
นายกฯเศรษฐา ยกหูกำชับ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท “ผมไม่อยากทำผิดกฎหมาย” ดูข้อกฎหมายให้ละเอียดแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ปกรณ์เผยไม่หนักใจ ยืนยันตีความตรงไปตรงมา
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน เตรียมส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในนโยบายดิจิทัลวอลเลตคนละ 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคนทำได้หรือไม่
นายปกรณ์เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะหารือประเด็นใด เข้าใจว่าจะหารือว่าจะออก พ.ร.บ.กู้เงินได้หรือไม่ ซึ่งโดยหลักคณะอนุกรรมการดิจิทัล ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน ได้เสนอมาเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน จึงต้องกลับไปพิจารณาในข้อกฎหมายว่า ออกเป็น พ.ร.บ.ได้หรือไม่
นายปกรณ์กล่าวว่า โดยคณะอนุฯ เสนอมา 3 ทางเลือก ได้แก่ หนึ่ง ใช้งบประมาณอย่างเดียว สอง ใช้งบประมาณกับเงินกู้ และสาม ใช้เงินกู้ทั้งหมด ซึ่งการใช้เงินแต่ละประเภทมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยคณะอนุฯ คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุดคือ กู้เงินตรง ๆ 5 แสนล้านบาท
โดยการออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้สภาพิจารณาด้วย เพราะถ้าออกเป็น พ.ร.ก.ก็เป็นการเร่งรัดจนเกินไป ใครทักท้วงไม่ได้ นายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่อยากทำอย่างนั้น จึงอยากให้ออกเป็น พ.ร.บ.
นายปกรณ์กล่าวว่า สิ่งที่กฤษฎีกาต้องพิจารณาคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หน้าที่ของ ครม.ที่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ กฎหมายเงินตรา เงินคงคลัง อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องพิจารณาทั้งหมด ว่ามีเงื่อนไขอะไรที่จะทำได้ หรือทำไม่ได้บ้าง และทำได้ภายใต้เงื่อนไขอะไร
“รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นแต่เพียงไอเดียของคณะอนุฯ ว่าจะกู้เงินโดยจะใช้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 แต่ยังไม่ได้มีมติอะไรออกมาชัดเจน ถ้ากฤษฎีกามีความเห็นอย่างไรก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่ก็คงต้องตัดสินใจอีกทีว่าจะเอาอย่างไรต่อ จะใช้ช่องทางไหน” นายปกรณ์กล่าว และว่า
“ไม่หนักใจ กฎหมายก็คือกฎหมาย เราตีความตรงไปตรงมา เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดนโยบาย เพียงแต่ว่านโยบายเป็นอย่างนี้แล้วทำได้ตามกฎหมายหรือไม่” นายปกรณ์กล่าว
เมื่อถามว่า มีการเสนอข่าวว่าเลขาฯกฤษฎีกาไม่ทราบมาก่อนว่าจะออกเป็น พ.ร.บ. นายปกรณ์กล่าวว่า เราไม่รู้รัฐบาลจะเอาแนวทางไหน ซึ่งมีหลายแนวทาง แนวทางที่ใช้เงินงบประมาณปกติก็ไม่ต้องทำอะไร แต่พอจะต้องกู้เงิน ซึ่งมีอะไรต้องดูหลายอย่าง
“ผมก็เลยบอกว่า ขอรับมาดูก่อน เพื่อความชัวร์ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ท่านนายกฯบอกว่าใช้เวลาให้เต็มที่ ดูดี ๆ ท่านไม่ได้เร่ง ท่านนายกฯโทรศัพท์มาบอกกับผมเอง ว่าดูให้ละเอียด ผมไม่อยากทำผิดกฎหมาย ว่าไงก็ว่าอย่างนั้น” นายปกรณ์กล่าวตบท้าย