ปิยบุตร มองก้าวไกลในปากกาศาล อ่านรัฐบาลเพื่อไทย-ผีทักษิณ ต้องยอมเพื่ออยู่

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

พรรคก้าวไกล หกคะเมน ตีลังกา ไม่อาจไปสู่จุดสูงสุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ถูกพรรคเพื่อไทยเขี่ยพ้นทางอำนาจ ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แห่งคณะก้าวหน้า เป็นคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกลอย่างแหลมคม-ตรงไปตรงมาที่สุด วิเคราะห์จุดพลาด-เพลี่ยงพล้ำของพรรคก้าวไกล และวิธีปฏิบัติตัวในฐานะ “พรรคฝ่ายค้าน” ในฐานะ “คนนอก” ที่มองเข้าไปข้างใน

รวมทั้งอ่านทางอำนาจของรัฐบาลเพื่อไทย โดยมี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ จะลงเอยแบบไหน

ก้าวไกล ไม่เพลี่ยงพล้ำ

ปิยบุตร ตอบคำถามเรื่อง “จุดเพลี่ยงพล้ำ” ที่ทำให้พรรคก้าวไกลหลุดจากการเป็นรัฐบาลว่า พรรคก้าวไกลเพลี่ยงพล้ำคงไม่ใช่ ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คนของพรรคก้าวไกล หรือผมเองที่ไปลงหาเสียงในฐานะผู้ช่วยหาเสียง หรือแม้แต่กองเชียร์พรรคก้าวไกลก็คงไม่คิดว่าพรรคจะได้ สส.เป็นอันดับที่หนึ่ง

แต่พอได้อันดับหนึ่ง คณะนำของพรรคเขาต้องรับผิดชอบกับอาณัติของประชาชนที่มอบให้มา คือการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคก้าวไกลต้องมาชั่งน้ำหนัก คือการตั้งรัฐบาลในระบบรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งรัฐบาลในองค์ประกอบที่ได้ สส. 151 เสียง

คุณต้องคาดเดาได้ล่วงหน้าว่ามันยากมากที่จะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ไม่ใช่แค่คณิตศาสตร์ตัวเลขที่ต้องรวมให้ติด ไม่ใช่แค่ไปคุยกับ สว. แต่ยากเพราะองคาพยพความสัมพันธ์ทางอำนาจของชนชั้นนำดั้งเดิม ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ เขาไม่อยากให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล

“ผมคิดว่ากลุ่มนำในพรรคก้าวไกลเขารู้ แต่เขานั่งเฉย ๆ ไม่ได้ เขาต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาปรากฏว่าไม่สำเร็จ มันเป็นความที่…ต้องตัดสินใจให้แน่ว่าจะเอาอย่างไร ถ้าคุณต้องการเป็นจริง ๆ ครั้งนี้ให้ได้ สถานเดียว โอ้โห… ต้องลดเงื่อนไขลงเยอะมาก”

“ถ้าไม่ลดเงื่อนไขก็ต้องทำใจล่วงหน้าไปเลย ว่าโอกาสที่จะได้เป็นมันน้อยมาก ไกลเหลือเกิน จึงไม่ใช่จุดที่เรียกว่าความเพลี่ยงพล้ำ”

“แต่คิดว่าคณะนำต้องตัดสินใจ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปง้อ ไปตามโหวตเตอร์ แต่คณะนำซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพรรค ต้องคิดให้ขาดว่าเอาไง ถ้าอยากเป็นให้ได้ แต่ไม่ลดเงื่อนไขเลย ไม่คุยเลย ไม่พยายามเลย จะแข็งอยู่อย่างเดิม มันไม่ได้เป็นรัฐบาลหรอก ภายใต้สถานการณ์แบบนี้”

อยากเห็นก้าวไกลค้านเต็มหมัด

ปิยบุตรเฝ้าจับตาด้วยความหวังว่า พรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้สมกับฝ่ายค้าน ตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลเศรษฐาแถลงนโยบาย

