
เปิดแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดี กปปส. พ้น สส.ทันทีถ้าติดคุก ไอซ์ รักชนก ลุ้นรอดยาก
วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ภายหลังที่ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีจำคุก น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคก้าวไกล เป็นเวลา 6 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีที่ถูกพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอยื่นประกันตัวอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีการเป็น สส.ของ น.ส.รักชนก สิ้นสุดลงหรือไม่ อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายชุมพล จุลใส ส.ส.เขต 1 จ.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ
นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 1-5 สิ้นสุดลง
เนื่องจากศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล 5 ปี
โดยครั้งนั้น วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวางหลักการพ้นสภาพการเป็น สส.ของ สส.ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกสภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
ซึ่งบัญญัติว่าบุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (4) เป็นบุคคลที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) (4) อนุมาตรา (6) ซึ่งบัญญัติว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และมาตรา 96 บัญญัติว่าผู้มีลักษณะต่อไปนี้ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 มาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ตามมาตรา 101 เนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้าม เพื่อเป็นหลักประกันว่า
“บุคคลนั้นต้องมีความประพฤติและคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับ เชื่อถือของสาธารณชน ปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติ และศักดิ์ศรี ของสภาผู้แทนราษฎร สส.จึงต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มาตรา 96 (2) และมาตรา 98 (6) บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน
ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่ในหมายของศาล โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อน”
ข้อโต้แย้งว่าการที่ศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ไม่ใช่การคุมขังโดยหมายของศาลตามมาตรา 98 (6) นั้น ก็ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โต้แย้งว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ต้องเป็นการถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้นั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ข้อโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติคุ้มครอง ส.ส.ระหว่างสมัยประชุม
การที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาและออกหมายขังระหว่างรออุทธรณ์เป็นการขัดขวาง ส.ส.จะมาประชุมสภานั้น บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครอง ส.ส.ระหว่างพิจารณาคดี แต่ในกรณีการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นจนถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาย่อมไม่อาจอ้างความคุ้มครองได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้น จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หาก น.ส.รักชนกต้องถูกคุมขังโดยหมายของศาล จะต้องพ้นตำแหน่ง สส.กทม.ทันที