สุรชาติ : บันทึก 4 ปีรัฐประหาร สืบทอดอำนาจ สู่เผด็จการครึ่งใบ

ระยะทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 เป็นปีที่ 4 แห่งการรัฐประหาร

หากเป็นรัฐบาลพลเรือน อาจกล่าวได้ว่าก้าวเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนสู่โรดแมปเลือกตั้งรัฐนาวา คสช.ที่มีกัปตันชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ฝ่าเกลียวคลื่นการเมืองใน-นอกประเทศ แล่นผ่านความผันผวนทางเศรษฐกิจ

และดูเหมือนว่ารัฐนาวาลำนี้แล่นมาถึง 4 ปีเต็ม ยังไม่มีแนวโน้มทิ้งสมอ-ปลดระวาง แต่จะเดินหน้าต่อผ่านการเลือกตั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กางดัชนีชี้วัดผลงานปัจจุบันของ คสช. และเส้นทางการเมืองต่อไปของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไว้อย่างน่าสนใจ

เสรีภาพหด-ทหารขยายอำนาจ

“สุรชาติ” ตอบคำถามแรกที่ถามว่า การบริหารประเทศของ คสช.ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่า “ไม่สำเร็จ” เพราะ…

“เป็น 4 ปีที่การเมืองไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอน ใครที่เชื่อว่ารัฐประหารจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองต้องคิดใหม่ เพราะรัฐประหารในตัวของมันเองคือความไร้เสถียรภาพทางการเมือง”

“ผลที่ตามหลังการรัฐประหาร มีทั้งปัญหาด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพในการแสดงออกที่เป็นแกนหลักของรัฐเสรีในไทยมันหายไป และกลายเป็นความผิดทางกฎหมายภายใต้กติกาของ คสช.”

“รัฐประหารรอบนี้ รัฐบาลทหารอยู่อย่างยาวนาน ทำให้บทบาทของกองทัพมีสูงกว่าในอดีตหลายครั้ง ผลักดันให้กองทัพมีบทบาททางการเมือง และในสังคมหลายรูปแบบ จนเกิดคำถามว่า กองทัพอยากสร้างทหารอาชีพ หรือจะพัฒนาตัวเองไปสู่ทหารการเมือง เพราะผู้นำทางการเมืองที่มาจากทหารได้เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นนักการเมืองในเครื่องแบบ”

ขณะที่มุมเศรษฐกิจ แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เปิดดีลครึกโครมกับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากจีน อย่าง “อาลีบาบา” และเดินเครื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างเต็มสูบ “สุรชาติ” กลับมองว่า รัฐประหารไม่ใช่ปัจจัยของความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจ

“แม้ว่าเศรษฐกิจอาจเติบโตในบางภาคส่วน แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่ดี เพราะกำลังซื้อของคนตกต่ำ ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในภาวะวิกฤต และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นบ่งบอกสถานะที่เป็นจริงของชีวิตประชาชนในสังคมไทย”

“รัฐบาลทหาร ไม่ใช่ปัจจัยของการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะการลงทุนของต่างประเทศไม่ได้มาพร้อมกับการรัฐประหาร แต่มากับความเชื่อมั่นที่สังคมมีเสถียรภาพและมีเครื่องมือแก้ปัญหาทางการเมืองที่ไม่ใช่การยึดอำนาจ”

เผด็จการครึ่งใบ ล็อกคอการเมือง

“สุรชาติ” วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ คสช.อยู่ได้ยาวถึง 4 ปี ว่า 1.การควบคุมทางสังคมด้วยการออกกฎหมายต่าง ๆ 2.การใช้โฆษณาชวนเชื่อ และ 3.กองทัพยังมีผู้สนับสนุนทางการเมืองที่เป็นชนชั้นกลางสายอนุรักษนิยมยังมีความเข้มแข็งทางการเมือง แม้ว่าจะอ่อนแอลงมากขึ้น

4.การสนับสนุนของทหารต่อรัฐบาลทหาร ทำให้รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจได้นานกว่าที่คิด “รัฐบาลทหารต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปในเวทีการเมืองของไทย ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการครึ่งใบมากกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ สร้างกติกาและเงื่อนไขกฎหมายหลายอย่างเพื่อให้พรรคการเมืองหรือประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร การมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

ถ้าดูจากจำนวนยอดของ ส.ส. 500 เสียง เท่ากับ ส.ว.มีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของ ส.ส. เป็นการออกแบบให้รัฐบาลในอนาคตไม่เข้มแข็ง เว้นแต่จะเป็นรัฐบาลที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจจากฝ่ายทหาร”

“เครื่องมือที่กองทัพใช้ควบคุมทางการเมืองคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้อำนาจของรัฐบาลดำรงอยู่ โดยรัฐบาลในอนาคตไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ได้ ล็อกคอ บังคับให้พรรคการเมืองต้องเดินตามยุทธศาสตร์ที่ทหารกำหนดขึ้น”

“และยังสร้างกลไกรองรับหากการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยตั้งรัฐบาลทหาร ชักจูงอดีต ส.ส.ของพรรคการเมืองอื่น ๆ เข้ามาอยู่ภายใต้พรรคทหารที่เกิดขึ้นในอนาคต ใกล้เคียงกับพรรคสหประชาไทย ในปี 2511 ของจอมพลถนอม กิตติขจร เรากำลังเห็นการเมืองไทยถอยหลังไปเกือบ 50 ปี ความต่างมีอยู่จุดเดียวคือ โลกของสังคมไทยเป็นโลกสมัยใหม่ ในขณะนี้รัฐบาลทหารพยายามพาการเมืองไทยกลับสู่โลกยุคเก่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว”

สุรชาติเมื่อเปรียบเทียบว่าในอดีต ทหารอยู่ยาว 2 ช่วง คือหลังรัฐประหาร 2490 ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม และช่วงที่ 2 คือช่วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถ้าดูสองช่วงเปรียบเทียบกัน เงื่อนไขสังคมเอื้อให้มีรัฐบาลที่อยู่ยาว แต่อยู่ยาวจบลงด้วยรัฐประหาร และอยู่ในสภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ผันผวน

ดังนั้น ถ้า คสช.คิดจะ “อยู่ยาว” อาจไม่ง่ายเหมือน 2 ผู้นำทหาร “จอมพล ป.-พล.อ.เปรม” แม้ว่าจะมีการฟอร์มทีมตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา

“ไม่แน่ใจว่าเมื่อพูดถึงพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคของคุณสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) หรือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่จากปรากฏการณ์การเดินสายหาเสียงในต่างจังหวัด เชื่อว่า หัวหน้าพรรคตัวจริงคือ พล.อ.ประยุทธ์”

“ในยุค พล.อ.เปรม มีเงื่อนไขที่เอื้อให้ทหารอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ ทั้งสงครามอินโดจีน สงครามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ แต่ปัจจุบันไม่มีโจทย์ความมั่นคงชุดใหญ่รองรับ สภาวะอย่างนี้ไม่เป็นจุดขายให้สืบทอดอำนาจ บวกกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในมิติต่าง ๆ ทั้งโลกโซเชียล คนรุ่นใหม่ เชื่ออย่างหนึ่งโดยไม่ต้องทำโพลวัดว่าคนรุ่นใหม่ไม่เอาทหาร เติบโตในโลกที่เป็นเสรีมากขึ้น”

“โอกาสจัดตั้งรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของ คสช.ไม่ใช่เรื่องง่าย จะถูกชี้ขาดจากผลการเลือกตั้ง ถ้ามองย้อนดูผลการเลือกตั้งในอดีต สมมุติพรรครัฐบาลทหารชนะ อาจไม่ชนะขาด จำเป็นต้องพึ่งพา ส.ส. เช่นในยุคจอมพลถนอมพึ่งพา ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรค ซึ่งในบริบทปัจจุบันคือพรรคขนาดเล็ก ถ้าถึงจุดสุดท้ายความพลิกผันอาจพึ่งพรรคใหญ่บางพรรค ทั้งหมดจะตอบได้อย่างเป็นจริงต่อเมื่อเราได้เห็นคะแนนเสียงในการจัดตั้งรัฐบาล”