“อยากเห็นพรรคก้าวไกลทำหน้าที่ฝ่ายค้านเต็มที่สักที วันนี้ยังไม่ค้านสักที ตัวอย่าง ที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กล่าวหาคุณเศรษฐา นายกฯ คนปัจจุบัน ถามว่าถ้าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านจะไม่พูดเรื่องนี้เหรอ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องคุณชูวิทย์กับคุณเศรษฐานะ..ไม่เกี่ยว แต่เมื่อคนคนนี้เข้ามาเป็นนายกฯ ในฐานะฝ่ายค้านจะไม่สนใจเลยเหรอ หรือจะยังไง”

“หรือมีความรู้สึกว่าเราค่อย ๆ รักษาความสัมพันธ์กันไปก่อนนะ มิฉะนั้น วันหน้ากลุ่มรัฐบาล 11 พรรคของเขาแตก พรรคเพื่อไทยจะไม่มาชวนเรานะ ถ้าเป็นอย่างนี้ผมว่าไม่ได้ มันเสียจุดยืนของพรรคก้าวไกล”

แต่ “ปิยบุตร” มั่นใจว่าประชาชนยังคาดหวังกับพรรคก้าวไกลได้

“ทราบมาจากเพื่อน ๆ พรรคก้าวไกล ช่วงเวลาหลังเลือกตั้งเสร็จเขามีคณะหนึ่งเจรจาจัดตั้งรัฐบาล แต่มีอีกคณะหนึ่งเตรียมพร้อมถ้าเป็นรัฐบาลต้องทำอะไร เขาคิดอ่านแล้วว่าเขาจะเป็นกระทรวงอะไร ใครเป็นรัฐมนตรี เขาเตรียมนโยบายอะไรผลักดัน งบประมาณที่เหลืออยู่ปีนี้เอาไปทำอะไรได้บ้าง เขาออกแบบเต็มไปหมด”

“ใช้สิ่งเหล่านี้ไปอภิปรายในวันแถลงนโยบาย เสนอแนะไปเลย อย่างน้อยที่สุดรัฐบาล จะทำไม่ทำไม่รู้ แต่ประชาชนที่ติดตามการถ่ายทอดสดอยู่จะได้เห็นว่า อ๋อ…นี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลเตรียมไว้ว่าเขาจะเป็นรัฐบาล แล้วจะเกิดการเปรียบเทียบกับองค์ประกอบของ ครม.ชุดหน้า ที่เราเห็นแล้วว่าแลกกันผ่านโควตา ส่งคนกลุ่มนั้น กลุ่มนี้เข้ามา แต่พรรคก้าวไกลไม่มีเรื่องนี้”

อีกเรื่องหนึ่ง พรรคก้าวไกลมี สส.มากขนาดนี้ ใช้กลไกในสภาผลักดันร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอร่างพระราชบัญญัติ เสนอญัตติที่แหลมคมได้ หลายเรื่องที่เสนอเอาไว้ตอนหาเสียง พรรคก้าวไกลรีบเอาเข้าไปเลย หลายเรื่องที่ทำแล้วนายกฯ ประยุทธ์ ไม่ยอมเซ็นให้ เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการเงิน

มาถึงนายกฯ เศรษฐา วัดใจไปเลยว่าจะเซ็นไหม เช่น ร่างกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการเงิน ซึ่งพรรคเพื่อไทย ก็หาเสียงยกเลิกการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ หรืออาจารย์ชัยเกษม นิติสิริ เป็นหัวหอกพูดเรื่องการป้องกันรัฐประหาร ณ วันนี้พรรคเพื่อไทยไปร่วมรัฐบาลกับกลุ่มคนที่ทำรัฐประหารพรรคเพื่อไทยมา

พรรคก้าวไกลเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันรัฐประหารเลย แล้วดูว่าพรรคเพื่อไทยเอาไง ผมคิดว่าใช้การทำงานในสภาดันต่อไปได้เรื่อย ๆ

รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ยาว

ส่วนโอกาสของรัฐบาลเพื่อไทยหวัง ออกหมัดเรื่องเศรษฐกิจได้ จะมาเป็นแต้มต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่ “ปิยบุตร” มองว่าสื่อสารมวลชนและในโลกออนไลน์เยอะมาก โดยเฉพาะดิจิทัลฟุตพรินต์ จึงค่อนข้างมั่นใจว่าคนไทยไม่ได้ลืมง่าย ๆ (ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว) เพียงแต่จะแสดงออกตอนไหนเท่านั้นเอง

ส่วนผลงานเศรษฐกิจจะช่วยได้ไหม…อาจจะช่วยได้ แต่เราไม่มีความแน่นอนชัดเจน ว่าท้ายที่สุดโหวตเตอร์ในยุคปัจจุบันตัดสินใจการเลือกตั้งผ่านเรื่องปากท้องอย่างเดียวหรือเปล่า

ส่วนพรรคเพื่อไทย ผมเห็นต่างจากหลาย ๆ ท่าน ที่วิเคราะห์ว่าอยู่ไม่ยาว ผมกลับมองว่ารัฐบาลชุดนี้เผลอ ๆ อยู่ยาวครบ 4 ปี จะเปลี่ยนนายกฯ หรือเปล่าไม่รู้ แต่องค์ประกอบแบบนี้ไปด้วยกันเรื่อย ๆ แน่

ต่อให้เขาทะเลาะเบาะแว้งกัน แย่งตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาเคลียร์กันได้ เพราะหันซ้ายหันขวา หันหลังไป พรรคก้าวไกลรอเลือกตั้งอยู่ ดังนั้น ทุกคนก็จะบอกว่าอย่าเลย จำไม่ได้หรือว่ากว่าเราจะตั้งรัฐบาลแบบนี้ได้ปวดหัวขนาดไหน ดังนั้น เรื่องไหนขัดแย้งกัน ยอม ๆ กันสลับกันไป

ขณะเดียวกัน พรรคร่วมจะใช้ตรงนี้กดดันพรรคเพื่อไทยว่าจะเอาเหรอ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็จำเป็นต้องแลกอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้รัฐบาลชุดนี้ไปต่อได้ตลอดรอดฝั่ง

ภาพที่เจ้าสัวไปพบนายกฯ ภาพพรรคการเมืองทะเลาะเบาะแว้งกันมา กลับมารวมกันได้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ชนชั้นนำกำลังสร้างฉันทามติไม่อนุญาตให้พรรคก้าวไกลมีอำนาจบริหารแม้แต่วินาทีเดียว เมื่อเขาผนึกกำลังกัน เขาไม่ยอมให้รัฐบาลแบบนี้ล้มลงไปได้ง่าย ๆ

แต่พรรคก้าวไกลต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส มีเวลาสร้างพรรคให้เข้มแข็งขึ้นใน 4 ปี มีเวลาสรรหาคนใหม่ ๆ ตระเตรียมคนที่เป็นรัฐมนตรีในครั้งหน้า มีเวลาทำงานในสภา สร้างพรรคให้เป็นพรรคของมวลชนให้มากกว่าเดิม ทำให้พรรคมีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น ไม่ใช่กลุ่มก้อนไม่กี่คนเป็นคนตัดสินใจ

กับคำถามที่ว่า นักการเมืองกลัวผีทักษิณ แต่ตอนนี้กลัวปีศาจก้าวไกล “ปิยบุตร” กล่าวว่า ลักษณะเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเขาอาจรู้สึกกังวลมากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนเขาคิดว่าพรรคเพื่อไทยอย่างน้อยเบ้าหลอมมาคล้าย ๆ กัน อาจพูดคุยกันได้บ้าง

