8 พรรคโชว์นโยบายเศรษฐกิจเพิ่มรายได้-ลดเหลื่อมล้ำ-แก้ทุจริต

8 พรรคโชว์นโยบาย ศก.

ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2566 วันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ ประชาชนยังจับตามองการวางนโยบายของแต่ละพรรคที่จะเข้ามาขับเคลื่อนแก้ปัญหาจะมีทิศทางเป็นอย่างไร มากไปกว่านั้น ประชาชนต้องการรู้ถึงแหล่งที่มาของเงิน และการใช้เงินอย่างไรให้มีประสิทธิผล ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ไม่สร้างปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ล่าสุด สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดดีเบตนโยบายเศรษฐกิจกับ 8 พรรคการเมือง ร่วมตอบคำถามประชาชนจากผลการสำรวจข้อมูลศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง 2,112 ราย ระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน 2566

5 คำถามจากประชาชน

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสรุปโพลนโยบายเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ ลดค่าครองชีพ-เพิ่มสวัสดิการ-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าความต้องการนโยบายเศรษฐกิจยังแตกต่างกันไปตามแต่ละเจเนอเรชั่น เช่น กลุ่ม baby boomers ชอบนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กลุ่ม Gen X (วัยทำงาน) เน้นการสร้างตำแหน่งงานใหม่ การพักหนี้ และกลุ่ม Gen Z เน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ การพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

“ประชาชนมีการตั้งคำถามถึงนักการเมือง 5 คำถาม ได้แก่ 1.นโยบายเศรษฐกิจที่นำเสนอนั้นเอาเงินมาจากไหน 2.นโยบายนี้จะทำได้เมื่อใด 3.ทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนและประเทศอย่างไร 4.นโยบายต่าง ๆ จะมีผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศมากน้อยแค่ไหน 5.จะมีการรายงานผลของนโยบายต่อประชาชนเป็นระยะหรือไม่”

8 พรรคตอบผลโพล

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับผลโพล ชี้พัฒนาเศรษฐกิจด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท หัวใจสำคัญคือการขึ้นแบบอัตโนมัติทุกปี โดยดูอัตราการเติบโตระหว่างค่าครองชีพกับเศรษฐกิจ ต่อมาคือการลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดค่าไฟ โดยทำโครงสร้างราคาไฟฟ้าให้เป็นธรรม และมุ่งเน้นนโยบายรัฐสวัสดิการ เน้นโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้เสียภาษี

Advertisment

ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รายได้หลักของประเทศไทย จีดีพีมาจากการส่งออกสินค้าและบริการถึง 58% จึงควรเพิ่มรายได้ส่งออกทั้งเกษตรและซอฟต์พาวเวอร์ นอกจากนี้ เตรียมสร้างโอกาสยกระดับแรงงานด้วยการอัพสกิลและรีสกิล พร้อมใช้เทคโนโลยีคลาวด์พัฒนาประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ตอบทุกโจทย์ในโพล ทั้งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วยโครงการธนาคารชุมชน ตรวจสุขภาพฟรีด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว เรียน ป.ตรีฟรี 12 สาขา และอินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง และเล็งลงทุน ทำวิจัย และพัฒนา ตั้งเป้าหมายใน 4 ปีเติบโต 3% ของจีดีพี พร้อมดันไทยเป็นฮับอาหารโลกแห่งอนาคต

Advertisment

ดร.อุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ผลโพลสอดคล้องกับภารกิจเร่งด่วนของพรรคคือ เร่งฟื้นและกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมวางรากฐานอนาคต ด้วยการสร้างโอกาสให้คนไทย ช่วยบรรเทาค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส จะต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงาน พร้อมลดหนี้ ควบคู่สนับสนุน SMEs และการทำรัฐสวัสดิการ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งพรรคภูมิใจไทย ตั้งคำถามถึงความพร้อมของผู้ประกอบการในการขึ้นค่าแรง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง แต่ถึงอย่างไร รัฐบาลต้องสนับสนุน SMEs เตรียมพร้อมสู่เวทีโลก

