นพ.พรหมินทร์ ฝ่า 3 ด่านเสี่ยง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แก้คนไทยจนเรื้อรัง

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

คำตอบใหม่ ที่ได้จาก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มากไปกว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อแจก 10,000 บาท ให้กับ 50 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

หนึ่ง คือ เป็นการกู้ในประเทศ ที่มีสภาพคล่องล้น

สอง คือ ตัวเลขเศรษฐกิจตกต่ำ-ติดลบเกือบทุกตัว

สาม คือ เป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะถ้าไม่มีมาตรการนี้จะเกิด ต้มยำกุ้งและคนไทยจนเรื้อรัง

สี่ คือ จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเพื่อไทย ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินหมุน 3.3 รอบ มีผลต่อจีดีพี 1-1.5 % ต่อจีดีพี

และเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลเพื่อไทย ที่เป็นเจ้าตลาดนโยบายประชานิยม และเคยนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติจนชนะเลือกตั้งมาทุกครั้ง

ADVERTISMENT

คำตอบจาก นพ.พรหมินทร์ อาจครอบคลุม-แต่ยังคลุมเครือบางประเด็น เขาคาดหวังว่า เมื่อเงิน 10,000 บาทถึงมือประชาชน เสียงวิจารณ์อาจจะเงียบลง

เศรษฐกิจไม่ดี-ดัชนีตกทุกตัว

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นัดหมายผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล เปิดให้ถามทุกข้อ-ต่อเนื่องจากการแถลงข่าวครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรี เริ่มจากเปิดตัวเลขเศรษฐกิจที่ทุกดัชนีอยู่ในแดนลบ และขยายประเด็น “เศรษฐกิจไม่ดี” โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมตั้งคำถามว่า “เศรษฐกิจดีจริงหรือ”

ADVERTISMENT

“เศรษฐกิจมีปัญหาอะไรบ้าง ต้องพูดความจริง ที่ผ่านมามีการกู้เงินมาแล้วถึง 1.5 ล้านล้านบาท หนี้สินที่เราแบกอยู่คือหนี้สินที่ถูกแบกข้ามรัฐบาลมา”

เลขาธิการนายกรัฐมนตรีระบุว่า สถานะวันนี้ให้ย้อนหลังกลับไป ดูสถิติทุกข้อมูลก็คล้ายกัน ตัวเลขจากไอเอ็มเอฟ เราทรุดหนักสุด ฟื้นช้าสุด บ้านเรามีความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนหนักมาก

“ตัวที่บอกว่าเศรษฐกิจดีไม่ดี คือหนี้ของภาคประชาชน หนี้ครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ 10 ปีที่ผ่าน วันนี้ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แปลว่า คนที่เป็นทุกข์ คือ คนที่เป็นหนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่อันดับ 7 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย”

“การพูดว่าเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจโต แต่โตยังไม่ถึงจุดที่เคยโตมาแล้ว และการที่บอกว่ากลัวเงินเฟ้อ ถ้าใส่เงินลงไปจะเกิดเงินเฟ้อ เป็นการพูดทีละจุด ๆ เวลาเราพูดถึงเงินเฟ้อ ตัวเลขต้นปีเงินเฟ้อ 5% ล่าสุด 0.3% แล้วจะกลัวอะไรกับเงินเฟ้อ”

เลขาธิการนายกรัฐมนตรีตอกย้ำมาตรการและตัวเลขของแบงก์ชาติด้วยว่า “ปัญหาคือคุณขึ้นดอกเบี้ยสวนทาง กลัวเงินไหลออก ในรอบ 10 เดือน ขึ้นจาก 1.25% เพิ่มอีก 1.25% เป็น 2.5% เวลาขึ้นดอกเบี้ย ปัญหาอยู่ที่หนี้ครัวเรือน คนที่ต้องจ่ายหนี้ต้องมีภาระหนักขึ้น ตัวเลขเหล่านี้มันฟ้องแล้วนะว่า เศรษฐกิจดีจริงหรือ”

ตัวเลขแบงก์ชาติ อัตราการใช้กำลังการผลิต ไตรมาส 3 เหลือเพียง 58% เพราะไม่มียอดขาย ขณะที่ประเทศอื่น เกาหลี 100% ฟิลิปปินส์ 70%

“ตัวเลขการบริโภคตกทุกตัว ในไตรมาส 3 ทั้งดัชนีการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทน-สินค้ากึ่งคงทน การใช้จ่ายภาคบริการ ยอดการจดทะเบียนยานยนต์เพื่อการลงทุนในประเทศ ติดลบ 23% กำลังจะเฉาตาย ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหดตัว การบริโภคตก หนัก กำลังซื้อไม่มี ความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชนตกหมด เทรนด์ต่าง ๆ ติดลบ ตกหนักลงเรื่อย ๆ”

