สำรวจคะแนนนิยมพรรคการเมือง หลังเลือกตั้ง’66 เปลี่ยนแปลงขนาดไหน ?

คะแนนนิยม หลังเลือกตั้ง 2566

เปิดผลโพล ม.ศรีปทุม-ดีโหวต สำรวจคะแนนนิยมพรรคการเมือง หลังการเลือกตั้ง 2566 แต่ละพรรคการเมือง คะแนนเปลี่ยนแปลงมาก-น้อยขนาดไหน

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุม และดีโหวต (D-vote) เปิดเผยผลการวัดคะแนนนิยมหลังจากการเลือกตั้งเพื่อประเมินความพึงพอใจและการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนจากแต่ละพรรคการเมืองภายหลังได้รับเสียงเลือกจากประชาชาชนไปแล้ว ในประเด็นที่ว่า “หากมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันนี้ คุณจะเลือกพรรคใด”

โดยสำรวจระหว่างวันที่ 21-24 ส.ค. 2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,253 ตัวอย่าง

จากผลการสำรวจพบว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งสูงสุด 6 อันดับแรก มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมเฉลี่ย (เฉลี่ยจากผลการเลือกตั้ง 2566 ของแต่ละพรรค ทั้งบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตเมื่อนำมาคำนวนเป็นร้อยละ) จากเพิ่มขึ้นไปน้อยลงตามลำดับดังนี้

  • พรรคก้าวไกล คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.39
  • พรรคภูมิใจไทย คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.50
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 0.84
  • พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 6.02
  • พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 9.96
  • พรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 62.24

ซึ่งการที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมเฉลี่ยมากที่สุดนั้น เกิดจากการที่ได้มีโอกาสสลับกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก โดยคะแนนนิยมที่ลดลงของพรรคเพื่อไทยร้อยละ 51.32 ได้ไหลไปหาพรรคก้าวไกล ในขณะที่ร้อยละ 10.92 ได้ไหลไปหาพรรคอื่น ๆ

Advertisment

ขณะเดียวกัน ยังมีการสำรวจในประเด็น “คุณคิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรกหรือไม่ ?” (514 ตัวอย่าง)

ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 58.79 ระบุว่า “เกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรก เป็นการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วระหว่างเพื่อไทยและขั้วรัฐบาลเดิม” ร้อยละ 25.20 ระบุว่า “ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรก เมื่อการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคถึงทางตัน จึงต้องปรับแผนด้วยการข้ามขั้ว” และร้อยละ 16.02 ระบุว่า “ไม่รู้/ไม่แน่ใจ”

Advertisment

สำหรับผู้ตอบว่าเกิดจากความตั้งใจแต่แรกถึงเหตุผลที่คิดว่าเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงตั้งใจวางแผนจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วนั้น

ร้อยละ 36.52% ระบุว่า “เพราะคิดว่าการให้ก้าวไกลร่วมรัฐบาลและได้มีโอกาสทำผลงาน จะส่งผลเสียต่อความนิยมของเพื่อไทยในอนาคต” ร้อยละ 28.52 ระบุว่า “เพราะคิดว่าการมีก้าวไกล ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่มีทางสำเร็จ” ร้อยละ 22.07% ระบุว่า “เพราะคิดว่าการมีก้าวไกล ถึงจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ไม่นานก็ถูกกลุ่มอำนาจเก่าล้มอยู่ดี” และร้อยละ 12.89 ระบุว่า “ไม่รู้/ไม่แน่ใจ”

สำหรับประเด็น “นโยบายรัฐบาลเพื่อไทยข้อใดที่คุณอยากให้ทำสำเร็จมากที่สุด 3 อันดับแรก” (446 ตัวอย่าง)

  • ร้อยละ 40.41 ระบุว่า “ค่าแรง 600 บาทต่อวัน เงินเดือน ป.ตรี 25,000 บาท”
  • ร้อยละ 39.95 ระบุว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท”
  • ร้อยละ 37.47 ระบุว่า “ปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า”
  • ร้อยละ 32.51 ระบุว่า “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร”
  • ร้อยละ 23.70 ระบุว่า “ปฏิรูประบบราชการและทหาร”

โดยกลุ่มตัวอย่างระบุเพิ่มเติมว่าหากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลสามารถทำนโยบายดังกล่าวได้สำเร็จ ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีโอกาสจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล โดยร้อยละ 27.31 ระบุว่า “เลือกแน่นอน” และร้อยละ 24.15 ระบุว่า “อาจจะเลือก”

มองรัฐธรรมนูญ ต้องใหม่ทั้งฉบับ-สสร.เลือกตั้งทั้งหมด

สำหรับประเด็น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ? ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” (523 ตัวอย่าง)

  • ร้อยละ 75.53 ระบุว่า “เห็นชอบ ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ”
  • ร้อยละ 12.14 ระบุว่า “ไม่เห็นชอบ ควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา”
  • ร้อยละ 3.85 ระบุว่า “ไม่เห็นชอบ ไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญเลย”

ขณะที่ประเด็นที่มาของ สสร.

  • ร้อยละ 82.34 ระบุว่า “สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมด”
  • ร้อยละ 9.17 ระบุว่า “สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนบางส่วน และมาจากการแต่งตั้งบางส่วน”
  • ร้อยละ 2.52 ระบุว่า “สสร. ควรมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด”

ทั้งนี้ระบบได้เปิดให้ผู้ตอบแบบสอบถามพิมพ์ตอบอย่างอิสระถึงประเด็นที่เห็นว่าควรปรับปรุงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยระบบ AI ได้สรุปประเด็นที่ควรปรับปรุงคือ อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีควรเป็นของ สส. ที่มาจากประชาชนโดยตรง โดยไม่มีอำนาจของ สว., ที่มาของ สว. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน, ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ประเด็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การป้องกันรัฐประหาร และคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศได้อย่างแท้จริง เป็นต้น