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ด้วยงบประมาณเพียง 3 ล้านล้านบาท พร้อมส่งเสริมการค้าขายออนไลน์ และการเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมช่วย SMEs ผ่านการลงทุนของรัฐ การแก้ไขนโยบายการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ และการลดเงื่อนไขเครดิตเพื่อเพิ่มเม็ดเงินพัฒนาธุรกิจ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ชูนโยบายโอกาสนิยม มองรัฐบาลต้องเก่งในการหาเงินเข้าประเทศ ใช้นโยบายทุนเผื่อแผ่สร้างสหกรณ์ยุคใหม่ ที่สำคัญต้องแก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณเลย และลดการเก็บภาษีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 4 หมื่นบาท ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ติดหนี้เครดิตบูโรกว่า 3 ล้านคน รัฐจำต้องช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้ ซึ่งหากแก้ปัญหาโดยการจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1% ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุน จะช่วยแก้หนี้นอกระบบ และเสริมให้มีแต้มต่อด้วยการลดภาษีเงินได้ สร้าง SMEs เข้มแข็งพร้อมแข่งขันระดับโลก

ใช้งบฯคุ้มค่า-ลดคอร์รัปชั่น

ขณะที่รอบ 2 การดีเบตตั้งคำถามเรื่องการใช้งบฯอย่างคุ้มค่า-ลดปัญหาคอร์รัปชั่น “นางสาวศิริกัญญา” ตอบชัดว่า สิ่งแรกต้องประเมินความคุ้มค่าของนโยบาย พร้อมกับทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส เพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่น โดยจะใช้ “negative list” สำหรับรายการที่ไม่ต้องการเปิดเผยการใช้งบประมาณ พร้อมนำระบบ AI จับคนโกงและเสนอระบบคนโกงวงแตก

สอดคล้องกับ ดร.ศุภวุฒิ ที่เสริมว่า การแก้คอร์รัปชั่นจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อเกิดการเปรียบเทียบ และไทยต้องเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง

ด้านนายสุพันธุ์ เสนอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ เป็นแม่งานวางแผนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เอกชนในท้องถิ่นต้องมีส่วนกำหนดงบประมาณ ส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องมาจากผู้นำสูงสุดลงมือแก้อย่างจริงจัง ผ่านการใช้เทคโนโลยีอย่าง “ดาต้า วัน” ตรวจสอบข้อมูล ตลอดจนการวางโครงสร้างที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้ SMEs เติบโต

เสริมความสามารถแข่งขัน

ขณะที่อีก 3 พรรคการเมืองที่ต้องตอบคำถามการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะเร่งด่วนทำอย่างไร ซึ่ง “นายวรวุฒิ” เน้นว่าการแปรรูปสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มต้องเป็นหน้าที่ของเอกชน ส่วนรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งนโยบายหรือภาษี รวมถึงใช้ทุนเผื่อแผ่ร่วมมือทุนใหญ่สร้างตลาดช่วย SMEs พร้อมสนับสนุนการค้าขายออนไลน์ ใช้ R&D กระจายตลาดทั่วโลก

ส่วนนายชาติชายระบุว่า ต้องเพิ่มจีดีพีด้วยการเข้าสู่ “ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยรัฐบาลต้องเป็นผู้นำพัฒนาแพลตฟอร์ม ด้วยการใช้ E-goverment เพื่อลดค่าใช้จ่าย พร้อมส่งเสริมการค้าและควรรีแบรนด์การท่องเที่ยว

ขณะที่ตัวแทนประชาธิปัตย์เสนอให้ไทยปรับเป็นฐานการวิจัยและพัฒนาของเอเชีย ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทั้งนักวิจัยไทยและนักวิจัยต่างชาติ พร้อมกฎหมายสนับสนุน สร้างเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม เพื่อสอดคล้องกับความต้องการตลาด เช่น bio food และสร้างแบรนด์ made in thailand

ลดเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก

ขณะที่ “อุตตม” ตอบคำถามถึงแนวทางการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำว่า จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนฐานรากอย่างทั่วถึง พัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตร ด้วยการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัยและพัฒนา พร้อมเงินทุน ส่วนการท่องเที่ยวเน้นยึดโยงกับท้องที่กระจายสู่ท้องถิ่นอื่น และด้านวิสาหกิจชุมชน โดยการใช้เทคโนโลยีแปรรูป พร้อมใช้จุดแข็งตอบโจทย์ตลาดโลก

ส่วนนายพุทธิพงษ์มองว่า นายกฯคนต่อไปต้องเป็นพนักงานขาย หารายได้เข้าประเทศ และต้องปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงอัพสกิลและรีสกิลแรงงานไทย พร้อมปรับยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรมดิจิทัล