“สุดารัตน์” อัพเกรด ส.ส.เมืองหลวง รุกออนไลน์-ออฟไลน์เกาะฐานเสียง

สนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร อาจเป็นสนามการเมืองที่ “ผันผวน” มากที่สุดหากการเลือกตั้งมาถึงเพราะนอกจากกติกา-สูตรการคำนวณพื้นที่เขตเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนไป ทำให้เขตเลือกตั้งใน กทม.ลดลง 3 เก้าอี้ จาก 33 เหลือ 30 ที่นั่งเท่านั้น แทบทุกเขตเลือกตั้งจึงต้องเกลี่ยพื้นที่กันใหม่ทั้งหมด

กว่าเขตเลือกตั้งจะมีความชัดเจน ต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก่อน กกต.จะออกประกาศกำหนดเขตเลือกตั้ง ประกอบกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทำให้นักเลือกตั้งในสนาม กทม.ไม่ว่าเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ซึ่งครองส่วนแบ่งเก้าอี้ในเมืองหลวง ต่างยังไม่รู้ชะตากรรมว่าพื้นที่ฐานเสียงของตนเองจะถูกแบ่ง-ซอย หรือไปรวมกับเขตไหนบ้าง

แถมยังมีความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งคู่ปรับในสนาม กทม.มิได้มีแค่เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ที่ผูกขาดส่วนแบ่ง ส.ส. แต่ยังก่อกำเนิดพรรคใหม่ นโยบายใหม่ อย่าง “อนาคตใหม่” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพวก

เป็นจังหวะเดียวกับที่โหวตเตอร์หน้าใหม่ ที่อายุเกิน 18 ปี ที่ยังไม่เคยผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งถูกเว้นวรรคไปตั้งแต่ปี 2554 เพิ่มขึ้นนับล้านคน

หากนักเลือกตั้งในสนาม กทม.ไม่ปรับตัวอาจถูก disrupt ทำให้กลุ่ม กทม.ของเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ต้องขยับปรับเป้า-ปรับยุทธศาสตร์การแข่งขันใหม่หมด

“สุดารัตน์” เจ้าแม่ กทม.เพื่อไทย เปิดคอนเซ็ปต์ผู้สมัครหน้าใหม่ที่จะมาลงสนาม กทม.ว่า “จบเมืองนอก การศึกษาดี มีจุดยืนประชาธิปไตย” แต่จะไม่รีบ “ชิง” เปิดตัวเหมือนพรรคอื่น เพราะเห็นว่าเป็นแค่กระแสวูบวาบ

“ในสนาม กทม.มีคนใหม่มาร่วมกับเราแต่ยังไม่ได้เปิดเผย เพราะอีกนานกว่าจะถึงเลือกตั้ง ซึ่งกระแสคนรุ่นใหม่ยังเป็นกระแสอยู่ แต่พรรคอื่นทำแล้ว มันก็วูบวาบ แต่สักพักกระแสก็หาย ขณะนี้จึงให้อดีต ส.ส.ที่เป็นคนรุ่นใหม่เปิดตัวก่อน ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ใหม่จริง ๆ จะเปิดตัวอีกลอตหนึ่ง เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่ที่เปิดตัวธนาธร หรือพรรคประชาธิปไตยที่เปิดตัวไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ)”

นอกจากต้องมี “ผู้สมัครหน้าใหม่” ยุทธศาสตร์การชิงคะแนนเสียงก็ต้องเปลี่ยน “สุดารัตน์” กล่าวว่า การเลือกตั้งในสนาม กทม.เป็นสนามของคนมีความรู้ สนามของคนเมือง คนใช้เทคโนโลยี ดังนั้น เทคโนโลยีทำให้การเลือกตั้งและการนำเสนอนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวพันกันง่ายมากขึ้นสำหรับคนที่เป็นนักการเมืองถ้าใช้เทคโนโลยีเป็น”แต่ก่อนถ้าจะฟังความเห็นของชาวบ้าน เราต้องออกไปเจอ ต้องไปนัดประชุม แต่ปัจจุบันสามารถฟังความเห็น และสื่อสารกับโหวตเตอร์ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ ซึ่งรวดเร็วกว่า ต้นทุนถูกกว่า ข้อมูลตรงไปตรงมา ไม่ต้องผ่านหัวคะแนน คนกลาง”

“ในสนาม กทม.การใช้เทคโนโลยีมาทำนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับฐานความรู้ กับตัวประชาชน และค่าใช้จ่ายก็ถูกลง ดังนั้น การให้ประชาชนมาร่วมกันสร้างฝันร่วมกัน นโยบายร่วมกันกับพรรคการเมืองเป็นเรื่องง่ายขึ้น และ ส.ส.กทม.ได้เตรียมทำไว้หมดแล้ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เช่น การใช้บล็อกเชนกับนโยบายสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย”

ขณะที่ขุนพล กทม.อย่าง “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” อดีต ส.ส.กทม.เขตสายไหม ซึ่งเคยเป็น รมว.ไอซีที บอกว่า พรรคเพื่อไทยมีความตื่นตัวเทคโนโลยี ปัจจุบันจึงให้ความสนใจเรื่องการสื่อสารกับประชาชนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ออฟไลน์คือการลงพื้นที่พบกับประชาชน รวมถึงนำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ไปให้ประชาชน แต่ที่เพิ่มเติมคือออนไลน์

ผู้สมัคร กทม.ต้องรู้จักโซเชียลมีเดีย รู้จักการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ เครื่องมือดังกล่าวมีความสำคัญทำให้การทำงานเป็นที่รับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะใน กทม.

“เพื่อไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ไม่น้อย ต้องให้ความสำคัญกับสภาพเศรษฐกิจ หลังรัฐประหารเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร คนชั้นกลางไปจนถึงรากหญ้าย่ำแย่ลง รวมถึงเรื่องสังคม อบายมุข อาชญากรรม ยังเป็นปัญหาใน กทม. ต้องมีการลงไปรับรู้ปัญหาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”

ด้าน “ลีลาวดี วัชโรบล” อดีต ส.ส.กทม.เขตดุสิต-ราชเทวี อันเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง กล่าวถึงการปรับตัวว่า ด้วยวัยและการทำงานอยู่ตรงกลางระหว่าง ส.ส.รุ่นเก่า กับรุ่นใหม่ เราไม่ได้เก่าจนโลว์เทค หรือใหม่จนไฮเทค แต่ก็อยู่ตรงกลาง ระหว่างการทำงานลงพื้นที่แบบรุ่นเก่า และอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายกับประชาชน

สิ่งที่ยากคือต้องไปแนะนำให้ประชาชนเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้ติดต่อประสานงานอย่างไรได้บ้าง

“อย่างไลน์ ในประเทศน่าจะรู้จักกันหมดแล้ว เราต้องเข้าไปแนะนำว่าจะติดต่อช่องทางไหน และแทนที่สมัยก่อนเวลาจะร้องเรียนต้องไปที่สำนักงาน แต่ตอนนี้ไม่ต้อง แค่ถ่ายรูป

เขียนเรื่องโดยพิมพ์สั้น ๆ ส่งไลน์มา เราก็ประสานต่อไปได้ เทคโนโลยีทำให้ใกล้ชิดประชาชนได้มากขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค แต่ปัญหาคือเรายังไม่รู้ว่าจะได้ยืนอยู่ตรงไหน เพราะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ สำนักงานพรรคก็ต้องย้าย การจัดกำลังคนยังไม่รู้ว่าจะเริ่มลงไปตรงไหน จึงทำให้ผู้สมัครทุกพรรคยังกั๊ก ๆ กันอยู่ ยากด้วยกันทุกเขต”


การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำลายทุกสิ่งหากไม่ปรับตัว แม้กระทั่งนักเลือกตั้ง