เศรษฐาเปิดใจ-ถ้านั่งนายกฯ เดินหน้าตั้ง ส.ส.ร. รื้อรัฐธรรมนูญ 60 ยันสู้ต่อ

“เศรษฐา” เปิดใจวงดินเนอร์ทอล์ก “ประชาชาติธุรกิจ” หากนั่งนายกฯ เดินหน้าตั้ง ส.ส.ร. รื้อรัฐธรรมนูญ’60 ต้นตอปัญหาประเทศ ตั้งเป้า 18 เดือนเสร็จเรียบร้อย คืนอำนาจให้ประชาชน

บิ๊กเนมร่วมดินเนอร์ทอล์กคึก

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานเอ็กซ์คลูซีฟดินเนอร์ทอล์ก JOURNEY TO TRANSFORM ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 47 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตซีอีโอ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย มาแชร์ประสบการณ์การทรานส์ฟอร์มตัวเองจากการเป็นผู้บริหารธุรกิจสู่การเป็นนักการเมือง

และนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การพาองค์กรฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ และหาโอกาสใหม่ ๆ โดยมีนายสรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ภายในงานจัดขึ้นในรูปแบบเอ็กซ์คลูซีฟดินเนอร์ทอล์ก ผู้เข้าร่วมงานมาร่วมรับประทานอาหารพร้อมฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากสปีกเกอร์บนเวที อีกทั้งพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ร่วมงานในบรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยมี น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ดิษนีย์ นาคเจริญ บรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน

อาทิตย์ นันทวิทยา
อาทิตย์ นันทวิทยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้บริหารและนักธุรกิจชื่อดังที่เข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท นายสุรศักดิ์ สุทองวัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยบริหารประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ซีอีโอบริษัทดังร่วมงานแน่น

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นายอภิชาติ จูตระกูล รักษาการประธานกรรมการอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

นายกรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) นายกิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย นายสมปราชญ์ โบสุวรรณ รองกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นางประไพ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ โฮมมาร์ท จำกัด

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ (รักษาการ) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ นายสัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) นายธนากร เลิศไพบูลย์ธนา ผู้บริหารโครงการพิเศษ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด

นางอัมพร โชติรัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารงานวางแผนองค์กร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

“อาทิตย์” ถอดบทเรียนทรานส์ฟอร์ม

ทั้งนี้ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวหัวข้อ JOURNER TO TRANSFORM ว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยที่ทุกองค์กรกำลังเผชิญ จึงเป็นโจทย์ของผู้บริหารทุกองค์กรว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยแวดล้อมที่ต้องเผชิญอย่างไร คำว่า Transformation ต้องเริ่มต้นจากการที่องค์กรจะทรานส์ฟอร์มเป็นอะไร

นายอาทิตย์กล่าวว่า ในส่วนของ SCBX เริ่มต้นจากการตั้งพันธกิจ หรือ Set Mission เพื่อสื่อสารให้คนในองค์กรรู้ว่าเราจะเปลี่ยนเป็นอะไร เพราะรู้ว่าการเป็นแบงก์อย่างเดียวไม่น่าจะมีความสามารถในการแข่งขัน หรือตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

หลังจากนั้นเริ่มต้น Journey โดยบอกผู้ถือหุ้น คณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) พนักงานของเรา และลูกค้า โดยได้รับฉันทามติจากผู้ถือหุ้นเพื่อให้เกิด SCBX ส่วนธนาคารจะไม่กลายเป็นฟินเทค จะไม่กลายเป็นสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะเป็นธนาคารที่แข็งแรงและดีขึ้น

แนะปรับรับยุค “Never Normal”

นายอาทิตย์กล่าวว่า แผนการดำเนินงานภายใต้ SCBX พยายามปิดปัญหาและอุปสรรค (Pain Point) ที่มีอยู่ 3 เรื่องคือ 1.จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ (Income Inequality) 2.เชื่อว่า Disruptive Technology จะเปลี่ยนแปลง Financial Landscape ไม่ว่าจะเป็น Blockchain ไม่ว่าจะเป็น AI

