
เผยแพร่ครั้งแรก 12 กรกฎาคม 2566
ปรับปรุงล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2566
ล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 เป็นองคมนตรี จากเดิมองคมนตรีมีทั้งสิ้น 18 คน รวมประธานคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา
ในรัชสมัยปัจจุบัน การเลือกและการแต่งตั้งองคมนตรี เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งนี้ สำนักงานองคมนตรี เป็นส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
สำหรับคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของการดำรงตำแหน่งองคมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มีดังนี้
มาตรา 10 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรี คนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
มาตรา 11 การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไป ตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา 12 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดํารงตําแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่น ของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการเว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ ในตําแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ
มาตรา 13 ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา 14 องคมนตรีพ้นจากตําแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตําแหน่ง
รายชื่อ ประธานองคมนตรี-องคมนตรี
-
- พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี
- นายเกษม วัฒนชัย
- นายพลากร สุวรรณรัฐ
- นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ
- นายศุภชัย ภู่งาม
- พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข
- พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
- พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา
- นายจรัลธาดา กรรณสูต
- พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์
- พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ
- นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
- นายอำพน กิตติอำพน
- พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท
- พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง
- นายนุรักษ์ มาประณีต
- นายเกษม จันทร์แก้ว
- พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประวัติความเป็นมาขององคมนตรี
สำนักงานองคมนตรี เป็นหน่วยงานที่มีประวัติความเป็นมาและพัฒนาการอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏตำแหน่งที่เรียกว่า “เคลิกออฟเคาน์ซิลลอร์” ในพระราชบัญญัติ ปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษาในพระองค์ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 10 ค่ำ ปีจอฉศก จุลศักราช 1236 มีหน้าที่ในการจดรายชื่อจำนวนที่ปฤกษาราชการในพระองค์ การรับแจ้งกรณีที่ปฤกษาราชการในพระองค์จะเดินทางออกจากพื้นที่ปฏิบัติงาน และการร่างจดหมายเชิญประชุมที่ปฤกษาราชการในพระองค์
ต่อมาใน พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติองคมนตรี” ขึ้นแทน “พระราชบัญญัติ ปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษาในพระองค์” ซึ่งในมาตรา 10 ได้บัญญัติถึงตำแหน่ง “เลขาธิการองคมนตรี” ไว้ว่า
“พระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงตั้งข้าราชการในกรมราชเลขาธิการคนหนึ่งขึ้นไว้ในตำแหน่งเลขาธิการองคมนตรีเป็นเจ้าพนักงานประจำ มีหน้าที่เป็นผู้รักษาทะเบียนองคมนตรีและเป็นเลขาธิการของที่ประชุมสภากรรมการองคมนตรี” และมี “กองเลขาธิการองคมนตรี” เป็นส่วนราชการระดับกองในกรมราชเลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับองคมนตรีในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนในที่สุดได้มีการตราประกาศยกเลิก พระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 ส่งผลให้ตำแหน่งองคมนตรีถูกยุบเลิกไป และมีผลต่อการยุบเลิกข้าราชการ ในกองเลขาธิการองคมนตรีไปด้วย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492” ซึ่งในมาตรา 13 ได้บัญญัติถึงคณะองคมนตรีและหน้าที่ขององคมนตรี
ความว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้”
ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกที่บัญญัติถึงคณะองคมนตรีและหน้าที่ของคณะองคมนตรี จากนั้นได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ “หม่อมเจ้านิกรเทวัญ เทวกุล” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะองคมนตรี ควบคู่กับตำแหน่งราชเลขาธิการ
“สำนักเลขาธิการองคมนตรี” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกโดย “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 297” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ธันวาคม 2515 ซึ่งให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ. 2506 และให้แบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการออกเป็น 6 กอง โดยมี “สำนักเลขาธิการองคมนตรี” เป็นส่วนราชการระดับกองเพิ่มขึ้นมาจากเดิม
และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี” นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา จวบจนกระทั่งเมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 จึงใช้ชื่อว่า “สำนักงานองคมนตรี” ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์หน่วยหนึ่งในทั้งหมด 3 หน่วยราชการในพระองค์
ปัจจุบันสำนักงานองคมนตรี เป็นส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจขององคมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ถวายพระมหากษัตริย์และการอื่นตามพระราชอัธยาศัย โดยมีเลขาธิการองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