“แต่จุดจบของพรรคสหประชาไทยคือ ขีดความสามารถของทหารในการคุมนักการเมืองไม่มี และไม่สามารถประสานประโยชน์กับ ส.ส.ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือพรรคแตก สภาแตก เมื่อคุมอะไรไม่ได้เลย ก็หันกลับไปใช้วิธีเก่าที่สุดคือรัฐประหาร”

สภาแตก พรรคทหารล่มสลาย

เช่นเดียวกับในปัจจุบัน หากใช้โมเดลการล่มสลายของ “พรรคสหประชาไทย” มาเทียบกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ในอนาคต “สุรชาติ” เชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะถูกนักการเมือง “ทดสอบ” แม้ว่าจะมีกลไกรัฐธรรมนูญ-กติกาการเมืองที่เข้มแข็งก็ตาม

“ขีดความสามารถในการควบคุมนักการเมืองของผู้นำทหาร จะถูกทดสอบในสถานการณ์ที่เป็นจริง ด้านหนึ่งอาจมองว่าผู้นำทหารออกแบบกฎหมาย ที่นักการเมืองไม่สามารถหนีออกจากพรรคทหารได้ แต่ผมเชื่อว่านักการเมืองไทยเมื่อไปอยู่พรรคทหารมีเวที มีการเล่นอีกแบบหนึ่ง”

“ย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ หลังรัฐประหาร 2500 จอมพลถนอม ในฐานะตัวแทนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คุม ส.ส.ไม่ได้ มาถึงยุคจอมพลถนอม ก็คุมสภาไม่ได้ เชื่อว่า ถ้า พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ระยะยาวกว่าพฤษภาคม 35 ก็จะอยู่ในสภาวะที่เป็นสภาวะเดียวกัน”

“ต้องไม่ลืมว่ามีพรรคฝ่ายค้านในสภาที่เป็นพรรคการเมืองจริง ๆ บทบาทของฝ่ายค้านในช่วงที่พรรคทหารเป็นรัฐบาล จะเป็นความตื่นเต้นของการเมืองไทย”

แพ้เลือกตั้ง จะเป็นรัฐซ้อนรัฐ

สุดท้ายในเกมการเมืองเกมนี้ หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ชนะเลือกตั้ง ก็จะซ้ำรอยจอมพลถนอม ที่คุมนักการเมืองไม่อยู่ แต่หากรัฐบาล คสช.แพ้การเลือกตั้ง “สุรชาติ” ยกตัวอย่างโมเดลการเมืองในเมียนมามาเปรียบเทียบ

“การเลือกตั้งของเมียนมา ท้ายที่สุดรัฐบาลทหารที่เชื่อว่าตัวมีความเข้มแข็ง ควบคุมกติกาและกฎหมาย เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ชนะพรรค NLD ของนางออง ซาน ซู จี”

“ถ้าอยู่ในชะตากรรมพรรครัฐบาลทหารที่เมียนมา ที่จัดตั้งรัฐบาลโดยฝ่ายค้าน จะเห็นการประนีประนอมระหว่างฝ่ายค้านกับกองทัพ จะเห็นท่านเต็ง เส่ง (อดีตประธานาธิบดีเมียนมา) ยุติบทบาททางการเมือง แต่ยังมีกลไกของทหารส่วนหนึ่งที่ซ้อนอยู่กับการเมือง “จะเกิดรัฐซ้อนรัฐ”

“ไม่ว่าโมเดลแบบไหน คสช.ยังมีอำนาจตกค้างอยู่ในสังคม อาจสูงกว่าของกองทัพเมียนมา เพราะรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ส.ว. 250 เสียง ยุทธศาสตร์ชาติ และบทบาท กอ.รมน. แปลว่าอำนาจของ คสช.ยังมีอยู่มากหลังการเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ตาม “สุรชาติ” ปิดท้ายว่า คสช.ควรกลับไปอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ยุคจอมพลถนอม ผลพวงการดึง ส.ส.เข้าไปอยู่กลายเป็นปัญหาของพรรคทหารเองในที่สุด สุดท้ายไม่สามารถควบคุมได้