และ 3.เชื่อว่าเรื่องของ Climate Change จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่และภาคเอสเอ็มอี จะทำอย่างไรให้ SCBX เกาะอยู่ใน 3 ธีมนี้ และพยายามทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีขององค์กรเพื่อสามารถทำธุรกิจตอบสนองกับ Pain Point ใหญ่ของโลกใน 3 ด้านนี้

“ตอนนี้ที่ผมเปลี่ยนจาก SCB Bank สร้างเป็น SCB Group ผมต้องตีโจทย์ให้แตก และบอกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นบอร์ด ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน รวมถึงลูกค้า แม้ว่าสิ่งที่คิดว่าตีแตกแล้วหลาย ๆ เรื่องก็ต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนว่าสิ่งที่เราคิดมันอาจจะไม่ถูกต้อง และทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่หลายท่านใช้ศัพท์ว่า Never Normal คือมันไม่ใช่คำว่า New Normal เพราะว่ามันจะเปลี่ยนไปอย่างไม่จบสิ้น

อย่างไรก็ดี คำว่า Transform นั้นไม่ได้แปลว่าต้อง Transform ทุกอย่าง และก็ไม่ได้แปลว่าต้อง Transform อย่างรวดเร็ว และไม่ได้หมายความว่าจะต้อง Transform ได้ 100% ถ้าไม่ได้ผมจะไม่ทำ” นายอาทิตย์กล่าว

เศรษฐาลั่นถ้าเป็นนายกฯ รื้อรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมานายเศรษฐาขึ้นเวที โดยมีนายสรกล อดุลยานนท์ เป็นผู้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ทางการเมืองหลังจากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และในช่วงหนึ่งนายสรกลเปิดโอกาสให้นายอาทิตย์ถามนายเศรษฐา โดยนายอาทิตย์ถามว่า หากนายเศรษฐาเป็นนายกฯ จะทำอะไรก่อน

นายเศรษฐากล่าวตอบว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเต็มไปด้วย worst case scenario เป็นตัวเลข เป็นการผสมผสานหลาย ๆ อย่างที่มันเหมือนกับอะไรที่ไม่เป็นใจให้แก้ไขปัญหาได้อย่างง่าย ๆ

“หากวันนี้ผมเป็นนายกฯด้วยสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาหลักอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ต้องร่างฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าเป็นนายกฯ ในสภาวะเช่นนี้เรื่องที่จะทำทันทีที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้อยู่ร่วมกันลำบาก ขัดขวางการเดินหน้าของเศรษฐกิจประเทศ คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งรัฐธรรมมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่พิกลพิการ ถ้าถูกแก้ไขได้โดยเร็วที่สุดแล้วก็คืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน คาดว่าจะใช้เวลา 18 เดือน” นายเศรษฐากล่าว

พร้อมลุยงานทันที 7 เรื่อง

นายเศรษฐากล่าวว่า ถ้าตนได้ทำตำแหน่งนี้ ตนก็จะเป็นให้ และจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ระหว่างนั้นก็จะดำเนินการอื่น ๆ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ เช่น 1.การสมรสเท่าเทียม 2.สมัครใจเกณฑ์ทหาร ที่ต้องเทกแคร์คนรุ่นใหม่ อาจจะไม่สมัครใจเกณฑ์ทหาร สมมติกองทัพต้องการกำลัง 1 แสนคน สมัคร 3 หมื่นคน แทนที่จะขอเกณฑ์อีก 7 หมื่นคน ก็ขอแค่ 5 หมื่นคน ช่วยลดลงไปได้หรือไม่

3.ดิจิทัลวอลเลต 4.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5.การแก้ปัญหาประมงจากกฎไอยูยู 6.นายกฯ ต้องบินไปเจรจาต่างประเทศ 7.การเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐาน อัพเกรดบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค

นายเศรษฐากล่าวว่า จะทำงานภายใน 6 เดือน ถ้าเกิดเรื่องเหล่านี้ได้ถูกแก้ไขและมีโรดแมปที่ชัดเจน เรื่องที่คนรุ่นใหม่ หรือพรรคร่วมรัฐบาลมีความกังวล เช่น เรื่องมาตรา 112 ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาผ่านไปแล้ว 6 เดือน สิทธิเสรีภาพคืนสู่ประชาชน มีเรื่อง พ.ร.บ.สะอาดสามารถเดินหน้าได้ทันที และมีเรื่องใดที่มีประเด็นจะพยายามทำให้ดีที่สุดควบคู่ไปกับการทำงานอื่น ๆ