“เราคาดการณ์ไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อดัชนีในการคำนวณจีดีพี ทั้งการส่งออก นำเข้า การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ การใช้จ่ายภาคเอกชน และการบริโภค ตัวเลขตกลงทุกตัว เราจึงต้องหามาตรการเข้ามาดำเนินการ”

ปัจจัยลบงบประมาณ’67 ล่าช้า

นพ.พรหมินทร์ชี้ให้เห็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจอีกตัว คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้า-การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า อีกทั้งรายจ่ายเพื่อการบริโภค-การลงทุน และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ตัวเลขติดลบทั้ง 3 รายการ

เพราะการจัดตั้งรัฐบาลช้า เงินรัฐออกไม่ได้ แทนที่เงินจะออกวันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงขณะนี้ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังออกไม่ได้ งบประมาณต้องไปออกเดือนพฤษภาคม 2567 ทำให้การก่อหนี้ผูกพันล่าช้า สะเทือนไปถึงการจัดซื้อ-จัดจ้าง

ความน่ากลัวของเศรษฐกิจตกต่ำ ถูกเลขาธิการนายกฯระบุว่า “ตัวเลขการลงทุน มีความหมายต่อการบริโภค การใช้จ่าย การจ้างงาน และกำลังการผลิต แต่เมื่อการลงทุนภาครัฐต่ำ ความมั่นใจของทั้งตลาดไม่ดี อีกทั้งในปีหน้าจะมีหุ้นกู้ที่ครบดีลอีก 1 ล้านล้าน ถ้ารอถึงวันนั้นโดยไม่ออกมาตรการอะไร เศรษฐกิจจะดีหรือ จะหายใจไม่ออก จะตายได้นะ”

“เราจึงคาดการณ์ไปข้างหน้า หาเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราเป็นรัฐบาล เมื่องบประมาณล่าช้า แม้แต่เครื่องมือของรัฐบาลเองก็ออกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องรอไปจนถึงพฤษภาคม 2567 รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะทำอะไรต่อ เพราะมันจะใช้เวลาทั้งสิ้น”

“มาตรการที่รัฐบาลทำเรื่องเงิน 1 หมื่นบาท คือการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่การกระตุ้นการบริโภค ไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ คนละเรื่อง การกระตุ้นเศรษฐกิจแปลว่า เครื่องมือเหล่านี้จะใช้จ่ายส่วนหนึ่งไปสู่เรื่องของการลงทุน”

พ.ร.บ.กู้เงิน-แก้จนเรื้อรัง

คำถามที่ว่าในเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำไมการแจกเงิน 10,000 บาท ถึงไม่ออกเป็น “พระราชกำหนด” นพ.พรหมินทร์ตอบว่า “วันนี้คนไทยติดหนี้กันทั้งประเทศ โงหัวไม่ขึ้น เรากลัวว่าประเทศไทยจะจนกันเรื้อรัง เราจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินที่เป็นรายได้ที่ควรจะได้หายไปจากระบบก็ต้องเติมเงินเข้าไป”

“วิธีการที่คลีนที่สุด คือ พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งเรามีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนราษฎร หรือพรรครัฐบาล ที่เข้ามามีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อจะแก้ปัญหา ซึ่งเป็นภารกิจโดยตรงของคนที่จะมาบริหาร การออก พ.ร.บ.เป็นเครื่องมือ หนึ่ง ที่เราทำตรงไปตรงมา เราต้องปรึกษากฤษฎีกา ผู้ที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายเสียก่อน ว่าควรจะทำอย่างไรให้ทำให้ได้”

“ถ้าออกเป็น พ.ร.ก.ก็จะมีปัญหาอีก ดังนั้นต้องเอาให้ผ่าน ให้ถูกเลยแล้วขอความร่วมมือจากสภา ทำให้คลีน ๆ และถูกต้อง ที่สุด เหมือนกับที่เคยทำมาเรื่อง พ.ร.บ.ลงทุน 2 ล้านล้าน ที่จะใช้เงินเยอะก็ต้องอธิบายกันให้มีการเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎร”

5 แสนล้าน ฝ่า 3 ด่านเสี่ยง

นพ.พรหมินทร์อธิบายการขับเคลื่อน พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ที่ต้องผ่าน 3 ด่าน คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา-ศาลรัฐธรรมนูญ-สภาผู้แทนราษฎร ว่า “กฎหมายเงินกู้ จะไม่ถูกตีตกกลางสภา เพราะว่าเสียงเราเป็นเสียงข้างมาก เรารวบรวมเสียงได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภา ประโยชน์สุขอยู่ที่ประชาชน สุดท้ายรัฐบาลตัดสินใจว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้ทันสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า”

