คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ
พรรคภูมิใจไทยถือแต้มต่อพรรคเพื่อไทย ในการเรียกขอกระทรวงเกรดเอ
หนึ่งในข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทยคือ ต้องการคุมกระทรวงมหาดไทย
เมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการ “ยึด” กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่เพิ่งประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไปหมาด ๆ ทันทีที่จบภารกิจ “หนังหน้าไฟ” และยกกระทรวงคมนาคมให้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ในฐานะที่เป็น “คีย์แมน” สำคัญในการเจรจาตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยึดทั้งกระทรวง
พรรคภูมิใจไทยจึงได้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ 2 กระทรวงเกรดเอ
พ่วงกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
แต่สิ่งที่ควรโฟกัสคือ เก้าอี้ที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่ มท.1-มท.3 เหมือนในหลายปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงคลองหลอดจะมีถึง 4 เก้าอี้
แน่นอน “อนุทิน” เป็น มท.1 แต่อีก 3 ชื่อมาจากภูมิใจไทย 2 คนคือ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย กับ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย และมาจากพรรคเพื่อไทย 1 คนคือ “เกรียง กัลป์ตินันท์”
ผิวเผินอาจดูว่าไม่มีอะไร แต่หากเจาะลึกลงไปจะเห็นว่ากระทรวงมหาดไทย กำลังอยู่ในหลุมระเบิด
เพราะพรรคภูมิใจไทยเคยกำกับดูแลกระทรวงนี้มาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยมี “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” พ่อของ “อนุทิน” นั่งเก้าอี้ มท.1
ใช้กลไกการเมืองทำงานเชิงรุกทางการเมืองภาพใหญ่ และการเมืองท้องถิ่นที่มีงบประมาณนับแสนล้านอยู่ในมือ คุมกลไกการปกครอง
คัดคนตั้งแต่การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ไปยันจัดทัพผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แต่งตั้งอธิบดี-ปลัดกระทรวง
มหาดไทยในยุคภูมิใจไทย จึงเกิดกระแสร้อนแรง ชิงพื้นที่ข่าวหน้า 1 หลายต่อหลายครั้ง
สิบกว่าปีให้หลัง พรรคภูมิใจไทยจึงโอเคที่จะกลับมาครอบครองกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง
ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย เริ่มวิเคราะห์กันแล้วว่า การจะทำการใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย อาจอยู่ในการจับจ้องของ รมช.มหาดไทย ของพรรคเพื่อไทย
เพราะต้องไม่ลืมว่า พรรคภูมิใจไทยมีฐานการเมืองอยู่ในดินแดนอีสานใต้ มีบุรีรัมย์เป็น “เมืองหลวง”
การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคภูมิใจไทยกวาด สส.บุรีรัมย์ ครบทั้ง 10 เขต ยังแผ่อิทธิพลไปทั่วอีสาน เกินไปกินพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยไปหลายจังหวัด
และยิ่งเป็นถิ่น “อีสานใต้” พรรคภูมิใจไทยยังได้ สส.กินแดนไปถึงพื้นที่ทางการเมืองของ “เกรียง” ซึ่งเป็นซุ้มการเมืองใหญ่อีสานใต้ใน จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ
ดังนั้น การที่ “เกรียง” ไปเสียบเป็น รมช.มหาดไทย ที่อยู่ในการครอบครองของพรรคภูมิใจไทย จึงมีนัยทางการเมืองสูงยิ่ง
เมื่อ 2 ขั้วที่ “ขัดแย้ง-แย่งชิง” ฐานการเมืองในอีสานใต้มาอยู่รวมกันใน “มหาดไทย” อาจบานปลายไปถึงการแบ่งเค้กกรมต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ
กระทรวงมหาดไทยไม่ต่างกับอยู่ในหลุมระเบิด