“แต่การลงทุนเรื่องรถไฟความเร็วสูงผมว่าอย่าเพิ่งทำ เพราะว่าการลงพื้นที่เข้าใจว่ารถไฟทางคู่มีความสำคัญ เช่น ขอนแก่นไปหนองคายจำเป็นมาก สามารถข้ามไปฝั่งลาวได้ แค่นี้นักลงทุน นักธุรกิจที่ภาคอีสานจำเป็น แต่หลักการอื่น ๆ ประเทศยังบอบช้ำ เพราะมี พ.ร.บ.พิกลพิการอยู่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ หากปัญหานี้ถูกแก้แล้วจะเดินหน้าต่อได้และคืนอำนาจให้พี่น้องประชาชน เราค่อยมาว่ากันเรื่องรถไฟความเร็วสูง และเรื่องอื่น ๆ ที่ใหญ่กว่า” นายเศรษฐากล่าว

เผยได้บทเรียนการเมืองมาก

นายเศรษฐากล่าวถึงบทเรียนจากแวดวงการเมืองครั้งแรกว่า ได้บทเรียนยาวมาก เพราะว่าตนเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา เมื่อเวลาเข้าสู่การเมืองจะระมัดระวังมากขึ้น วันแรกเมื่อเข้าพรรคเพื่อไทยก็มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยมีคำถามว่าจะรับตำแหน่งนายกฯ ตำแหน่งเดียวเลยใช่หรือไม่ ถ้าเป็นนักการเมืองมืออาชีพจะมีลูกเล่น แต่ตนก็ตอบชัดเจนว่าถ้าไม่ใช่ตำแหน่งนายกฯ ก็คงไม่เอา ซึ่งแรงสะท้อนกลับมาก็ค่อนข้างจะแรงเหมือนกับว่าคนใหม่ หัดโลภ เพิ่งเข้ามาถึงก็ใฝ่สูง ไปกันใหญ่

“ได้คุยกับ 3 เกลอว่าเสียใจอะไรหรือเปล่า ผมก็บอกว่าผมเสียใจ เพราะตอบคำถามไม่ชัดเจน แต่ก็ได้พูดคุยและได้รับข้อมูลว่าจริง ๆ แล้วคนรุ่นใหม่ชอบความชัดเจน และยืนยันว่าสิ่งที่ผมตอบไปในวันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็อาจสรุปได้ว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมาทำให้เป็นนักการเมืองมากขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

คิดนานก่อนตัดสินใจ-อยากช่วยสังคม

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นจากนักธุรกิจเข้าสู่ความเป็นนักการเมือง นายเศรษฐากล่าวว่า คิดอยู่นานมาก เป็นอะไรที่ทราบกันดีว่านักธุรกิจที่ก้าวข้ามเข้ามาสู่วงการเมืองและปรารถนาจะขึ้นดำรงตำแหน่งระดับสูง ก็มีเสียงเตือนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคดี เรื่องของการถูกเพ่งเล็ง แต่เชื่อว่าการที่เป็นนักธุรกิจมา 30 กว่าปี ลูกทั้ง 3 คนก็ประสบความสำเร็จในชีวิตการศึกษาและชีวิตการทำงาน

บ้านเมืองช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างประสบปัญหา เมื่อตัวเองมีฐานะพอสมควรและไม่จำเป็นต้องมีมากไปกว่านี้ มีความสุขทางกายแล้ว แต่ความสุขทางใจ บางทีก็อยากเห็นคนอื่นมีบ้าน มีสังคมเจริญเติบโตภายใต้การบริหารจัดการที่ดี เชื่อว่าประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการคนที่มีมุมมองใหม่ ๆ

นายเศรษฐากล่าวว่า หากถามว่าจากการที่อยู่วงการการเมืองมา 2-3 เดือน มีนักการเมืองคนไหนที่ให้ความเคารพมากและชื่นชมมากที่สุด ก็คือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นคนมีความรู้รอบตัวสูง เข้าใจการเมืองไทย อธิบายให้ฟังว่าทำไมตนจึงต้องเข้ามาตรงนี้