เลขาธิการนายกฯเพิ่มปัจจัยเสี่ยงไว้ในกลางปีหน้าด้วยว่า หากหนี้หุ้นกู้ต่าง ๆ ครบดีล แล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะเป็นอีก 1 ชนวนระเบิดอีกลูก “ซึ่งเรารู้ว่ามันจะเป็นต้มยำกุ้ง โดยเรารู้แล้วไม่หาทางแก้ไข เราใช้วิธีนี้ ด้วยการรวบรวมบทเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านมา เชื่อว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นตรงกับเรา นี่ก็ต้องตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ถูกต้อง”

ด่านที่สภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการนายกฯเชื่อว่า “เป็นอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน การออกนโยบายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้รับการฉันทานุมัติจากผู้แทนราษฎร มีหน้าที่บริหารประเทศ แก้ปัญหาที่เรามองเห็น ตัวอย่างฟ้องชัดแล้วในเรื่อง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ที่มีการบอกไปให้ทำถนนลูกรังก่อน วันนี้ลาววางถนนมาถึงแล้ว”

“เราคิดว่าด่านนี้เป็นด่านที่เป็นด่านที่ปลอดภัยที่สุด แต่ระหว่างการทำงานเราก็ต้องคำนวณความเสี่ยงที่เกิดขึ้นระหว่างทาง”

ด่านคณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อว่า พ.ร.บ.กู้เงินจะผ่านกระบวนการปรึกษาทางข้อกฎหมาย เรามั่นใจว่าผ่านไปได้เพราะเราเป็นพรรครัฐบาล ถ้ากฎหมายถูกตีตก ตกด้วยผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบก็เป็นเรื่องหนึ่ง

เลขาธิการนายกฯย้ำว่า “ถ้าไม่ให้ทำก็เหมือน พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน โอกาสของประเทศก็หายไป วันหลังอย่ามาโทษกันนะ เราพยายามทำทางออกด้วยความมั่นใจให้ดีที่สุด ไม่ใช่ทางลง”

เลขาธิการนายกฯ 2 สมัย ย้อนให้ฟังว่า “ตอนที่รัฐบาลเพื่อไทย ทำโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้าน คุณก็มาบล็อกอีก ตอนที่ถูกเบรกโครงการไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้วันนี้ รถไฟความเร็วสูงสักรางยังไม่เห็นเลย”

นพ.พรหมินทร์เฉลยว่า เวลาเขาพูดว่า “คุณ” ที่มาบล็อก-มาบีบไม่ให้โครงการลงทุน 2 ล้านล้านเกิด คือ “กลุ่มคนที่ยังมีความคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเคารพกันในสังคม ช่องทางที่ระบบที่มีอยู่บีบให้ผมเหลือช่องแบบนี้ ช่องที่กู้ดีที่สุด ได้ฉันทานุมัติแบบระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้”

เพื่อไทยไม่เอาประชาชนเป็นตัวประกัน

นพ.พรหมินทร์ยืนยันว่า “เรายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทุกอันมีโอกาสที่จะมีอุปสรรค แต่เราได้คิดวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาในทุกระดับ เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ซึ่งเราไม่คิดว่าจะแพ้ สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ดีที่จะให้รับฟังเสียงของประชาชน และให้ประชาชนตัดสิน”

“ผมคิดว่าประชาชนรออยู่ คนที่ไปขัดขวางก็ต้องคิดให้ดีว่า สิ่งที่ประชาชนคาดหวังที่ได้จากการเลือกตั้งจะรู้สึกอย่างไร ไม่ใช่การเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เราเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง อาจจะมีคำถามข้อเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งเราพยายามที่จะแก้และรับฟังความคิดเห็นตลอดทาง”

คำถามที่ดังขึ้นทุกทิศทางที่ว่า ปัญหาของโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เพราะคนไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล หรือคนไม่เชื่อมั่นต่อเพื่อไทย

คำตอบของเลขาธิการนายกฯคือ “เรามั่นใจว่าได้ศึกษาแล้ว และมั่นใจว่าด้วยความเชื่อมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนที่เรายืนหยัดมาโดยตลอด คิดว่าจะฟันฝ่าไปได้ ต้องเชื่อมั่นต่อนโยบายที่ประชาชนเลือกมา กับพรรคการเมืองที่เขาเลือกมา ไม่ใช่เราคิดไม่ครบ ทำไม่ได้ เราคิดครบเท่าที่เราจะมองเห็น แต่พอเข้ามาแล้วต้องเจอปัญหา อุปสรรคเพิ่มขึ้นก็ต้องขจัดปัญหาเหล่านั้น”