ แล้วเข้าไปที่หน่วยเลือกตั้งเพื่อแสดงตัวตน รับบัตรเลือกตั้ง กากบาทลงคะแนนเลือกตั้ง และหย่อนบัตร เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการลงคะแนนเลือกตั้ง

บัตรประชาชนดิจิทัล ใช้แสดงตนที่หน่วยได้

เรื่องสำคัญที่ควรรู้ เรื่องแรก คือ หลักฐานในการแสดงตน ซึ่งสำคัญมากต่อการไปเลือกตั้ง

การไปเลือกตั้ง เราต้องแสดงบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน โดยสามารถแสดงตนด้วยบัตรประชาชนที่หมดอายุแล้วได้ หรือถ้าเรามีหลักฐานอื่น ๆ บัตรข้าราชการ ใบขับขี่ พาสปอร์ต หรือบัตรที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ออกให้ สามารถใช้แสดงตัวตนได้เช่นกัน

แต่หลักสำคัญ เมื่อต้องแสดงตนด้วยบัตรหรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้ คือ ต้องมีรูปถ่าย และมีเลขบัตรประชาชนบนบัตรดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ในการยืนยันตัวตนได้ ทั้งบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์จาก แอปพลิเคชั่น ไทยดี (ThaiD), ใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์จากแอปพลิเคชั่น DLT QR LICENCE และบัตรคนพิการดิจิทัล จากแอปพลิเคชั่น บัตรคนพิการ

บัตรเลือกตั้ง (โหล)

อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องรู้ คือ บัตรเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่แค่การทำเครื่องหมายนะครับ แบบไหนเป็นบัตรดี แบบไหนเป็นบัตรเสีย

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ บัตรเลือกตั้ง เป็นบัตรโหล หรือบัตรเลือกตั้งที่ผลิตมาเป็นแพทเทิร์นเดียวกัน ใช้รูปแบบเดียวทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ต่างจากการเลือกตั้งในอดีตบางครั้ง ที่บัตรจะมีการพิมพ์ชื่อหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้สมัครลงไปบนบัตร

สำหรับบัตรเลือกตั้ง ที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. กำหนดสีแล้ว โดย สีม่วง เป็นสีบัตรสำหรับลงคะแนน ส.ส.แบ่งเขต ส่วนสีเขียว เป็นสีบัตรสำหรับลงคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

บัตรเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีทั้งเลข ทั้งโลโก้พรรค ชื่อพรรคการเมืองไว้ให้ในบัตรเลือกตั้งแล้ว

ขณะที่บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต จะมีเพียงเลขผู้สมัครเท่านั้น ปัญหาหลักที่เจอได้คือ หากจำเลขผู้สมัครผิด คะแนนจะตกไปที่ผู้สมัครคนอื่นทันที ยังไม่รวมถึงปัญหาที่หลายคนกังวลว่า บัตรจะเสี่ยงต่อการถูกสลับ สับเปลี่ยนหรือไม่

ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำเครื่องหมาย คล้ายกับการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่การทำเครื่องหมายลงคะแนน จะต้องเป็นเครื่องหมายกากบาท อยู่ในช่องลงคะแนนเท่านั้น หากกากบาทนอกช่อง กาเกิน 1 หมายเลข กาช่องที่ไม่มีผู้สมัคร ทำเครื่องหมายอื่นหรือเขียนข้อความลงไปบนบัตรเลือกตั้ง ก็นับบัตรเสียเช่นกัน

เลือกตั้งครั้งนี้ ห้ามอะไร ?

ข้อห้ามหลักที่สำคัญในช่วงการเลือกตั้ง มีตั้งแต่ข้อห้ามคลาสสิกอย่าง การห้ามซื้อสิทธิขายเสียง การรับเงินหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อไปลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนเสียง ห้ามเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง หรือการห้ามจำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง รวมถึงการหาเสียง ก็จะห้ามหาเสียงในลักษณะเดียวกัน คือ 18.00 น. วันก่อนเลือกตั้ง ถึงจบการลงคะแนน 

และยังมีข้อห้ามอื่น ๆ ดังนี้

  • ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลโพลที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง
  • ห้ามขัดขวางไม่ให้ไปเลือกตั้ง
  • ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
  • ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้ว
  • ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง
  • ห้ามตั้งใจทำบัตรเลือกตั้งชำรุด

ส่วนโทษทางกฎหมาย มีได้ตั้งแต่จำคุก สั่งปรับเป็นเงิน หรืออาจจะโดนทั้งจำคุกและปรับด้วยเช่นกัน บางความผิดอาจถูกตัดสิทธิการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

เช่น กรณีการขัดขวางไม่ให้ไปเลือกตั้ง ถ้านายจ้างห้าม ไม่อำนวยความสะดวก มีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 142 จําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

แต่ถ้ามีการขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว จนไม่ได้ไปเลือกตั้ง หรือไปไม่ทันเวลา มีโทษจําคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี

ไม่ได้ไปเลือกตั้ง อย่าลืมแจ้งเหตุ ก่อนเสียสิทธิ

หากไม่ได้ไปเลือกตั้ง เพราะมีเหตุจำเป็น ต้องเดินทางฉุกเฉินในวันนั้น มีเหตุสุดวิสัย ไม่สบาย สามารถแจ้งเหตุที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ ในวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2566 และ 15-21 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วง 7 วัน ก่อนและหลังวันลงคะแนนเลือกตั้งเป็นการทั่วไป (14 พ.ค. 2566)

ถ้าไม่แจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง เราจะไม่สามารถคัดค้านผลการเลือกตั้งได้ รวมถึงไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองได้ ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเลย และถือว่าขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.1 ที่ https://youtu.be/UDSv0w0JT3k