แต่พอมารุ่นพรรคก้าวไกลน่าจะคุยกันยากกว่าเดิมนิดหนึ่ง ไม่นับรวมผู้สนับสนุนพรรคเป็นคนรุ่นใหม่ ๆ จำนวนมาก ซึ่งมีความคิดที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว อาจทำให้กลุ่มชนชั้นนำน่าจะกังวลมากกว่าสมัยก่อนที่เรียกว่าผีทักษิณ

แล้วการกลับมาของคุณทักษิณ ส่งผลต่อจุดเปลี่ยนการเมืองและโครงสร้างอำนาจอย่างไร “ปิยบุตร” ตอบว่า

เหตุการณ์ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นคำตอบในตัวเอง แต่ผมก็ยืนยันว่าคุณทักษิณเป็นเหยื่อของการรัฐประหาร 2549 และ 2557 สิ่งที่คุณทักษิณ และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดนกระทำมา คือความอยุติธรรม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการศัตรูทางการเมือง

สิ่งที่ผมเสนอไปตั้งแต่เป็นอาจารย์คือ ยังเชื่อว่าต้องลบล้างคำพิพากษาที่พัวพันกับกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ให้เริ่มต้นคดีกันใหม่ ไม่ต้องติดคุก เพื่อความแฟร์

และหวังต่อไปว่า อย่างน้อย ๆ กลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำดั้งเดิม และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่รวมกันได้ ถ้าคุณไปต่อได้จริง ๆ ผมเชียร์ให้คุณสร้างฉันทามติ คือปล่อยพรรคก้าวไกลเป็นอย่างนี้โดยไม่ต้องไปยุบเขา ส่วนพวกคุณก็รวมอำนาจกันไป ก็จะค่อยๆ ปฏิรูปทีละนิดเดี๋ยวก็เจอจุดสมดุล แต่ถ้าคุณไปจัดการเขาหมดเลย ก็เป็นธรรมดาที่พรรคก้าวไกลต้องขึ้นอีก ไม่มีวันมาบรรจบ

ขณะเดียวกันวิธีการสร้างฉันทามติในสังคมจริงๆ คือการ นิรโทษกรรม บรรดาบุคคลที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดตั้งแต่ปี 2548

ถ้าคิดตรงกันข้าม ตั้งรัฐบาลได้เสร็จ มีการกลับบ้านได้บางคน บริหารประเทศไป เดี๋ยวอยู่ดี ๆ พรรคก้าวไกลถูกยุบ โดนตัดสิทธิ์ หรืออยู่ดี ๆ ไอ้คนนั้นคนนี้ติดคุกเรื่อย ๆ อีกไม่มีวันจบ

ถ้าคิดอ่านในระยะยาว ในเมื่อคุณกุมอำนาจกันหมดอย่างนี้ ต้องให้การเมืองเดินต่อในระบบปกติ พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านไม่มีทางเป็นฝ่ายค้านที่กวักมือเรียกทหารมายึดอำนาจแน่นอน

ก้าวไกลในเกมรัฐธรรมนูญ

เมื่อพรรครัฐบาลเพื่อไทย ชูธง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ใช้เวลา 3 ปี ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคก้าวไกล ก็ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน “ปิยบุตร” อ่านเกมรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นได้มาก – น้อย แค่ไหนว่า

ตอนนี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลมีอยู่ในมือคือ สส.151 คน สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้เองตลอดเวลา เป็นข้อเด่นที่เขามีอยู่ แต่ว่าปัญหาของการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ว่าใครเสนอได้ แต่ปัญหามันไปติดที่กระบวน การแก้ไขซึ่งต้องใช้เสียงของ สว 80 กว่าท่าน  มันเป็นอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา

ผมเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลเขาคิด อ่าน จะใช้ประชามติไปกดดัน สว.  เขาไปรณรงค์หาเสียงบอกว่าถ้าเขาได้เป็น รัฐบาลเขาจะจัดให้มีประชามติออกเสียงทันทีว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการทำฉบับใหม่หรือไม่ โดย สสร. แต่บังเอิญเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล

เขาก็ใช้ช่องทางอื่นในการเสนอให้มี การทำประชามติ นั้นก็คือ ต้องผ่านรัฐสภา ที่นี้ผ่านรัฐสภาก็ต้องติด สว. อีกแหละ เพราะ สส.ผ่านก็ต้องไป สว. และสว.ก็คงไม่ให้อีก นี่ก็ยังโชคดีว่าภาคประชาชนเขาร่วมกันเข้าชื่อ ก็หวังว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะตัดสินใจจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

ดังนั้น โรดแมปการแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งหนึ่งที่พรรคก้าวไกลมีอยู่ในมือคือ สส. 151 คน อีกสิ่งหนึ่ง​ซึ่งวันหน้าพรรค ก้าวไกลก็ต้องไปคิดอ่านกัน คือ คุณจะใช้คะแนน  20 เปอร์เซ็นต์ ของคุณ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมี 20 เปอร์เซ็นต์ ของพรรคที่ไม่มีประธานสภา รองประธานสภา รัฐมนตรี คุณจะเอาแบบนี้มาเล่นใหม่ในอนาคต แต่ปัญหาคือตอนนี้พรรคของคุณ เป็นรองประธานอยู่

“เราจะมีอำนาจถ่วงดุล 20 เปอร์เซ็นต์ ไหม เช่น สมมุติถ้าเขาแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประชาชน ไม่เห็นด้วยเลย พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยเลย พรรคก้าวไกลก็ใช้ 20 เปอร์เซ็นต์ทำให้การแก้ไขนั้นมันจบไปได้ เป็นต้น พรรคก้าวไกลต้องไปคิดอ่านต่อ”

เกมแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทย

ปิยบุตร กล่าวว่า แต่ถ้ามองภาพใหญ่ให้พ้นจากพรรคก้าวไกล คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่ได้แก้ได้ใหญ่โตอย่างที่ฝันไว้

ลองดูองค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ประสงค์อยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ในขณะที่พรรคอื่นๆ ผมไม่แน่ใจว่าเขาอยากแก้ไหม และยังไม่นับรวม สว.ก็ขู่ฟอดๆ ทุกครั้งว่าอย่าทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ล่าสุดเพิ่งได้ข่าวว่า สว.เริ่มมีความคิดว่าอยากให้ สว.ชุดนี้ ได้มีโอกาสเป็น สว.ชุดหน้าได้อีก ก็ขอแก้ไขบทเฉพาะการนี้อีก ดังนั้น แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามของกลุ่มขั้วอำนาจเดิมที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แต่เมื่อก่อนพรรคเพื่อไทยผนึกกำลังกับพรรคก้าวไกล ก้อนนี้เป็นก้อนที่อยากเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยไปอยู่ในก้อนที่ไม่อยากเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ถามว่าองค์ประกอบอย่างนี้จะทำได้อย่างไร

“ดูง่ายๆ ถ้าการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ ผ่านไป 1-2 เดือนแล้วยังไม่มีมติ ครม.ให้จัดทำประชามติว่าให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้ายังไม่มีเลิกฝันไปเลย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แสดงว่าพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่าเขาเลือกประคับประคองการเป็นรัฐบาลไปก่อนมากกว่าให้ความสำคัญกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

แนะวิธีสู้ยุบพรรค

ส่วนเรื่องที่สั่นประสาทพรรคก้าวไกลที่สุด คือเรื่อง “ยุบพรรค” ก้าวไกลจะไปสุดลงที่การถูกยุบพรรคหรือไม่ “ปิยบุตร” มองว่า คดีที่จะเข้าข่ายเรื่องการยุบพรรคได้น่าจะมีอยู่ 1 คดี คือกรณีของทนายความของพระพุทธอิสระ ไปร้องว่าบรรดา สส.ของพรรคก้าวไกลใช้เสรีภาพเป็นการล้มล้างการปกครอง ในการเสนอพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเอามาบรรจุเป็นนโยบายพรรคการเมืองในการหาเสียง แล้วไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ

สมมติว่าเราเชื่อจริง ๆ ว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ถามว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลสำเร็จไหม ร่างที่เขาเสนอไปครั้งที่แล้วยังไม่ถูกบรรจุวาระการประชุมสภาเลย และมารอบนี้เขาก็แค่ไปรณรงค์หาเสียง ถามว่าผลลัพธ์คือการสั่งห้าม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามเขาก็ทำไม่ได้แล้ว

ถ้าเราใช้วิธีแบบนี้ (ยุบพรรค) สกัดกั้นขัดขวาง ผมเห็นว่าไม่เป็นคุณต่อ ระบบกฎหมาย ไม่เป็นคุณต่อกระบวนการนิติบัญญัติ และไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

ถ้าหากคุณอยากจะสกัดไม่ให้พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายแบบนี้ มีวิธีอื่นง่ายกว่านั้นคือ ถ้าพรรคก้าวไกลเสนอปุ๊บ เสียงข้างมากในสภาเวลานี้ก็โหวตคว่ำเลยก็จบ เพราะฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 มีแค่ 151 เสียงของพรรคก้าวไกลเท่านั้นแหละ พรรคอื่น ๆ เขาไม่แก้ด้วย อย่าใช้วิธีการยุบพรรคตัดสิทธิแบบนี้ ไม่งั้นจะบานปลายไปอีก

“ปิยบุตร” ไม่กล้าประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะ “รอด” หรือ “ไม่รอด”

“ไม่กล้าประเมินอะไรทั้งนั้นกับศาลรัฐธรรมนูญไทย เวลาพูดในทางวิชาการเราบอกว่าไม่ผิด ไม่ผิด แต่พอมีปัจจัยทางการเมืองมาผสมผสาน ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่าสิ่งที่คาดการณ์กันไว้ทางวิชาการก็มักจะผิดพลาดเสมอ”

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า การยุบพรรค พูดกันตรงไปตรงมาปากกาไม่ได้อยู่ที่พวกเรา แต่ปากกาอยู่ที่พวกเขา

“พรรคก้าวไกลจะสู้กับการยุบพรรคได้ ต้องสร้างคะแนนนิยมจากพี่น้องประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว จากการรวมตัวของกลุ่มก้อนทางการเมืองต่าง ๆ มันแสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้มีพันธมิตรทางการเมืองในเวลานี้ เพื่อนที่เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ที่ดีที่สุดของพรรคก้าวไกลคือประชาชนที่ให้การสนับสนุน ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญมากที่จะนำมาเป็นพลังสำคัญสู้กับกลเกมยุบพรรคการเมือง”

ก้าวไกล เกินเป้าหมาย

คำถามสุดท้าย ที่ถาม “ปิยบุตร” คือ พรรคก้าวไกลมาไกลขนาดนี้ เป็นไปตามเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ตอนตั้งพรรคการเมือง ที่ชื่อว่า “อนาคตใหม่” หรือ เกินกว่านั้น

เขาตอบทันทีว่า “เกิน…ผมคิดว่าต้องใช้เวลานานกว่านี้ เกินทั้งสองมุม เกินทั้งจำนวน สส. คะแนนนิยม และเกินทั้งความคิด”

“เกินอันแรกทำให้พรรคก้าวไกลเหนื่อยในการบริหารจัดการภายใน เพราะได้ สส.เยอะได้ความนิยมเยอะ เหนื่อยที่สองคือ ความคิดไกล เหนื่อยในเรื่องความคาดหวังของประชาชน พอโหวตเตอร์ไปไกล ก็จะคาดหวังสูง แต่พรรคการเมืองมีข้อจำกัดในการทำงาน”