รำลึก 47 ปี 6 ตุลา 19 ไม่ตายเปล่า ถ้าคนรุ่นใหม่กล้าท้าทายอำนาจนิยม

รำลึก 47 ปี เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา คึกคัก ตัวแทนรัฐบาล-พรรคการเมืองวางหรีดไว้อาลัยแน่น หวังเหตุการณ์นี้สร้างจิตสำนึกคนรุ่นใหม่ กล้าท้าทายอำนาจนิยม ผู้คนก็จะไม่ลืม

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่าย ร่วมจัดงาน “47 ปี 6 ตุลา : กว่าจะเป็นประชาธิปไตย” เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีการเริ่มจากเวลา 07.40 น. มีการตักบาตรภิกษุสงฆ์ 19 รูปจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร อุทิศส่วนกุศลแด่วีรชน โดยมีญาติวีรชน, ประชาชน รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองและภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วม อาทิ พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค น.ส.จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. นายสุธรรม แสงปทุม สส.บัญชีรายชื่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานรัฐสภา คนที่ 2 น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ

รำลึก 47 ปี 6 ตุลา 19

พรรคก้าวไกล นำโดยชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. ตัวแทนคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช  พรรคไทยสร้างไทย นำโดย น.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรค รวมถึงแกนนำ นปช. อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ

จากนั้นได้เข้าสู่พิธีรำลึกวีรชนโดยมีการอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และวางพวงหรีดและช่อดอกไม้ ณ ประติมานุสรณ์ “6 ตุลาคม 2519”

Advertisment

รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในทุกปี มีความหมายเป็นอย่างยิ่งในการสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเอาเป็นวันสำคัญ เพื่อตอกย้ำความทรงจำของเหตุการณ์นี้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ที่เราจะไม่อาจลืมเลือนไปได้ และเราจะร่วมกันเก็บรับบทเรียนนี้ ในฐานะพลเมืองของอารยประเทศที่มีประชาธิปไตยเป็นเป้ามุ่งหมายสูงสุด

รำลึก 47 ปี 6 ตุลา 19

Advertisment

นายคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านบทกวี “เรายังต้องการสิ่งใดอีก” เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ท่ามกลางความบันเทิงเริงใจของยุคสมัย ที่ผู้คนพร้อมจะทิ้งมนุษยธรรมเพื่อสรรเสริญความชั่วช้า เรายังต้องการสิ่งใดอีก แสงสว่างจากเปลวเทียนร้อยพัน บทกวีดาษดื่น เสียงตะโกนโห่ร้องอย่างสิ้นหวัง หรือการร้องไห้รื้นน้ำตาที่ไร้ความหมาย

“แต่ท่ามกลางหนทางทะเลทรายที่โหดร้าย เราเพียงต้องการความหวัง และความยุติธรรมที่มีชีวิต หล่อเลี้ยงชโลมทา บรรเทาความกระหาย ให้ผู้ล่วงหลับไม่สาบสูญ ผู้หยัดยืนไม่สูญหาย ผู้หวังใจไม่ตายเปล่า เราเพียงต้องการความหวัง” นายคุณากร กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ในหัวข้อ “แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ” ตอนหนึ่งว่า มนุษย์สามารถตายได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อลมหายใจปลิดปลิว หรือกระสุนปลิดขั้วหัวใจ เมื่อสมองไม่ทำงาน หรือเมื่องานศพได้จัดขึ้น แต่การตายครั้งที่สอง คือเมื่อคนที่รู้จักได้ลืมเลือนเราออกไปจากหัวสมอง เมื่อเราหายไปจากความทรงจำของผู้คน

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมเรียนรู้ว่า มนุษย์สามารถฆ่ากันให้ตายได้เป็นครั้งที่สาม ซึ่งยิ่งกว่าการลืมเลือนไปจากหัวใจของผู้คนที่เรารัก แต่คือการบิดเบือน บิดเบี้ยว เจตนาของความตาย เจตนาของการมีชีวิตอยู่ของเรา ให้มารับใช้คนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า จากประสบการณ์การของตนได้เรียนรู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่ช่องว่างทางประวัติศาสตร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นเก่าอยากลืมเลือน ผู้คนรู้จักเหตุการณ์นี้ดี จดจำได้ หากแต่ขึ้นกับว่าบรรยากาศของสังคมในขณะนั้นเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้มีอำนาจ  ซึ่งเมื่อใดสังคมมีบรรยากาศอำนาจนิยมหรือเผด็จการ เหตุการณ์ 6 ตุลา  ก็จะถูกบิดเบี้ยวและลืมเลือน แม้จะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานก็ตาม

“แต่เมื่อใดที่สังคมมีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย เมื่อใดที่คนรุ่นใหม่กล้าท้าทาย ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปนานเพียงใด ผู้คนก็จะไม่ลืมเลือน แต่การรำลึกถึงเหตุการณ์ก็จะเวียนกลับขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะผ่านไปร้อยปี หรือพันปี ฉะนั้นระยะเวลาไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญต่อความจำและความลืมของผู้คนในสังคม” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ปาฐกถาต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือเราจะจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร ไม่ว่าเราจะเชื่อในการต่อสู้นี้ในฐานะการต่อสู้ของนักอุดมคติ การสร้างสังคมนิยม หรือการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้ความเลวร้ายในเช้าวันที่ 6 ตุลา นั้นมีความชอบธรรมมากขึ้นแต่อย่างใด

และไม่ว่าเราจะรู้จักเหตุการณ์นี้มากน้อยเพียงใด แต่อยากเน้นย้ำว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนของการที่คนธรรมดาล้วนมีความปรารถนาที่อยากให้สังคมนี้ดีขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น

รำลึก 47 ปี 6 ตุลา 19

“ยืนยันว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ได้ตายเปล่า แต่ได้สร้างจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ และการต่อสู้ของคนธรรมดา ทั้งหมดนี้คือต้นกล้าแห่งความฝัน การตั้งคำถามของคนธรรมดาต่อความผิดปกติของสังคม ตั้งคำถามต่อความร่ำรวยบนความยากจน ตั้งคำถามต่อเผด็จการเหนือประชาธิปไตย ตั้งคำถามต่อชีวิตอภิสิทธิ์ชนเหนือชีวิตของคนธรรมดาสามัญ ตั้งคำถามต่อความเมินเฉยและเงียบเสียงต่ออำนาจ และทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไรมาก เพียงแค่ยืนยันความเป็นมนุษย์ของพวกเรา” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว

ทั้งนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ ส่งพวงหรีดเข้าร่วมอาลัยเป็นจำนวนมาก อาทิ พวงหรีดจากประธานรัฐสภา, พวงหรีดจากคณะรัฐมนตรี, พวงหรีดจากมหาลัยธรรมศาสตร์, พวงหรีดจากพรรคประชาชาติ, พวงหรีดจากพรรคเพื่อไทย, พวงหรีดจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, พวงหรีดจากคนเสื้อแดง, พวงหรีดจากมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ สืบสารจิตใจวีรชนคน 6 ตุลา, พวงหรีดจากสถาบันปรีดี พนมยงค์,

พวงหรีดจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, พวงหรีดจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พวงหรีดจากญาติวีรชน เมษา-พฤษภาคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 53, พวงหรีดจากมูลนิธิ 14 ตุลา, พวงหรีดจากสมัชชาคนจน, พวงหรีดจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, พวงหรีดจากชมรมโดมรวมใจ